เปิดบันทึกลับ 4 ชั่วโมง เคาะเลื่อนแบน 3 สาร

เปิดบันทึกลับ 4 ชั่วโมง  เคาะเลื่อนแบน 3 สาร

การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ประชุม 4 ชั่วโมง มีการแสดงความเห็นหลากหลาย ก่อนเลื่อนการห้ามใช้สารเคมีเกษตรไป 6 เดือน

การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ใช้เวลารวม 4 ชั่วโมง ก่อนจะมีมติออกมาให้ออกประกาศกําหนดวัตถุอันตรายพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2563 สําหรับวัตถุอันตรายไกลโฟเซตให้ใช้มาตรการจํากัด

ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายดังกล่าวมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมตามโครงสร้างใหม่ ซึ่งมีการพิจารณาการควบคุมสารเคมีเกษตร 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอสและไกรโฟเซต ที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายตามโครงสร้างเดิมมีมติเมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา ให้ยกเลิกการใช้

การประชุมครั้งล่าสุดมีกรรมการเข้าร่วม 24 คน จากกรรมการทั้งหมด 29 คน โดยผู้ที่ไม่เข้าประชุม 5 คน เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน และผู้แทนจากหน่วยงาน 2 คน ได้แก่ ผู้แทนจากกระทรวงกลาโหม และผู้แทนจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ส่วนผู้ที่ลาการประชุม คือ นายเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร แต่มอบผู้แทนมาประชุม

ประธานได้ให้กรรมการแต่ละคนแสดงความเห็นประกอบข้อเสนอกรมวิชาการเกษตรที่ขอให้เลื่อนการห้ามใช้สารเคมีเกษตรออกไป ซึ่งผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เห็นว่าควรเลื่อนไปเพราะกระบวนการไม่ทันวันที่ 1 ธ.ค.2562 หลังจากกรมวิชาการเกษตรต้องดำเนินการ 3 เรื่อง คือ 1.การยกร่างประกาศ 2.การรับฟังความคิดเห็นประกาศ 3.การจัดการสารเคมีในสต๊อกกว่า 30,000 ตัน

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้าร่วมประชุมเสนอให้มติการยกเลิกใช้สารเคมียังคงอยู่ แต่ต้องการให้กระทรวงเกษตรฯ เสนอแผนดำเนินการหลังการยกเลิกใช้สารเคมีให้ชัดเจน ซึ่งผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขเห็นด้วยที่ต้องกําหนดเวลาที่แน่นอน 

รวมทั้งมีการรายงานข้อมูลการประเมินความเสี่ยงในสหรัฐที่มีต่อสุขภาพและความเสี่ยงอันตรายจากการเป็นสารก่อมะเร็ง จึงต้องการให้กรมวิชาการเกษตรไปศึกษาเรื่องสารทดแทนและนํามาเสนอในการประชุมครั้งต่อไป และมีการหารือถึงการจำกัดการใช้ในพืช 6 ชนิด ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ออกประกาศมาเพื่อควบคุมอยู่แล้ว โดยกรมวิชาการเกษตรขอใช้มาตรการจํากัดการใช้ในระยะเวลา 2 ปี จะติดตามและรายงานผลให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายรับทราบ

ทั้งนี้ หากระยะเวลา 2 ปี การจํากัดการใช้แล้วไม่ได้ผลจึงมาดูในเรื่องของการยกเลิกการใช้ ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานที่กํากับดูแลก็ดําเนินการอยู่ แต่เมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา มีมติให้ยกเลิกการใช้ ในขณะที่เพิ่งจะมีมาตรการจํากัดการใช้ได้ 2 วัน

ในขณะที่มีการแสดงความเห็นถึงกรณียังไม่มีมาตรการรองรับออกมา จึงเป็นเหตุผลที่ต้องเลื่อนเพราะจะเกิดผลกระทบ โดยผู้แทนกระทรวงเกษตรฯ ได้ชี้แจงถึงระยะเวลาในการเตรียมความพร้อมที่อาจอยู่ที่ 2 ปี เพื่อวางแนวทางสารทดแทนและทดสอบระบบที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารทดแทน ในขณะที่มีบางความเห็นได้แสดงเห็นเกี่ยวกับการที่กรมวิชาการเกษตรห้ามนำเข้าเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่จะให้เลิกใช้สารเคมี แต่สารเคมีที่มีในระบบ 30,000 ตัน จะต้องใช้เวลาในการจัดการ

