'จ้างงาน' เผชิญจุดเปลี่ยน ธุรกิจดึง 'เทคโนโลยี' ทดแทนคน 

'จ้างงาน' เผชิญจุดเปลี่ยน ธุรกิจดึง 'เทคโนโลยี' ทดแทนคน 

"เอกชน" ชี้ปมสงครามการค้า-บาทแข็ง ทำธุรกิจซบ ส่งผลลดโอที-โบนัส ปัดยังไม่มีแผนเลิกจ้าง เหตุสังคมสูงวัยทำไทยยังขาดแรงงาน ส่งผลธุรกิจเบนเข็มดึงระบบอัตโนมัติร่วมกระบวนการผลิตลดพึ่งพาแรงงาน "อุตฯอิเล็กทรอนิกส์" แนะเสริมทักษะหวังพ้นภาวะเสี่ยงตกงาน 

ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า โดยเฉพาะการส่งออกที่ติดลบอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยเศรษฐกิจโลกซบเซา ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แต่ขณะนี้เรื่องไกลตัวที่ว่ากำลังจะกลายเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เม็ดเงินในกระเป๋าคนไทยลดลง อันเป็นผลจากการจ้างงานที่ชะลอตัว

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า สงครามการค้าและเงินบาทแข็ง ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกต้องยอมขายขาดทุน เพื่อรักษาตลาด หากรายใดมีสายป่านยาวจะปรับตัวด้วยการลดรายจ่ายให้มากที่สุด โดยเริ่มตั้งแต่ลดโอที ลดเวลาการทำงาน แต่ถ้ากลุ่มสายป่านสั้น หากปีหน้าสงครามการค้าลดความรุนแรง และค่าเงินบาทอ่อนตัวก็ยังพอไปได้ แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้นก็อาจจะต้องปิดกิจการ

"ปีนี้การปิดตัวไม่น่าจะเกิน 5% จากจำนวนกว่า 1 หมื่นราย ซึ่งถือว่าน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นรายเล็กๆ แต่หากในปี 2563 สถานการณ์การค้าโลกไม่ดีขึ้น และค่าเงินบาทยังแข็งค่า ก็มีโอกาสที่จะปิดตัวถึง 10%"

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมประเทศไทยยังคงอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงาน และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น ดังนั้นจึงใช้เวลาในช่วงนี้นำเข้าเครื่องจักรอัตโนมัติ เพื่อลดการพึ่งพาแรงงาน

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% จากระดับ 0.8% ไปเป็น 1% จำนวนคนว่างงาน 3-4 แสนคน ยังถือว่าไม่มาก

"รายได้ของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะอยู่ที่โอที หากโอทีลดไป รายได้ก็จะลดลง รวมทั้งเมื่อบริษัทไม่มีกำไรก็จะไม่มีโบนัส และขึ้นเงินเดือน ซึ่งเป็นสถานการณ์ของโรงงานส่วนใหญ่ มีโรงงานเพียงส่วนน้อยที่ยังมีกำไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะคลี่คลายได้ก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจโลกดีขึ้น"

ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ยังคงคาดว่าเศรษฐกิจโลกยังคงซบเซา ปัญหาสงครามการค้ายังคงยืดเยื้อไปจนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือนพ.ย. ปี 2563 ซึ่งจะต้องจับตาว่านโยบายของสหรัฐจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด

นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้ไทยยังจ้างงานต่างด้าวที่สูงมาก และแรงงานไทยก็หันไปเป็นฟรีแลนซ์มากขึ้น ส่วนตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติก็ระบุว่า รายได้แรงงานไม่ลดลงและรายได้ครัวเรือนสูงขึ้น ดังนั้นจึงมองว่าสถานการณ์ว่างงานในขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบที่รุนแรง อัตราการว่างงานไม่เกิน 1% ยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก และยังมีการจ้างงานใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่าเยอะ

สำหรับตัวเลขของการปิดโรงงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่ายอดรวมการปิดโรงงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-14 พ.ย.2562 มีโรงงานที่ขอปิดกิจการทั้งสิ้น 1,416 โรง กระทบแรงงาน 36,068 คน ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ปกติเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีจำนวนปิดโรงงาน 1,804 โรง กระทบแรงงาน 36,386 คน 

คาดว่าหากนับจำนวนจนครบปี 2562 ยอดการปิดโรงงานก็ไม่น่าจะมากกว่าในปีก่อน และเมื่อเทียบกับปี 2560 มียอดปิดโรงงาน 1,330 โรง กระทบแรงงาน 38,901 คน ซึ่งเห็นได้ชัดว่ายอดการปิดโรงงาน และการตกงานในช่วง 3 ปี ไม่ได้มีเพิ่มมากจนผิดปกติ โดยการปิดโรงงานที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องปกติของภาวะการดำเนินธุรกิจที่จะต้องมีทั้งโรงงานที่เปิดใหม่ และโรงงานที่ปิดกิจการ

