'สุริยะ' ลุย เลื่อนแบน 3 สาร ไม่หวั่นโดนฟ้อง

'สุริยะ' ลุย เลื่อนแบน 3 สาร ไม่หวั่นโดนฟ้อง

“สุริยะ” เผยประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายอีกครั้งภายใน ธ.ค.นี้ เพื่อรับรองมติฯ มั่นใจไม่มีการเปลี่ยนแปลง

มติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ให้เลื่อนการห้ามใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส 6 เดือน เป็นวันที่ 1 มิ.ย.2563 และให้จำกัดการใช้ไกลโฟเซต ยังคงเป็นประเด็นที่สังคมจับตามอง เนื่องจากเกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเกษตรและธุรกิจเกี่ยวเนื่องมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท โดยมีความเคลื่อนไหวทั้งฝ่ายสนับสนุนให้มีการเลื่อนแบนและฝ่ายที่ต่อต้านการเลื่อนแบน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย เปิดเผยภายหลังการเข้าพบของสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ว่า กลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์เห็นด้วยกับมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่มีมติให้ยืดเวลาการยกเลิกการใช้สารพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ออกไป 6 เดือน และ จำกัดการใช้สารไกลโฟเสต เพื่อไม่ให้กระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์และการบริโภคเนื้อสัตว์ในประเทศ ซึ่งยืนยันว่า คณะกรรมการฯ ได้ตัดสินอย่างรอบคอบบนพื้นฐานข้อมูลที่รอบด้าน

ปัจจุบันทั่วโลกยังมีประเทศที่ใช้สารไกลโฟเสตอยู่ถึง 161 ประเทศ โดยเฉพาะประเทศยักษ์ใหญ่ที่ผลิตถั่วเหลือ ได้แก่ สหรัฐ และบราซิล และอาเจนตินา ที่ไทยนำเข้าถั่วเหลืองหากไทยยกเลิกสารไกรโฟเสต ก็จะทำให้ไม่สามารถนำเข้าได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ที่ใช้วัตถุดิบหลักจากถั่วเหลือง รวมทั้งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมการผลิตเนื่องสัตว์ของไทยทั้งเนื้อไก่ เนื้อหมู ภายในประเทศ ซึ่งหากยกเลิกการใช้ไกลโฟเสต ก็จะกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารของไทยอย่างกว้างขวาง

ส่วนกรณีที่เครือข่ายที่สนับสนุนการยกเลิก 3 สารพิษ จะยื่นฟ้องศาล นายสุริยะในฐานะประธานคณะกรรมการฯ เพราะมติของคณะกรรมการฯขัดแย้งกับข้อวินิจฉัยขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง หรือ IARC ขององค์การอนามัยโลก ที่ระบุว่าสารไกลโฟเสต ก่อให้เกิดอันตราย นายสุริยะ ได้ยืนยันว่าพร้อมจะรับฟังทุกฝ่าย และหากขัดแย้งจริงก็เท่ากับว่า 161 ประเทศ ที่ยังใช้ไกรโฟเสตก็ทำผิดองค์การอนามัยโลกเช่นกัน ซึ่งตามมติคณะกรรมการฯที่ผ่านมา ได้ดำเนินการรูปของมติคณะกรรมการฯเสียงส่วนใหญ่ก็ออกมาในรูปแบบดังกล่าว และถูกต้องตามกฎหมาย

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ คำนึงถึงผลประโยชน์ ผลดี และผลเสียที่เกิดขึ้น ซึ่งพบว่าหากยกเลิกทั้ง 3 สาร จะเกิดผลกระทบมากกว่า ซึ่งในทุกๆเรื่องจะมีทั้งผลดีและผลเสีย เช่น ทุกฝ่ายยอมรับว่ารถยนต์ก่อให้เกิดไอเสียที่อาจก่อมะเร็งได้ แต่ทุกวันนี้ทุกประเทศก็ยังใช้รถยนต์ เพราะมีประโยชน์มากกว่า

“แม้จะมีคณะกรรมการฯบางท่านที่ออกไปแสดงความเห็นภายนอก ซึ่งตนก็จะเคารพสิทธิ์ของคณะกรรมการทุกท่าน ซึ่งในที่ประชุมฯกรรมการต่างมีข้อเสนอที่หลากหลาย บางท่านได้เสนอให้ยืดเวลาการแบนออกไป 1 ปี บางท่านเสนอให้แบน 6 เดือน บางท่านก็ 3 เดือน และบางท่านก็ขอให้กำหนดเพียงการจำกัดการใช้ ดังนั้นจึงให้คณะกรรมการร่วมกันร่างมติออกมาเพื่อให้เป็นที่พอใจกับทุกฝ่าย ซึ่งหลังจากร่างมติแล้วก็เอาขึ้นหน้าจอให้กรรมการพิจารณาฯ ซึ่งทุกท่านก็เห็นด้วย”

โดยหลังจากนี้ ประชุมคณะกรรมการฯอีกครั้งภายในเดือนธ.ค.นี้ เพื่อให้คณะกรรมการฯลงนามรับรองมติฯที่ได้ออกมาแล้ว และจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงมติฯ เพราะได้พิจารณาอย่างรอบคอบและรอบด้านแล้ว

  • ชี้อุตฯอาหารสัตว์กระทบหนัก

นายสืบวงศ์ สุขะมงคล นายกสมาคมส่งเสริมผู้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศที่ปลูกถั่วเหลือง 95% ยังใช้ไกรโฟเสต โดยเฉพาะสหรัฐที่ไทยนำเข้าถั่วเหลือง 2.5 ล้านตันต่อปี บราซิล 2.5 ล้านตันต่อปี และอาร์เจนตินา 1 ล้านตันต่อปี รวมแล้วต้องนำเข้าสูงถึง 6 ล้านตัน ขณะที่ไทยผลิตได้เพียงปีละ 50,000 ตันต่อปี ซึ่งหากยกเลิกการใช้สารไกรโฟเสตจะกระทบอุตสาหกรรมอาหารสัตว์มาก

ส่วนการยกเลิกการใช้สารพาราควอตและสารคลอร์ไพริฟอส จะกระทบการปลูกอ้อย มันสำปะหลังและข้าวโพด ซึ่งข้าวโพดจะกระทบต่อเนื่องถึงอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เพราะเป็นวัตถุดิบที่ต้องการใช้ปีละ 4 ล้านตัน แต่ผลิตภายในประเทศได้ใกล้เคียงกับความต้องการใช้

157530597289

คลิกอ่านข่าวเพิ่มเติม :  “สุริยะ” เผยเบื้องหลัง เลื่อนแบน 3 สารเคมี

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการไบโอไทย กล่าวว่า เครือข่ายฯมีข้อเสนอ ประกอบด้วย 1. ยืนยันให้ทุกฝ่ายเคารพมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2562 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมต้องดำเนินการตามขั้นตอนในการออกประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้การแบนพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซตมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายโดยเร็ว 

2. เครือข่ายฯขอประกาศจะดำเนินการฟ้องศาลปกครอง และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบต่อนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ดำเนินการประชุมเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2562 โดยมิชอบ ซึ่งจะดำเนินการทันทีหากไม่มีหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการวัตถุอันตรายยื่นตีความว่ามติดังกล่าวมีผลหรือไม่ และหากศาลพิจารณาว่าดำเนินการประชุมโดยมิชอบ ก็จะทำให้มติในวันนั้นไม่มีผลบังคับ