คดีฟ้อง “ปิดปาก” หยุดการมีส่วนร่วม !

คดีฟ้อง “ปิดปาก” หยุดการมีส่วนร่วม !

เมื่อปลายสัปดาห์ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน นำเสนอรายงานการวิจัยรื่อง “รายงานข้อเสนอแนะต่อการคุ้มครองผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะจากการถูกฟ้องคดี” ที่เผยให้เห็นว่า ประเทศไทยมีจำนวน"คดีการฟ้องปิดปาก" หรือ SLAPPs

 ด้วยแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นแนวโน้มที่น่ากังวล เพราะการฟ้องร้องที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ความพยายามปิดปากเฉพาะประชาชนที่ถูกฟ้องร้องเท่านั้น แต่ยังเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการพูดที่ขยายวงไปทั่วโลก 

SLAPPs  หรือ Strategic lawsuits against public participation เป็นการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ (Public Participation) หรือที่เข้าใจ ในคำว่า การฟ้องปิดปากเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในหลายประเทศ เพราะเป็นคดีที่เพิ่มอำนาจอย่างไม่เป็นธรรมให้คนรวยใช้คุกคามคนประชาชนที่ต้องการจะแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะ

ขณะที่ ในรายงานฉบับดังกล่าว ยังระบุอีกว่า "การมีส่วนร่วมสาธารณะ ที่ถือเป็นหลักการและแนวปฏิบัติทางการเมืองที่เป็นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย และประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในการเข้าไปมีส่วนร่วมสาธารณะ มักจะถูกคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ อยู่เสมอ ทั้งการทำลายชื่อเสียง การทำร้ายร่างกาย การบังคับให้สูญหาย" และอีกรูปแบบหนึ่งที่พบมากในปัจจุบันคือ "การคุกคามด้วยกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมประโยคในบทนำที่แสดงความห่วงใย การกระทำที่บั่นทอนสังคมประชาธิปไตย

ในการเปิดเผยงานวิจัยดังกล่าว ณัฐาศิริ เบิร์กแมน ผู้อำนวยการสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ในฐานะองค์กรที่ศึกษารายงานวิจัยชิ้นนี้ ระบุว่า การฟ้องปิดปากมักจะเป็นคดีที่ไม่มีมูลเหตุ ถูกออกแบบมาให้มีความซับซ้อน กินระยะเวลายาวนาน และเสียค่าใช้จ่ายราคาแพงสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นหากจำเลยไม่มีฐานะทางการเงินเพียงพอที่จะสู้คดีของตน พวกเขาก็ไม่มีทางเลือก และจำต้องยอมรับข้อเรียกร้องของโจทก์ ซึ่งมักจะมาในรูปของการชดใช้ค่าเสียหาย การขอโทษ หรือการลบข้อความที่ถือว่าละเมิด 

ขณะที่การฟ้องคดีปิดปากในประเทศไทย มักจะเป็นคดีหมิ่นประมาท และเป็นที่น่าตกใจว่า คดีหมิ่นประมาทเป็นข้อกล่าวหาทางอาญา มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 2 ปี และ ปรับ 2 แสนบาท หากถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง

ทั้งนี้ ข้อมูลจากรายงานวิจัย พบว่าตั้งแต่ปี 2540 มีคดีปิดปากอย่างน้อย 212 คดีที่นำเข้าสู่กระบวนการศาล และบางคดีก็เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การโพสต์ข้อความบนโซเชียลมีเดีย ที่ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า 1 ใน 4 ของคดีปิดปากเหล่านี้ เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ และประชาชนถูกฟ้องร้องจากความพยายามที่จะร้องเรียน เรื่องสภาพการทำงานที่ผิดกฎหมาย เรื่องการใช้ความรุนแรงของตำรวจ หรือเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยบุคคลที่พวกเขาร้องเรียนนั่นเองเป็นโจทก์ 

สถานการณ์นั้นย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ หลังจากการรัฐประหารในปี 2557 เนื่องจากกองทัพสร้างและใช้กฎหมายเพื่อปกป้องกลุ่มผู้มีอำนาจและกดขี่กลุ่มผู้ที่อ่อนแอ รวมถึงให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของบรรษัทและรัฐบาลมากกว่าประโยชน์สาธารณะ 

ข้อมูลในรายงานวิจัยยังพบว่า 95% ของคดีฟ้องปิดปากในประเทศไทย เป็นคดีอาญา และผู้ที่เป็นจำเลยส่วนใหญ่ คือ ประชาชนทั่วไป นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และอาสาสมัคร 39% ผู้แทนชุมชนและแรงงาน 23% นักปกป้องสิทธิมนุษยชน 16% และ นักข่าว 9% และกิจกรรมหลักที่เป็นสาเหตุสำคัญของการฟ้องร้อง คือ การแสดงความเห็นออนไลน์ 25%

โดยประเด็นที่เสี่ยงมากที่สุดต่อการถูกฟ้องคดี คือ ประเด็นเกี่ยวกับความชอบธรรมของรัฐบาล การเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญและการออกกฎหมาย 40% รองลงมา คือประเด็นสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา 32%  ประเด็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ กระบวนการยุติธรรมและการตัดสินคดีของศาล 12%  ประเด็นการทุจริต 6% ประเด็นแรงงาน 5% ประเด็นสาธารณสุข 2% ประเด็นพลังงาน 2% และประเด็นอื่นๆ อีกประมาณ 1%

157535154978

นอกจากนี้ ในกระบวนยุติธรรมทางอาญา จากการเรียกหลักประกัน ก็ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ผู้ถูกดำเนินคดีที่ไม่มีฐานะ มักจะประสบกับความยากลำบากในการหาหลักทรัพย์มาประกันตัว และเมื่อชาวบ้านไม่สามารถรวบรวมทรัพย์ได้ทัน ก็จะถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ ยิ่งเป็นการซ้ำเติมกับผู้ถูกฟ้องปิดปาก

อย่างไรก็ตาม ในแง่กลไกทางกฎหมายในการป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก ทางสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้ระบุถึงข้อเสนอแนะไว้ในรายงานวิจัยว่า หน่วยงานรัฐ ควรยุติการดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อการมีส่วนร่วมสาธารณะ ควรใช้วิธีการตอบโต้ตอบด้วยการให้ข้อมูลข้อเท็จจริงในประเด็นที่ถูกวิจารณ์ หากเห็นว่าสิ่งที่ประชาชนแสดงความเห็นไปนั้นคลาดเคลื่อนไปจากความจริง 

ด้านบุคคลในกระบวนการยุติธรรมเอง ก็ควรตระหนักถึงการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งในด้านกฎหมายควรกำหนดขอบเขตความคุ้มครองการมีส่วนร่วมสาธารณะ และกลไกสนับสนุนผู้ถูกฟ้องคดีปิดปากที่ต่างไปจากคดีทั่วไป

ผอ.สมาคมนักกฎหมายสิทธิิมนุษยชน เรียกร้องในนามสมาคมฯ ให้ทางการไทยปฏิบัติตามคำมั่นที่จะยึดถือมติของสหประชาชาติว่าด้วยการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งไทยให้การรับรองไว้เมื่อเดือนธันวาคม 2560 และยึดถือพันธกรณีตามกฎหมายภายในประเทศและระหว่างประเทศ ที่จะป้องกันไม่ให้บุคคลใดถูกฟ้องร้องด้วยคดีความที่ไม่จริง และมีจุดประสงค์เพื่อปิดกั้นเสรีภาพการพูด และเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโทษทางอาญาของข้อกล่าวหาหมิ่นประมาท และให้การฟ้องร้องคดีปิดปาก เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย