'ฟิลิปปินส์-มาเลย์-อินโดฯ' ชิงเค้กธุรกิจอากาศยาน

'ฟิลิปปินส์-มาเลย์-อินโดฯ' ชิงเค้กธุรกิจอากาศยาน

ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย แข่งชิงส่วนแบ่งตลาดในอุตสาหกรรมด้านอากาศยานโลก หนุนผู้ประกอบการทุนหนาโดดร่วมทุน หวังเป็นแหล่งสร้างรายได้ใหม่ของประเทศ ท่ามกลางภาวะขาลงของเศรษฐกิจโลกโดยรวมที่ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงิน-การคลังของประเทศ

เริ่มจากฟิลิปปินส์ ที่ “โฮเซ่ มาร์ซิอาโน” หัวหน้าโครงการอวกาศของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฟิลิปปินส์ ให้สัมภาษณ์กับนิกเคอิ เอเชียน รีวิวว่า จะไม่ยอมพลาดรถไฟขบวนนี้อย่างเด็ดขาด

ทุกวันนี้ ฟิลิปปินส์ มีดาวเทียม3 ดวงอยู่ในวงโคจร ภายใต้ร่วมมือของรัฐบาลกับกลุ่มมหาวิทยาลัยญี่ปุ่น พร้อมทั้งตั้งเป้าที่จะส่งดาวเทียมขึ้นไปอยู่ในวงโคจรอีก 4 หรือ 5 ดวงในระยะ2-3ปีข้างหน้า ตามนโยบายพัฒนาด้านเทคโนโลยีของประเทศ หลังจากประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ ได้ลงนามรับรองกฏหมายตั้งสำนักงานด้านอวกาศเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อตั้งรับสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปและความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์

“ตอนนี้อุตสาหกรรมอากาศยานหรืออวกาศมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่ง” มาร์ซิอาโน ซึ่งเข้าร่วมประชุมประจำปีด้านอวกาศของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่นาโงยา ระหว่างวันที่ 26-29 พ.ย.ที่ผ่านมา กล่าว

ไม่ได้มีแค่ฟิลิปปินส์เท่านั้นที่ตระหนักถึงความสำคัญของผลประโยชน์อันมหาศาลที่จะได้จากอุตสาหกรรมนี้ ไล่ตั้งแต่ การปล่อยจรวด และดาวเทียมที่มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนธุรกิจการบริการ ซึ่งเริ่มมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา และขณะนี้ทั้งจีน เกาหลีใต้ อินเดีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ต่างหาทางที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดใหม่นี้กันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

แต่โครงการอวกาศส่วนใหญ่ในเอเชีย ยังคงมีรัฐบาลเป็นแกนนำ เช่นในญี่ปุ่น ที่ 90% ของฮาร์ดแวร์ที่สั่งซื้อเพื่อนำมาใช้ในโครงการอวกาศเป็นการสั่งซื้อจากรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลโตเกียว พยายามกระตุ้นให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมให้ได้ประมาณ 50% เหมือนกับในสหรัฐและยุโรป

การประชุมประจำปีนาน 4 วัน ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 26 แล้วในปีนี้ ยังคงไม่ใช่การประชุมทางธุรกิจเป็นหลักเหมือนการประชุมที่จัดในสหรัฐการนำเสนอเนื้อหาบนเวทีหรือแม้แต่บูธของบริษัทต่างๆ รวมทั้งการหยิบยกประเด็นขึ้นมาพูดคุยกันบนเวทีต่างๆ ล้วนบ่งชี้ว่าโอกาสทางธุรกิจด้านอวกาศและการบินอยู่ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งการกระโจนเข้าสู่ธุรกิจนี้ สะท้อนถึงอำนาจทางเศรษฐกิจของเอเชียที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังตอกย้ำถึงการแข่งขันด้านภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคที่รุนแรงขึ้น

“คุณต้องรู้ว่าประเทศคุณมีจุดแข็งตรงไหน และเราต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรับโอกาสทางธุรกิจที่จะมาจากจุดแข็งนี้”มาร์ซิอาโน กล่าว

ฟิลิปปินส์ เป็นที่ตั้งของบริษัทอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ๆ อาทิ อินทิเกรเทด ไมโคร--อิเล็กทรอนิกส์ แอนด์ ไอออนนิกส์ อีเอ็มเอส ทั้งยังได้รับการขนานนามว่าศูนย์กลางคอลเซ็นเตอร์ แต่สถานะนี้กำลังถูกคุกคามจากการเข้ามาของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และหุ่นยนต์ ที่เข้ามาแทนที่พนักงานที่ทำงานภายในคอลเซ็นเตอร์ ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจด้านอากาศยานจึงเป็นแหล่งรายได้ที่น่าจะเข้ามาชดเชยในส่วนนี้ได้

