'หอการค้า' ยื่นรัฐบาล 6 แผน ดันเศรษฐกิจตะวันออก

'หอการค้า' ยื่นรัฐบาล 6 แผน  ดันเศรษฐกิจตะวันออก

“หอการค้า”ยื่นรัฐบาล 6 แผน ผลักดันเศรษฐกิจตะวันออก เร่งเมกะโปรเจค์ ไฮสปีด-อีอีซีไอ พัฒนาถนนชายฝั่งเชื่อมภาคกลาง-ใต้ กระตุ้นท่องเที่ยว

การประชุมหอการค้าทั่วประเทศครั้งที่ 37 ที่จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 29 พ.ย.-1 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้ระดมความเห็นของหอการค้า 5 ภาค เพื่อสรุปความเห็นของหอการค้าไทยในการเสนอรัฐบาลขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2563 ให้ขยายตัวอย่างน้อย 3%

ปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก หอการค้าไทย กล่าวว่า ข้อเสนอของหอการค้าภาคตะวันออกครอบคลุมทั้งการผลักดันเศรษฐกิจภาคตะวันออกที่มีทั้งการส่งออก ธุรกิจปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมันและอุตสาหกรรมรถยนต์ 

หากพิจารณาปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบกับธุรกิจในภาคตะวันออก ได้รับผลกระทบคำสั่งซื้อลดลง โดยเฉพาะธุรกิจการผลิตเพื่อการส่งออกที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า โดยเฉพาะปัญหาค่าเงินบาทถือเป็นเรื่องสาหัสมากสำหรับผู้ส่งออกที่คำสั่งซื้อลดลงเหือบทุกอุตสาหกรรม และส่งผลต่อเนื่องให้ลดกำลังการผลิตและลดการทำงานล่วงเวลา (โอที) รวมทั้งบางรายลดการจ้างงานลง ซึ่งหอการค้าภาคตะวันออกพยายามหารือกับสมาชิกเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในบางเรื่อง

สำหรับข้อเสนอของหอการค้าภาคตะวันออกที่ต้องการให้รัฐบาลขับเคลื่อน 6 ประเด็น คือ 

1.การเร่งผลักดันโครงการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อให้เกิดการลงทุนจริง โดยเฉพาะโครงการที่ลงนามร่วมลงทุนแล้ว เช่น โครงการเร็วรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ซึ่งโครงการนี้อาจจะรอความชัดเจนบางเรื่องแต่ต้องการให้เร่ง

รวมทั้งควรเร่งพัฒนาปัจจัยที่สนับสนุนการพัฒนาอีอีซี ซึ่งดำเนินการควบคู่ได้กับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการพัฒนาเมืองและการพัฒนาการศึกษา ซึ่งขณะนี้ทุกคนมองแต่เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ แต่การพัฒนาเมืองมีความสำคัญเช่นกัน รวมทั้งภาครัฐดำเนินการได้ทันที เช่น หน่วยงานท้องถิ่นออกกฎหมายรองรับการทำงานภายในท้องถิ่นได้ โดยไม่ต้องรอรอแผนใหญ่ของอีอีซีหรือรอโครงสร้างพื้นฐานให้เสร็จก่อนแล้วค่อยทำ

นอกจากนี้ภาครัฐควรเตรียมความพร้อมด้านอื่น เช่น ระบบบำบัดน้ำเสีย การกำจัดขยะ ถนนเลียบชายฝั่งทะเล สมาร์ทซิตี้ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตั้งงบประมาณเพื่อเสนอกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)

“ทุกวันนี้คนมองว่ารถไฟความเร็วสูง สนามบิน จะเสร็จเมื่อไร มีความคืบหน้าแค่ไหน แต่ควรไปทำเรื่องอื่นๆเพื่อรองรับโครงการอีอีซีเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะนี้ ถ้าเริ่มทำเศรษฐกิจในพื้นที่ก็เกิดการหมุนเวียน และประชาชนก็จะรู้สึกว่าอีอีซีเกิดแล้ว“

ในขณะที่บางโครงการเร่งดำเนินการได้ทันที เช่น การพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) จ.ระยอง ซึ่งรองรับการพัฒนานวัตกรรมอาหารและเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าทั้งอาหารและผลไม้

2.การยกระดับด่านการค้าชายแดนในภาคตะวันออก ซึ่งภาคตะวันออกมีด่านค้าชายแดนที่ใหญ่ที่สุดเชื่อมโยงกัมพูชาผ่านไปยังเวียดนาม ดังนั้นต้องมีพัฒนาเส้นทางให้มีความสะดวก 

