"ค่าโง่โฮปเวลล์" ยังไม่สิ้นหวัง หลังรฟท.ส่งพาณิชย์ชี้ขาดปม"ต่างด้าว"

"ค่าโง่โฮปเวลล์" ยังไม่สิ้นหวัง หลังรฟท.ส่งพาณิชย์ชี้ขาดปม"ต่างด้าว"

 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เค้นสอบสถานะ“โฮปเวลล์ ไทยแลนด์”  หากพบ“นอมินี” ชี้ผิดกม,ต่างด้าวฐานทำธุรกิจโดยไม่ขออนุญาต  เฟ้นข้อกฎหมาย 2 ฉบับทั้งพ.ร.บ.ต่างด้าวฯและปว.281  “ศักดิ์สยาม”รอพาณิชย์ชี้ความชัดก่อนเดินเกมส์ต่อ 

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าของกรณีจ่ายเงินชดเชย บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา ทราบว่าทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ทำหนังสือไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้ตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) เนื่องจากคณะทำงานที่ ร.ฟ.ท.และกระทรวงคมนาคมจัดตั้งขึ้น ตรวจสอบพบว่าบริษัทดังกล่าวมีการจดทะเบียนไม่ถูกต้อง

“เราตรวจสอบพบหลักฐานว่าบริษัทจดทะเบียนไม่ถูกต้อง เราก็มีหน้าที่ในการส่งข้อมูลให้กับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งทราบว่าการรถไฟฯ ได้ทำหนังสือไปแล้ว ประกอบกับเมื่อสัปดาห์ก่อน ผมก็ได้ทำหนังสือไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เพื่อให้ช่วยตรวจสอบข้อมูลเรื่องนี้อีกครั้ง"

ทั้งนี้ หากพบว่าการจดทะเบียนไม่ถูกต้องจริง ก็เป็นอำนาจของนายทะเบียน โดยกระทรวงพาณิชย์ ที่จะต้องยกเลิกการจดทะเบียนบริษัท และหากยกเลิกจดทะเบียน สัญญาร่วมทุนที่ทำไว้ก็จะเป็นโมฆะทันที อย่างไรก็ดี จะต้องรอให้การตรวจสอบของกระทรวงพาณิชย์ทราบผลที่แน่ชัดก่อน

      157529152626

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าโดยกองกฎหมาย และกองบริหารการประกอบธุรกิจ​ของชาวต่างชาติ ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงการจดทะเบียนบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ว่าเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ 

หลังรฟท.มอบเอกสารที่ระบุพบข้อมูลสงสัยเรื่องผู้ถือหุ้นต่างชาติที่ถือหุ้นมากกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือมีการใช้ตัวแทนถือหุ้นแบบนอมินี ขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดและต้องทำด้วยความรอบคอบ  เบื้องต้นพบว่า เมื่อปี 2533 บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย)ได้ยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในไทย หรือ 30 ปีแล้ว

รายงานข่าวแจ้งว่าสำหรับบริษัทโฮปเวลล์(ประเทศไทย)ถือเป็นบริษัทต่างด้าวที่ต้องการเข้ามาทำธุรกิจในไทยแต่พบข้อพิรุธว่าการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทไม่ถูกต้องเพราะไม่ได้มีการขออนุญาตตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ซึ่งในขณะที่มีการจดทะเบียนนั้น เป็นกฎหมายคณะปฎิวัติ 281 ซึ่งต้องพิจารณารายละเอียดช่วงรอยต่อข้อกฎหมายดังกล่าวด้วย ซึ่งทุกอย่างต้องดำเนินการอย่างถูกต้องครบถ้วน 

ส่วนประเด็นการลงนามในสัญญาดำเนินโครงการนั้นพบว่า บริษัทที่มาลงนามในครั้งนั้นคือบริษัทโฮปเวลล์(ประเทศไทย)จำกัด ไม่ใช่บริษัทโฮปเวลล์โฮลดิ้งจากเขตปกครองพิเศษฮ่องกงซึ่งตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ขณะนั้นกำหนดให้โฮปเวลล์โฮลดิ้งมาลงนามและยังไม่มีการแก้มติครม.ให้บริษัทโฮปเวลล์(ประเทศไทย)จำกัดเป็นผู้ลงนามตลอดมา 

ดังนั้นการพิจารณาประเด็นเรื่องนี้ต้องแยกเป็น 2 เรื่องคือ1. โฮปเวลล์ประเทศไทยฯ เป็นต่างด้าวที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยโดยไม่ได้ขออนุญาต ซึ่งต้องพิจารณาข้อกฎหมาย 2 ฉบับควบคู่กันคือ ปว.281และพ.ร.บ.ต่างด้าวฯ 2542 และเรื่องที่ 2 คือ กรณีกฎหมายต่างด้าวยกเว้นให้ทำธุรกิจได้หากครม.อนุมัติโดยไม่ต้องขอนุญาติ ซึ่งกรณีนี้ เป็นมติสำหรับโฮปเวลล์ฮ่องกงไม่ใช่โฮปเวลล์ประเทศไทย

    

นายวีรศักดิ์ กล่าวอีกว่า  ประเด็นหลักที่ขอให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าตรวจสอบคือ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย)  มีสัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างด้าวไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ และตรวจสอบอีกว่ามีพฤติกรรมเป็นนอมินีหรือไม่ คือ ให้ต่างชาติเข้ามามีอำนาจตัดสินใจ หรือบริหารธุรกิจแม้จะมีสัดส่วนการถือหุ้นต่ำกว่าคนไทยก็ตาม ดังนั้นหากพบว่าการจดทะเบียนไม่ถูกต้องการทำสัญญาโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่มาให้รัฐบาลไทยถูกตัดสินให้จ่ายค่าชดเชยแก่บริษัทโฮปเวลล์ฯมูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาทนั้น ก็จะเป็นโมฆะตามไปด้วย 

“ขั้นตอนหลังจากที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าตรวจสอบเสร็จแล้ว หากพบว่า มีการใช้นอมินีจริงซึ่งถือว่า ผิดกฎหมายต่างด้าวฯนั้นก็จะส่งข้อมูลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป”