'คุ้กกี้แมลงโปรตีนสูง' เทรนด์อาหารโลกยุคใหม่

'คุ้กกี้แมลงโปรตีนสูง' เทรนด์อาหารโลกยุคใหม่

Manna Foods สตาร์ทอัพจากสหรัฐโชว์ “คุกกี้โปรตีนสูงจากแมลง”สกัดโปรตีนจากด้วงดําเดินหน้าเข้าหาขุมทรัพย์วัตถุดิบในไทย เปิดไอเดียนําสาธารณชนเข้าสู่โลกของการกินแมลงระบุกุญแจสําคัญรักษาความมั่นคงทางอาหารและเป็นพลังงานทางเลือกปล่อยกากของเสียน้อยอย่างชาญฉลาด

ลูคัส ไรท์ ผู้ร่วมก่อตั้งแมนนาพูดส์ให้ความสนใจในเรื่องของแมลงและทําฟาร์มแมลงเกือบ 2 ปี ด้วยความชื่นชอบประกอบกับมองเห็นโอกาสต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ จึงได้เริ่มต้นเข้าสู่วงการสตาร์ทอัพและพัฒนาสูตรคุ้กกี้ที่ใช้วัตถุดิบจากแมลงร่วมกับ Wyatt Fouch และ Levi Fox เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

“หนอนด้วง โปรตีนแห่งอนาคต"

แมนนาฟู้ดส์ ได้เริ่มค้นคว้าประโยชน์จากด้วงดําหรือด้วงขี้ไก่ (Darkling beetle) พบว่าแมลงเหล่านี้เป็นแหล่งโปรตีนที่ยั่งยืน เมื่อเทียบกับจิ้งหรีดพบว่ายั่งยืนกว่า 8-10 เท่า ทั้งในแง่ของการใช้พื้นที่เพาะเลี้ยงน้อยกว่า ตลอดจนพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเลี้ยงในปริมาณมากและใช้เครื่องจักรเก็บเกี่ยวน้อย

“หลายปีที่ผ่านมาได้ทําการวิจัยพัฒนา และทดสอบผลิตภัณฑ์ทําให้รู้ว่ายังสามารถดึงประสิทธิภาพโปรตีนจากแมลงได้อีกมาก โดยแมลงให้โปรตีนได้สูง 50-60% ขณะที่เนื้อสัตว์อื่นๆให้โปรตีนที่ 30-40% เท่านั้น อีกทั้งจากการทดลองเบื้องต้นพบว่า "ด้วงดํา" มีรสชาติแตกต่างจากจิ้งหรีดโดยมีความมันคล้ายถั่วจึงสามารถประยุกต์ใช้ได้ในอุตสาหกรรมอาหารหลากหลายรูปแบบ

ไรท์กล่าวถึงการย้ายฐานการผลิตมาอยู่ที่ประเทศไทย เนื่องจากมีด้วงดําหรือด้วงขี้ไก่ที่เป็นศัตรูตัวสําคัญในฟาร์มไก่จํานวนมหาศาล และเป็นตัวกลางให้หนอนพยาธิบางชนิดอาศัยด้วย นอกจากนี้ยังสามารถทําลายสิ่งของและโครงสร้างที่เป็นไม้ หรือ ฉนวนต่างๆ ในพื้นที่เลี้ยงสัตว์

157529600994


ด้วงดํา
เป็นแมลงปีกแข็งที่สามารถมีอายุอยู่ได้มากกว่า 12 เดือนมีการเจริญเติบโตแบบสมบูรณ์ คือมีระยะไข่ หนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย เพศเมียสามารถวางไข่ได้มากกว่า 2 พันฟองตลอดอายุขัย โดยจะวางไข่ทุกๆ 2-3 วันไข่มักถูกวางไว้ในมูลสัตว์พื้นที่เก็บธัญพืชหรือตามวัสดุรองพื้นโรงเรือน ตัวอ่อน จะฟักจากไข่ภายในหนึ่งสัปดาห์และใช้เวลาประมาณ 40-100 วันในการพัฒนาเป็นตัวเต็มวัยและสามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ทรัพยากรเหล่านี้จึงเป็นขุมทรัพย์สําคัญของการพัฒนาโปรดักท์แมนนาฟู้ดส์