157533602798

ในจีน มีบริษัทเอกชนในธุรกิจด้านอวกาศจำนวนกว่า 200 แห่งและรัฐบาลปักกิ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีล้ำยุค จึงให้การสนับสนุนเอกชนที่เน้นลงทุนด้านนี้อย่างเต็มที่ ส่วนในเกาหลีใต้ รัฐบาลโซล ประกาศนโยบายสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีในอวกาศ อนุญาติให้บริษัทเอกชน อาทิ โคเรียน แอโรสเปซ อินดัสตรีส์ มีส่วนร่วมในการผลิตจรวดและดาวเทียม ซึ่งปัจจุบันมาเลเซียเป็นเจ้าตลาดอยู่

“มาเลเซียต้องการเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมอวกาศภายในปี2573 การพัฒนาดาวเทียมด้านการบริการจะส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก และรัฐบาลไม่สามารถทำโครงการพวกนี้ตามลำพังได้ เนื่องจากธุรกิจนี้มีต้นทุนสูง จึงเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาได้อย่างเต็มที่ ”อัซลิกามิล นาปิอาห์ ผู้อำนวยการสำนักงานอวกาศมาเลเซีย กล่าว

ขณะที่ รัฐบาลอินโดนีเซีย ต้องการให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตจรวดและดาวเทียมด้วยเช่นกัน ถือเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาลที่กำลังเผชิญหน้ากับภาวะตึงตัวด้านงบประมาณ และด้วยความที่อินโดนีเซียมีเกาะจำนวนกว่า 17,000 แห่ง จึงจำเป็นต้องใช้ดาวเทียมจำนวนมากมาทำหน้าที่สอดส่องความเคลื่อนไหวพื้นที่ชายแดนทางทะเล หรือทางน้ำ ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ และแกะรอยเครื่องบินที่บินข้ามไปมาตามเกาะต่างๆทั่วประเทศที่เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่

ด้านสถาบันการบินและอวกาศแห่งชาติอินโดนีเซีย (ลาปัน) เตรียมสร้างศูนย์อวกาศบริเวณชายฝั่งตอนเหนือเกาะปาปัวนิวกินีทางด้านทิศตะวันออกของประเทศ โดยศูนย์อวกาศแห่งนี้มีขีดความสามารถในการพัฒนาจรวดและฐานปล่อยจรวดขนส่งอวกาศขึ้นสู่วงโคจรของโลก การทดสอบจรวดครั้งแรกจะมีขึ้นในปี 2567

โครงการศูนย์อวกาศของประเทศอินโดนีเซีย เริ่มต้นในช่วงปี 2556 และได้เลือกพื้นที่ 3 แห่งสำหรับศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างศูนย์อวกาศ พื้นที่แรกคือ บริเวณเกาะมาลูกูทางด้านตะวันออกของประเทศ พื้นที่บริเวณเกาะอิงกาโนทางด้านตะวันตกของประเทศ และบริเวณชายฝั่งตอนเหนือบนเกาะปาปัวนิวกินี

ในปี 2561 ลาปัน เลือกบริเวณชายฝั่งตอนเหนือบนเกาะปาปัวนิวกินีสร้างศูนย์อวกาศ เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้ห่างไกลจากพื้นที่อยู่อาศัยและมีตำแหน่งที่ตั้งใกล้กับเส้นศูนย์สูตรที่พาดผ่านประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งทำให้การปล่อยจรวดขนส่งอวกาศทำได้ง่ายมากขึ้น

157533604418

อินโดนีเซีย มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลอินโดนีเซีย ได้ก่อตั้งลาปันในปี 2506 ทำหน้าที่วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ดาวเทียม รวมไปถึงเทคโนโลยีจรวดขนส่งอวกาศ สำนักงานใหญ่ของลาปันตั้งอยู่ในกรุงจาการ์ตา ประกอบด้วยวิศวกรรวมไปถึงเจ้าหน้าที่กว่า 1,000 คน ซึ่งในอนาคตกลุ่มประเทศอาเซียน อาจมีโครงการอวกาศแบบนี้มากกว่านี้