157529168951

3.การผลักดันตลาดการค้าออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันการค้าออนไลน์ได้รับความนิยมมาก รวมทั้งมีการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์และส่งสินค้าผ่านท่าเรือภาคตะวันออก โดยการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ในปี 2561 พบว่ามีจำนวน 70 ล้านชิ้น ปี 2562 คาดว่าจะอยู่ที่ 170 ล้านชิ้นหรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า และคาดว่าปี 2563 จะเพิ่มเป็น 300-400 ล้านชิ้น ซึ่งสินค้าเหล่านี้เข้ามาโดยไม่เสียภาษีเพราะราคาต่ำว่า 1,500 บาท จึงทำให้มีเงินไหลออกนอกประเทศจำนวนมากและอาจสูงกว่าวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล 

ดังนั้นหอการค้าภาคตะวันออกเห็นว่า รัฐบาลต้องเร่งส่งเสริมการค้าออนไลน์ของไทยในการสร้างเพลทฟอร์มการค้าออนไลน์เพื่อการส่งออกไปต่างประเทศให้มากขึ้นและเกิดการส่งออกผ่านท่าเรือภาคตะวันออกจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้

4.การส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเร่งผลักดันโครงการเชื่อมโยงไทยแลนด์รีเวียร่า ครอบคลุม 3 ภาค 12 จังหวัด โดยภาคตะวันออกเร่งพัฒนาถนนเฉลิมบูรพาชลทิศ เส้นทาง จ.ชลบุรี-ระยอง-จันทบุรี ส่วนภาคกลาง พัฒนาถนนเส้นทาง จ.สมุทรสงคราม-เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ และภาคใต้ พัฒนาเส้นทางถนน จ.ชุมพร-ระนอง-สุราษฎร์ธานี-นครศรีธรรมราช-สงขลา

ดังนั้น การพัฒนาถนนเลียบชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกให้เชื่อมต่อกันจะเปิดพื้นที่ใหม่ให้นักท่องเที่ยว ขณะเดียวกันธุรกิจที่รองรับการท่องเที่ยวเข้ามาประกอบธุรกิจในท้องที่ เช่น ร้านค้า รีสอร์ท โรงแรม ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวภาคตะวันออกได้เพิ่มขึ้น

5.ผลักดันแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมสนามบินอู่ตะเภา จ.ชลบุรีซึ่งพื้นที่สนามบินอู่ตะเภายังไม่มีระบบขนส่งสาธารณะเพื่อเชื่อมต่อไปพื้นที่อื่น โดยสนามบินอู่ตะเภาจะเติบโตเร็ว เพราะสนามบินสุวรรณภูมิหนาแน่นมาก รวมทั้งอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ของสนามบินสุวรรณภูมิ คงไม่เสร็จเร็ว 

ดังนั้นระบบขนส่งสาธารณะที่เชื่อมกับสนามบินอู่ตะเภาจึงมีความสำคัญในการกระจายผู้โดยสารเข้าเขตเมืองหรือแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันสนามบินอู่ตะเภามีมีเพียงแท็กซี่ แต่ไม่มีรถบัสโดยสารเพื่อขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งภาคเอกชนเห็นว่าต้องเร่งดำเนินการ เช่น การแก้กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค

ทั้งนี้ ปัญหาหลักที่ทำให้มีมีระบบขนส่งมวลชน เพราะติดปัญหาสัมปทานเส้นทางเดินรถเดิม โดยถ้ามีรถโดยสารไปวิ่งทับเส้นทางการเดินรถของผู้รับสัมปทานอยู่จะมีปัญหาจึงต้องแก้จุดนี้ รวมทั้งสนามบินอู่ตะเภาคลอบคลุม 2 จังหวัด คือ จ.ชลบุรีและระยอง ทำให้มีปัญหาการขออนุญาตเดินว่าขึ้นกับสำนักงานขนส่งจังหวัดใด 

รวมทั้งผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนต้องมองผลกำไรทำให้ขาดแรงจูงใจเข้ามาลงทุนขนส่งสาธารณะ ซึ่งรัฐบาลควรมีมาตรการจูงใจให้เข้ามาลงทุนระบบขนส่งสาธารณะ

6.ผลักดันแผนการเพิ่มแหล่งน้ำ ซึ่งคาดว่าในอนาคตหากไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำ ก็จะทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำได้ ปัจจุบันมีแผนก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแล้ว รอเพียงแต่งบประมาณที่จะลงมาเท่านั้น