ไรท์ กล่าวเสริมว่าการสังเคราะห์นำโปรตีนออกมาจากด้วงดํานั้นจะเริ่มต้นในช่วงที่ด้วงเป็นตัวอ่อนจําพวกหนอน ซึ่งจะมีกรดอะมิโนที่มีคุณค่าทางอาหารสูง และนํามาสกัดให้อยู่ในรูปแบบผงหรือแป้งนํามาประกอบเป็นส่วนผสมของคุ้กกี้โดยเปลี่ยนแปลงสูตรเล็กน้อยด้วยการเติมกลิ่นมินท์และรสหวานจากช็อกโกแลตเพื่อเพิ่มรสชาติในการรับประทาน

ปัจจุบันนี้อุตสาหกรรมการแปรรูปโดยชีววิทยาสังเคราะห์นั้นทําการผลิตเนื้อจากพืชเติบโตขึ้นมาก นับเป็นหนึ่งในช่องทางที่จะใช้โปรตีนแมลงเป็นส่วนประกอบ ซึ่งอุตสาหกรรมนั้นต้องการโปรตีนพืชอย่างต่อเนื่องแมนนาฟู้ดส์สามารถตอบโจทย์นั้นได้ อีกทั้งโฟกัสที่ส่วนประกอบของโปรตีนและต้องการที่จะทํางานกับบริษัทที่ต้องการโปรตีนที่มีคุณภาพสูงและตอบโจทย์ความยั่งยืน

157529603638

ตลาดแมลงกินได้ 400 ล้านดอลลาร์

เขาคาดหวังว่าโปรตีนจากแมลงจะถูกใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ อีกทั้งความต้องการโปรตีนจากแมลงนั้นจะเพิ่มสูงขึ้น และอาจจะดีกว่าในแง่ของโปรตีนที่มีคุณภาพด้วยต้นทุนที่ต่ํา ซึ่งทั้งหมดนี้ไรท์มองว่า ตลาดโปรตีนแมลงยังอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่ในตลาดต่างประเทศได้เปิดกว้างและเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคเป็นส่วนใหญ่ ในสหรัฐคาดว่ามูลค่าทางการตลาดมีกว่า 20 ล้านดอลลาร์ อีกทั้งธุรกิจแมลงนับเฉพาะแมลงที่คนกินได้ทั่วโลกมีมูลค่าถึง 400 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 12,800 ล้านบาท โดยเอเชียเป็นตลาดหลักมีสัดส่วนประมาณ 30-40% ของทั้งโลก

ต้นกําเนิดของ Manna อยู่ใน Palmer Alaska ซึ่งเป็นชุมชนกสิกรรมเล็กๆจุดหมายไม่ใช่เพื่อเป็นเพียงฟาร์มผลิตโปรตีนที่ดีที่สุดในโลกแต่ยังเป็นทางออกของปัญหาสิ่งแวดล้อม การที่เราเข้าร่วมโครงการสเปซ-เอฟ โปรแกรมพัฒนาศักยภาพฟู้ดเทคแห่งแรกของไทย โดยไทยยูเนี่ยนและหน่วยงานต่างๆ ได้ดูแลเป็นอย่างดี ดูว่าเราต้องการอะไรและช่วยเหลือได้ตรงจุดในทุกๆเรื่อง

"สเปซเอฟมีความเชี่ยวชาญที่หลากหลายให้ได้เรียนรู้ และยังมีโปรแกรมการอบรมที่เพิ่มทักษะด้านการต่อยอดทางธุรกิจ พร้อมเครื่องมือและมุมมองของวิชาการทําให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถก้าวสู่โลกของสตาร์ทอัพในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อต่อยอดสู่การผลิตโปรตีนจากแมลงซึ่งจะนําไปสู่โปรดักท์ที่สร้างประโยชน์ได้อย่างมหาศาลในตลาดโลก" ลูคัส ไรท์ กล่าวทิ้งท้าย