รัฐเร่งเอกชนลงทุน ต้องเติม 'ความเชื่อมั่น'

รัฐเร่งเอกชนลงทุน ต้องเติม 'ความเชื่อมั่น'

เมื่อมาตรการรัฐยังแรงไม่พอ ส่งไปอัดฉีดเศรษฐกิจไทยที่พยายามทะยาน แต่ก็ไปไม่ถึง ถึงคราวที่รัฐบาลหันไปหาภาคเอกชน-ประชาสังคมให้เข้ามาร่วมแก้ปัญหา โดยเฉพาะเร่งลงทุนตั้งแต่ปลายปี 2562 เพื่อหวังฟื้นความเชื่อมั่นคืนมา

ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ไม่สวยหรู หลังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาส 3 ขยายตัว 2.4% และ 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ขยายตัว 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่ำกว่าความคาดหวังอยู่มาก

นำไปสู่การ "ลดเป้า" จีดีพีไทยในปีนี้ จาก 2.7%-3.2% เหลือ 2.6% โดยมีผลกระทบจากสงครามการค้า และการแข็งค่าเงินบาทในรอบ 6 ปี ฉุดรายได้จากการส่งออก เป็น "สองเหตุผลหลัก" ในการฉุดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย

การผลักดันให้เศรษฐกิจไทยกระเตื้องขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้เพื่อประคับประคองสถานการณ์จึงเกิดขึ้นผ่านหลายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการอัดเงินลงสู่เศรษฐกิจฐานราก รวมไปถึงมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ ลดค่าธรรมเนียมการโอน การจดจำนอง รวมไปถึงการช่วยเงินดาวน์ ทว่าดูเหมือนมาตรการเหล่านี้ จะยังมี "แรงส่ง" ไม่มากพอในการดันเศรษฐกิจ กำลังซื้อที่ยังคงซึมเซา แม้จะเข้าสู่ฤดูขาย (ไฮซีซัน) แล้วก็ตาม

ล่าสุดรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในการเปิดตัวเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย เรียกร้องให้ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจร่วมกันกับภาครัฐ โดยเฉพาะการขอให้ภาคเอกชนเร่งลงทุนตั้งแต่ปลายนี้

โดยหวังว่าจะมีส่วนทำให้เศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปีปรับตัวดีขึ้น และเป็น "โมเมนตัม" ส่งต่อไปถึงเศรษฐกิจในปีหน้า ที่หลายฝ่ายประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสจะทรุดตัวกว่าปีนี้ โดยยังหวังว่าการลงทุนของภาคเอกชนจะมีส่วนทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้าง จากเงินทุนที่ไหลออกนอกประเทศเพื่อซื้อเครื่องจักร วัตถุดิบต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนครั้งใหม่

อย่างไรก็ตาม การที่จะผลักดันการลงทุนของภาคเอกชนให้เกิดขึ้น ในสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลกนั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยง่าย เนื่องจากความต้องการสินค้าและบริการชะลอตัวตามเศรษฐกิจ ภาคเอกชนจำเป็นต้องมองเห็น "โอกาสทางธุรกิจ" ก่อนจึงจะตัดสินใจลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง ถามว่าหากภาคเอกชนคล้อยตามสิ่งที่นายกรัฐมนตรีเรียกร้อง โดยไม่ประเมินความเป็นไปได้ทางธุรกิจแล้วล่ะก็ อะไรจะเกิดขึ้นตามมา หากกิจการประสบปัญหาการดำเนินการ รัฐย่อมไม่เข้ามาโอบอุ้มเพียงเพราะข้ออ้างว่า "ก็รัฐขอให้เร่งลงทุน"  

157528213249

ดังนั้นการเรียกร้องให้ภาคเอกชนเร่งลงทุน พื้นฐานแรกสุดที่รัฐต้องดำเนินการคือ การเร่ง "ฟื้นความเชื่อมั่น" เศรษฐกิจและธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม หากรัฐทำสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้จริง รับรองว่าไม่ต้องเรียกร้องให้ภาคเอกชนลงทุน พวกเขาก็จะเร่งลงทุนกันเอง เพราะมองเห็นโอกาสทางธุรกิจอยู่ตรงหน้า อยู่ที่ว่ารัฐจะทำได้หรือไม่ในสถานการณ์เศรษฐกิจเช่นนี้ นักธุรกิจบางรายประเมินว่า ปีนี้ขอให้ "ประคองตัว" ไปให้ได้ก่อน ก็เก่งแล้ว อย่าเพิ่งมาถามว่า..จะลงทุนเพิ่มไหม