พิษ 3 สารพิษ เครือข่ายฯ 686 องค์กร ฟ้อง "สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ"

พิษ 3 สารพิษ เครือข่ายฯ 686 องค์กร ฟ้อง "สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ"

เครือข่ายแบนสารพิษฯ 686 องค์กร ประกาศฟ้อง “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ในฐานประธานคกก.วัตถุอันตราย ทั้งศาลปกครอง-ศาลอาญาคดีทุจริตฯอัดกระบวนการลงมติ27 พ.ย.62มิชอบ พร้อมเดินหน้า “ฟ้องคดีแบบกลุ่ม”ให้ผู้ได้รับอันตรายจาก 3 สารพิษ ยันไม่กระทบนำเข้าถั่วเหลือง

          วันนี้ (2 ธ.ค.) ที่มูลนิธิชีววิถี(ไบโอไทย) ไทรม้า จ.นนทบุรี มีการแถลงข่าว “เดินหน้าขับเคลื่อนการแบน 3 สารพิษ หลังมติสันนิษฐาน ล้มแบนนไกลโฟเซต เลื่อนแบนพาราควอต คลอร์ไพริฟอส” โดยนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการไบโอไทย กล่าวว่า ตามที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้แถลงผลการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2562 โดยอ้างว่าที่ประชุมมีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ให้เลื่อนการแบนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอสออกไปเป็นวันที่ 1 มิ.ย. 2563 และยกเลิกการแบนไกลโฟเซตเป็นจำกัดการใช้แทน เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการล้มมติเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2562 ซึ่งมาจากข้ออ้างว่า ไกลโฟเซตไม่เป็นอันตรายเพราะยังมีการใช้อยู่ในหลายประเทศรวมทั้งสหรัฐอเมริกา จากการรับฟังความคิดเห็นมีผู้คัดค้านจำนวนมาก ยังไม่สามารถหาวิธีการทดแทนได้ ต่างประเทศคัดค้าน ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ และขัดต่อความตกลงใน องค์การการค้าโลก(WTO) เป็นต้น
           นายวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า เครือข่ายฯเห็นว่ามติที่ยกเลิกการแบนไกลโฟเซต เป็นมติที่ไม่ชอบด้วย เนื่องจาก ประการแรก ข้ออ้างการทบทวนมติเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2652 ไม่มีเหตุผลสนับสนุนอย่างเพียงพอ ด้วยเหตุผล 5 ข้อ คือ เพราะ 1.การอ้างว่าไกลโฟเซตไม่เป็นอันตรายเพราะสหรัฐและหลายประเทศยังอนุญาตให้ใช้อยู่ ขัดแย้งกับข้อวินิจฉัยของสถาบันมะเร็งนานาชาติ องค์การอนามัยโลก และคำตัดสินของศาลสหรัฐที่ให้บริษัทไบเออร์ต้องจ่ายค่าเสียหายและค่าปรับจำนวนมหาศาลแก่ผู้ใช้และแก่รัฐ โดยจำนวนคดีที่มีการฟ้องศาลแล้วมีจำนวนมากกว่า 40,000 คดี 2.การอ้างว่าขัดต่อความตกลงในองค์กรการค้าโลกฟังไม่ขึ้น เนื่องจากในความตกลงสุขอนามัยและอนามัยพืช (SPS) มีบทยกเว้นในแผนก B-( Annex B –)ข้อ 6 อนุญาตให้ไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า 60 วันในกรณีที่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่กระทบต่อสุขภาพ
         3.การอ้างว่ามีผู้คัดค้านจำนวนมากจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นออนไลน์เป็นไปโดยมิชอบ เนื่องจากกรมวิชาการเกษตรได้นำรายชื่อผู้คัดค้านจากกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทสารพิษกำจัดศัตรูพืช 17,527 รายชื่อมารวมด้วย 4.การกล่าวอ้างเรื่องผลกระทบการนำเข้าสินค้าเกษตรโดยเฉพาะถั่วเหลืองและข้าวสาลีซึ่งประเทศไทยไม่สามารถผลิตได้หรือผลิตได้ไม่เพียงพอ จนส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจ ไม่เป็นความจริง เนื่องจากสามารถปรับค่าสารตกค้างการนำเข้า (Import Tolerance) ให้มีค่าต่ำสุดที่ไม่กระทบต่อการนำเข้าได้ และ 5.ส่วนกรณีข้ออ้างว่าไม่มีระยะเวลาเพียงพอและไม่มีวิธีการทดแทนนั้น กระทรวงเกษตรฯมีระยะเวลากว่า 2 ปี 7 เดือน สำหรับดำเนินการแต่กลับไม่เสนอทางเลือกที่เป็นรูปธรรม ทั้งๆที่ในทางปฏิบัติและการวิจัยของกรมวิชาการเกษตรเองพบว่าในพืชหลักหลายกลุ่ม วิธีการควบคุมวัชพืชโดยไม่ใช้สารเคมีเป็นแนวทางหลักของเกษตรส่วนใหญ่อยู่แล้ว
         ประการที่สอง กระบวนการลงมติเมื่อวันที่ 27 พ.ย.อ้างว่ามีความเห็นเป็นเอกฉันท์ เป็นกระบวนการที่มิชอบ เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข แถลงยืนยันมติเดิมให้มีการแบน 3 สาร ซึ่งตามมาตรา 12 ของพ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2522 แก้ไข 2562 กำหนดไว้ว่า การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก ซึ่งที่ผ่านมา การวินิจฉัยในกรณี 3 สารที่มีความเห็นแตกต่างกันของคณะกรรมการใช้วิธีการลงคะแนนตลอด 3 ครั้งที่ผ่านมา

