“ท่าเรือปากบารา”มีลุ้นฟื้นโครงการ

“ท่าเรือปากบารา”มีลุ้นฟื้นโครงการ

“ศักดิ์สยาม” สั่งรื้อโปรเจค 1.2 หมื่นล้าน ผุดท่าเรือปากบารา ส่ง“ถาวร” ลงพื้นที่กล่อมประชาชน พร้อมลุยสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 มั่นใจเป็นฮับขนส่ง

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่กรมเจ้าท่า ว่า ได้สั่งการให้กรมเจ้าท่าพัฒนาท่าเรือต่างๆ ให้สำเร็จโดยเร็ว เพื่อเปิดประตูการขนส่งทางน้ำของไทย ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการให้รื้อแผนการดำเนินโครงการก่อสร้างท่าเรือปากบารา จังหวัดสตูล ที่การยุติโครงการไปแล้วเมื่อรัฐบาลที่แล้วนั้น ขอให้นำกลับขึ้นมาศึกษาใหม่ภายในปีนี้ รวมถึงโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 จังหวัดสงขลาซึ่งมีปัญหาเรื่องการสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่

โดยในส่วนของการพัฒนาท่าเรือปากบารา ถือเป็นส่วนช่วยที่จะทำให้การขนส่งสินค้าทางน้ำ และการเดินทางทางน้ำฝั่งทะเลตะวันตกสะดวกมากขึ้น รวมทั้งยังสามารถเชื่อมต่อกับระบบรางได้อีกด้วย 

ดังนั้นโครงการนี้ถือว่ามีความสำคัญ และเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ส่วนตัวเชื่อว่าจะสามารถทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ได้ เพราะรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคมทั้ง 3 คนซึ่งจะร่วมกันผลักดัน และประสานไป สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สส.) ของทั้ง 3 พรรคการเมืองที่อยู่ในพื้นที่ ให้ช่วยทำความเข้าใจกับประชาชนและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายด้วย

สำหรับโครงการท่าเรือปากบารา นับอีกหนึ่งโครงการที่นายกฯ เคยอยากผลักดันให้เกิดขึ้น ดังนั้นการรื้อฟื้นขึ้นมาศึกษาและจัดทำอีกครั้ง ก็ถือเป็นเรื่องที่ต้องลองดูก่อน เพราะไม่อยากให้ประเทศชาติเสียประโยชน์หรือเสียโอกาสที่ควรจะได้รับทั้งทีมีศักยภาพ 

"ผมจะผลักดันให้ปากบารา และท่าเรือสงขลา 2 เกิดให้ได้ในยุคของผม ถือเป็นนโยบายที่กระทรวงคมนาคมต้องทำด้วยกันให้ได้ เพราะถ้าเป็นประโยชน์เราก็ควรทำ ซึ่งเรื่องนี้ได้ฝากให้รัฐมนตรีช่วยฯ ท่านถาวร ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ด้วย”

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ท่าเรือสงขลา 2 และท่าเรือปากบาราจะเป็นส่วนช่วยกระตุ้นการค้าให้สะดวกมากขึ้น เพราะปัจจุบันสินค้าทางเรือที่ผ่านด่านภาคใต้ อาทิ ด่านสะเกา และปาดังเบซาร์ มีมากกว่า 4 แสนล้านบาทต่อปี 

หากมีการพัฒนาท่าเรือสงขลา 2 จะช่วยลดภาระในการขนส่งได้อีกมาก เพราะสามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ และยังสามารถเชื่อมต่อการขนส่งทางรางได้ด้วย ซึ่งเรื่องนี้ตนจะลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจกับประชาชน รวมการจัดทำการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ก็จะเน้นย้ำให้เป็นท่าเรือ เป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ต้องเป็ฯมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมากรมเจ้าท่าได้ศึกษาและออกแบบโครงการก่อสร้างท่าเรือปากบารา โดยประมาณการวงเงินงานโยธาอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท ส่วนงบอีไอเอ เดิมมีอยู่ 115 ล้านบาท แต่เมื่อโครงการยุติไปก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้ ดังนั้นหากจะรื้อโครงการขึ้นมาใหม่ กรมเจ้าท่าจะต้องเสนอของบอีไอเอประมาณ 100 ล้านบาท ขณะที่โครงการก่อสร้างท่าเรือสงขลา 2 วงเงินก่อสร้างประมาณ 5 พันล้านบาท ส่วนงบอีไอเอ มีอยู่แล้วประมาณ 70 ล้านบาทสามารถดำเนินการต่อได้ทันที