กรมวิชาการเกษตรการได้รายงานการใช้สารเคมีในแต่ละประเทศ โดยสารไกลโฟเซทห้ามใช้ 9 ประเทศอนุญาตให้ใช้ 161 ประเทศ ส่วนสารพาราควอตห้ามใช้ 53 ประเทศอนุญาตให้ใช้ 80 ประเทศ และปัจจุบันมีปริมาณสต๊อกสารเคมี 3 ชนิด แบ่งเป็นร้านค้า 23,000 ตัน เกษตรกร 8,000 ตัน ค่าใช้จ่ายในการทำลายตันละ 100,000 บาท

ความเห็นในที่ประชุมต้องการให้มีมติที่ชัดเจนออกมา เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรมมีความชัดเจน รวมทั้งมีข้อเสนอให้กระทรวงเกษตรฯ ควรกําหนดนโยบายให้ชัดว่าการทำเกษตรของประเทศจะเน้นใช้สารเคมีหรือเกษตรอินทรีย์

เมื่อที่ประชุมเห็นความไม่พร้อมที่จะห้ามใช้สารเคมี 3 ชนิดในวันที่ 1 ธ.ค.2562 ได้มีการแสดงความเห็นเพื่อเลื่อนการการบังคับใช้ออกไป โดยข้อเสนอให้เลื่อน 3 เดือน ขึ้นไป แต่มีการแย้งว่าข้อเสนอนี้ไม่น่าจะเตรียมการได้ทัน เพราะต้องมีขั้นตอนการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ การกำหนดสารชีวภัณฑ์ที่จะมาใช้ทดแทน รวมทั้งมีข้อเสนอให้ยกเลิกใช้สารเคมีเกษตรทั้ง 3 ชนิด ควบคู่กับกลูโฟสิเนตหรือสารเคมีทดแทนอื่นที่อันตรายมากกว่าเพื่อความเท่าเทียม

ส่วนบางความเห็นเสนอให้เลื่อนการห้ามพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสออกไป 6 เดือน น่าจะเป็นเวลาที่สมเหตุผล ในขณะที่ไกลโฟเซตได้ทบทวนแล้วและเห็นว่าไม่สมควรประกาศเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 จึงให้ยังคงใช้มาตรการจํากัดการใช้

โดยการเลื่อนควรมีกรอบเวลาและต้องดูให้ครบทุกมิติทั้งเรื่องสุขภาพและเรื่องอื่นในผลดีและผลเสีย แต่ถ้ามีความเห็นไม่ตรงกันก็อาจต้องโหวตแบบเปิดเผย

เมื่อมีการแสดงความเห็นพอสมควรแล้วได้มีการเขียนร่างมติขึ้นจอเพื่อให้ชัดเจน ซึ่งผู้แทนกระทรวงเกษตรฯ ได้ขอเลื่อนการทบทวนจาก 2 ปี เหลือ 1 ปี เพราะมีผลกระทบต่อเกษตรกร และรัฐต้องใช้เงินเป็นจํานวนมากใน การแก้ปัญหา และยังมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรม ในขณะที่ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ต้องการให้คงมติการยกเลิกใช้สารเคมีเกษตร และให้กระทรวงเกษตรฯ กำหนดเวลาในการบริหารจัดการ รวมทั้งมีการชี้แจงถึงคําตัดสินของศาลสหรัฐอเมริกาที่ให้ชดใช้ให้ผู้ป่วยมะเร็ง

รวมทั้งมีการแสดงความเห็นของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหลายคนที่ขอให้ฝ่ายเลขานุการบันทึกความเห็นไว้ เช่น กรณีหาสารทดแทนไม่ได้ การคงมติยกเลิกใช้สารแต่ให้มีประกาศบังคับใช้ในอีก 6 เดือน รวมทั้งมีความเห็นที่ไม่เห็นด้วยกับระยะเวลาการเลื่อนออกไป 6 เดือน และความเห็นที่ต้องการให้กำหนดระยะเวลาที่เลื่อนออกไปให้ชัดเจน โดยไม่ต้องการให้มีการเลื่อนไปมาอีกเพราะจะกระทบกับความเชื่อมั่น

และได้มีการสรุปมติ ดังนี้ 1.ให้ออกประกาศกําหนดวัตถุอันตรายพาราควอต และคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้กําหนดระยะเวลาใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2563 สําหรับวัตถุอันตรายไกลโฟเซตให้ใช้มาตรการจํากัดการใช้ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2561

2.มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดําเนินการจัดทํามาตรการรองรับในการหาสารทดแทนหรือวิธีการอื่นที่เหมาะสมสําหรับวัตถุอันตรายพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส รวมถึงมาตรการในการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผลกระทบต่อสุขภาพของ ประชาชน และให้นําเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาภายในระยะเวลา 4 เดือนนับจากวันที่มีมติ