อ่านข่าว-แนะตั้ง 'กรรมการร่วม' สางปมยืดแบนสารพิษ

          นายวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า เครือข่ายฯมีข้อเสนอ 5 ข้อ ได้แก่ 1. ยืนยันให้ทุกฝ่ายเคารพมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2562 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมต้องดำเนินการตามขั้นตอนในการออกประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้การแบนพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซตมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายโดยเร็ว 2. เครือข่ายฯขอประกาศจะดำเนินการฟ้องศาลปกครอง และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบต่อนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ดำเนินการประชุมเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2562 โดยมิชอบ ซึ่งจะดำเนินการทันทีหากไม่มีหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการวัตถุอันตรายยื่นตีความว่ามติดังกล่าวมีผลหรือไม่ และหากศาลพิจารณาว่ากระบวนการ
       น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) กล่าวว่า 3. เครือข่ายฯได้เริ่มดำเนินการตรวจสอบการตกค้างของ 3 สารพิษ ในสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการที่ใส่ใจและมีนโยบายคุ้มครองสุขภาพของประชาชน 4. เครือข่ายฯจะดำเนินการฟ้องคดีแบบกลุ่มให้กับผู้ที่ได้รับอันตรายจาก 3 สารพิษนี้ ภายในเดือนนี้ โดยความร่วมมือกับทีมทนายความที่ต่อสู้คดีให้กับนายดเวนย์ ลี จอห์นสัน ที่ชนะคดีไกลโฟเซตในสหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้มีผู้เสียหายแล้ว 110 รายและจะมีการรวบรวมเพิ่มเติม โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสารพิษทั้ง 33 ชนิดแจ้งความประสงค์ได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
        นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และ5. เรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนเกษตรกรในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยดำเนินการตามมติและข้อเสนอของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ด้วยเสียงเป็นเอกฉันท์ 423 ต่อ 0
        

      ผู้สื่อข่าวถามว่า หนึ่งในเหตุผลที่มีการระบุกรณีไม่แบนไกลโฟเซตคือจะสร้างความเสียหายต่อกรณีนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวสาลีมูลค่าหลายแสนล้านบาท นายวิฑูรย์ กล่าวว่า แม้มีการแบนไกลโฟเซต แต่ในกรณีเป็นสินค้านำเข้าที่ไม่สามารผลิตในประเทศได้หรือผลิตได้ไม่เพียงพอ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) สามารถกำหนดค่าสารตกค้างการนำเข้าให้ต่ำที่สุดได้ ซึ่งปัจจุบันค่ามาตรฐานที่กำหนดโดยโคเด็กซ์ (Codex)อยู่ที่ 20 พีพีเอ็ม ขณะที่ประเทศไทยมีการตรวจค่านี้จากการนำเข้า พบว่าอยู่ที่ไม่เกิน 5 พีพีเอ็ม เพราะฉะนั้น สามารถกำหนดค่านี้ให้ต่ำสุดในระดับนี้ได้ ถือเป็นการสร้างอำนาจต่อรองให้ประเทศ ไม่ใช่ข้อจำกัด รวมถึง เป็นโอกาสในการหาแหล่งผลิตถั่วเหลืองใหม่ที่มีค่าสารตกค้างต่ำ และส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองในประเทศ
           “การล้มการแบนไกลโฟเซตมาจากอุตสาหกรรมอาหารสัตว์แน่นอน โดยมีบางบริษัทที่เชื่อมโยงกับการค้าสารเคมี และเป็นบริษัทที่พยายามผลักดันให้มีการนำเข้าพืชที่ดัดแปลงพันธุกรรมหรือจีเอ็มไอ อย่างไรก็ตาม หากบอกว่าการนำเข้าเสียหายหลายแสนล้านบาท แต่การประเมินของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) ระบุว่าทุกการนำเข้าสารเคมี 1 ล้านบาท รัฐจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและอื่นๆราว 7.6 แสนบาท ซึ่งเมื่อปีก่อนไทยนำเข้าสารเคมีประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เท่ากับมีค่าใช้จ่ายฟื้นฟูถึงกว่า 2.28 หมื่นล้านบาท”นายวิฑูรย์กล่าว