6 รพ.เตรียมเฮ เพิ่มค่าหัว รักษา 'มนุษย์เงินเดือน'

6 รพ.เตรียมเฮ เพิ่มค่าหัว รักษา 'มนุษย์เงินเดือน'

จากกระแสข่าวการพิจารณาอนุมัติแผนการประเมินค่ารักษาพยาบาลรายหัว สำหรับลูกค้ากลุ่มประกันสังคมที่จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 12 % โดยจะมีการพิจาณาวันที่ 11 ธ.ค. นี้ ส่งผลอย่างไรกับหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลบ้าง !?

ภาวะตลาดหุ้นไทยในปลายปีทำเอานักลงทุนหาโอกาสทำกำไรในหุ้นที่ลงทุนได้ค่อนข้างยากเต็มที เพราะปัจจัยลบมากกว่าปัจจัยบวกจนทำให้ดัชนีหลุด 1,600 จุด และยังมีทีท่าจะปรับตัวลดลงได้ต่อ จนทำให้ราคาหุ้นหลายกลุ่มอัตราราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ลงมาต่ำจนเรียกได้ว่าถูก

หุ้นในกลุ่มที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหลุมหลบภัย อย่าง กลุ่มโรงพยาบาลน่าจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวน้อยที่สุด เพราะเป็นธุรกิจที่ต้องใช้บริการและเป็นปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต เป็นธุรกิจที่เน้นเงินสดส่วนใหญ่  แม้ว่าที่ผ่านมาจะเจอปัจจัยลบจากการควบคุมค่ายาและค่ารักษาพยาบาลแต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานมาก

จากกำไรทั้งกลุ่มจำนวน 21  บริษัท มีกำไรสุทธิไตรมาส 3 ปี 2562 รวมอยู่ที่  7,353.19  ล้านบาท เติบโต 10.14% จากช่วงเดียวกันปีก่อน  ซึ่งได้รับผลดีจากลูกค้าต่างชาติเริ่มกลับมาใช้บริการมากขึ้น บวกกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้ผู้ใช้บริการดีขึ้น  สวนทางกับ P/E ของกลุ่มล่าสุด ลงมาอยู่ทีเฉลี่ย  28 เท่า จากต้นปีอยู่ที่ 34 เท่า  ท่ามกลางสราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงตามภาวะตลาดหุ้นไทยในช่วงทีผ่านมา

157543858024

อย่างไรก็ตามความสามารถในการเติบโตของกลุ่มโรพยาบาลยังมีต่อเนื่อง เพราะล่าสุดยังมีประเด็นที่เข้ามาหนุนจากกระแสข่าว คณะอนุกรรมการแพทย์การพิจารณาอนุมัติแผนการประเมินค่ารักษาพยาบาลรายหัว สำหรับลูกค้ากลุ่มประกันสังคมเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 12 % ซึ่งจะมีการพิจาณาวันที่ 11 ธ.ค. นี้

ประเด็นดังกล่าวทางกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนมีการยื่นขอให้มีการขยับค่ารักษาพยาบาลมาตั้งแต่ปี 2560 จากก่อนหน้านี้ ประกันสังคมพิจารณาปรับเพิ่มวงเงินรักษาพยาบาลเหมาจ่ายเมื่อปี 2557 เฉลี่ย 1,460 บาทต่อคนต่อปี ทำให้ไม่ได้มีการปรับเป็นระยะเวลากว่า 2 ปีครึ่ง

โดยมีการเสนอพิจารณาปรับเงินที่จะจ่ายให้โรงพยาบาลในเครือประกันสังคมในส่วนต่างๆเพิ่มขึ้นอาทิเช่น เหมาจ่ายรายหัว เดิมให้ 1,500 บาทต่อหัวต่อปี ขอปรับเพิ่มอีก 10% และ 26 โรคเรื้อรัง เดิมให้ 447 บาทต่อหัวต่อปี, ค่าเฉลี่ยของการใช้ทรัพยากรในการรักษาผู้ป่วย เป็นต้น

จากประเด็นดังกล่าวเมื่อไล่ดูพอร์ตรายได้ของโรงพยาบาลที่มีรายได้จากกลุ่มลูกค้าประกันสังคม พบว่ามีทั้งหมด 6 โรงพยาบาล  ซึ่งรายใหญ่สุดหนีไม่พ้น บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล  จำกัด (มหาชน) หรือ BCH  จุดเด่นคือการเพิ่มจำนวนเตียงจากการเปิด 2 โรงพยาบาลใหม่ และยังเพิ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางเพือรองรับกลุ่มลูกค้าต่างชาติ  ทำให้มีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มฐานลูกค้าทั้งกลุ่มผู้ป่วยเงินสดและกลุ่มประกันสังคมมากขึ้น จากความสามารถในการส่งต่อผู้ป่วยทำให้ประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale)

บริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์  จำกัด (มหาชน) หรือ CHG   ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเน้นตลาดภาคตะวันออกถือว่าเป็นกลุ่มลูกค้าภาคอุตสาหกรรมมาใช้บริการ ซึ่งในปี 2563 มีการเพิ่มเติมอีก 2 โรงพยาบาล บวกกับโรงพยาบาลเดิมเริ่มรับรู้ขาดทุนน้อยลงจึงทำให้มีผลดีต่อผลการดำเนินงาน

นอกจากนี้กลุ่ม บริษัท โรงพยาบาล วิภาวดี จำกัด (มหาชน) หรือ VIBHA  เนื่องจากมีพอร์ตลูกค้าประกันสังคมประมาณ  16 % ของรายได้และยังถือลงทุนใน บริษัทเชียงใหม่รามธุรกิจการแพทย์ จำกัด (มหาชน) หรือ CMR ในสัดส่วน  83.55 % ซึ่ง CMR มีพอร์ตลูกค้าประกันสังคมสูงถึง  25 % ของรายได้รวม   ปี 2562  บริษัทได้มีการเปิดพื้นที่เชิงพาณิชย์ และพลาซ่า ในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงพยาบาลวิภาวดี ทำให้ในปี 2563  จะไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อีก

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) วิเคราะห์กลุ่มการแพทย์เข้าสู่ช่วง ไฮซีซั่นของการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 4 ปี2562 ถึงไตรมาส 1 ปี 2563 พร้อมมองกลุ่มที่อยู่ในกระแสเก็งกำไร คือ หุ้นโรงพยาบาลในประเทศที่รับผู้ป่วยประกันสังคม จากประเด็นที่สำนักงานประกันสังคมจะมีการพิจารณาปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายรายหัวผู้ป่วยประกันสังคมขึ้นในวันที่ 11 ธ.ค.ซึ่งจะส่งผลดีและเป็นอัพไซต์ต่อผลการดำเนินงานของ BCH และCHG มากที่สุด

บล.คิงส์ฟอร์ด แนะเก็งกำไร  CHG   ปีหน้าลุ้นการปรับขึ้นค่าหัวของประกันสังคมของคนไข้ และจำนวนโควต้าประกันสังคมที่จะเพิ่มขึ้นสำหรับประมาณการผลการดำเนินงานในปี 2562-2563 ประเมินกำไรไว้ที่ระดับ 723 ล้านบาท และ 823 ล้านบาท ตามลำดับขยายตัว 14% และ 13% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