ในส่วนของตัวเลขการขอเปิดกิจการ ซึ่งเป็นตัวสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญ พบว่าในปี 2562 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-21 พ.ย.2562 มีผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตเปิดโรงงานใหม่ และขยายโรงงานรวม 3,950 โรง มีการจ้างงานใหม่ 178,733 คน และมูลค่าลงทุนรวม 445,025 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2561 ที่มีโรงงานเปิดใหม่และขยายกิจการจำนวน 4,561 โรง มีการจ้างงาน 178,612 คน และมีมูลค่าการลงทุน 318,701 ล้านบาท 

คาดว่าเมื่อรวมยอดจนถึงสิ้นปี 2562 ตัวเลขการเปิดโรงงานและขยายกิจการน่าจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา และหากเปรียบเทียบไปจนถึงปี 2560 จะพบว่ามีโรงงานที่เปิดใหม่และขยายกิจการรวม 4,540 โรง มีการจ้างงาน 179,596 คน มีมูลค่าการลงทุน 437,802 ล้านบาท ก็ยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน

  • แรงงานอิเล็กทรอนิกส์ชีวิตดีขึ้น 3% 

นายสัมพันธ์ ศิลปนาฎ นายกสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ กล่าวถึงภาพรวมตลาดแรงงานในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ โดยยืนยันว่า ปัจจุบันกลุ่มผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ในไทยยัง "ไม่มีแผนปรับลดคน" แต่จะมุ่งจ้างกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมและนักเทคนิคขั้นสูงเพื่อเข้ามารองรับภาคอุตสาหกรรมนี้แทน

"มีการนำเอาระบบออโตเมชั่นเข้ามาในกระบวนการผลิตมากขึ้น ทำให้ใช้คนน้อยลง ขณะเดียวกันยอมรับว่า เทรดวอร์ในภาคอิเล็กทรอนิกส์ส่งผลให้มีการชะลอคำสั่งซื้อลง"

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการด้านอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในสมาคมมากกว่า 30 บริษัท ก็มีการมอนิเตอร์สถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และเตรียมมาตรการรับมือ ซึ่งส่วนใหญ่จะนำระบบออโตเมชั่น โรบ็อท ซึ่งเข้ามาในสายการผลิตแล้วราว 70-80% จากปกติต้องใช้พนักงาน 20 คน ก็จะเหลือพนักงานเพียงแค่ 1-2 คนเท่านั้น

อิเล็กทรอนิกส์ คือปัจจัยสำคัญสำหรับโลกยุคนี้ เพราะผลิตภัณฑ์หรือสินค้าต่างๆ ต้องใช้อิเล็กทรอนิกส์ทั้งนั้น เพียงแต่ปีนี้อาจมีข่าวลบเยอะ โดยเฉพาะเทรดวอร์ ซึ่งก็ยอมรับว่ามีส่วนกระทบ เกิดการชะลอการผลิต/บริโภค มีความไม่แน่นอน ซึ่งก็ต้องพัฒนาคนในภาคอุตสาหกรรมนี้ให้มีสกิลที่ดีขึ้นให้เขามีทักษะติดตัว

อย่างไรก็ตาม ไทยยังถือเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ ทั้งซีเกท และดับบลิวดี ต่างย้ายฐานมาอยู่ไทย โดยเฉพาะดับบลิวดีปิดโรงงานทุกประเทศมาอยู่ไทยทั้งหมด

ปัจจุบันภาคอิเล็กทรอนิกส์มีแผนรับความเสี่ยงจากเทรดวอร์ และวิกฤติส่งออก โดยเน้นการใช้วัสดุคงคลังและปรับลดสต็อกลง รวมถึงมาตรการรับมือความเสี่ยงอื่นๆ จากคำสั่งซื้อที่ชะลอตัวลง

"แม้แนวโน้มการจ้างงานในภาคอิเล็กทรอนิกส์จะลดลง แต่ก็มีจ้างงานเพื่อทดแทนคนเก่า แต่มุ่งเน้นช่างเทคนิคสมัยใหม่ และที่สำคัญผมยืนยันว่าแรงงานภาคอิเล็กทรอนิกส์มีความอยู่ดีกินดีเพิ่มขึ้น 3%"

ขณะเดียวกันภาคอิเล็กทรอนิกส์ปัจจุบันยังได้มีแผนพัฒนาแรงงานให้มีคุณภาพระดับเวิลด์คลาสสู่อุตสาหกรรม รับมือการเปลี่ยนงานจะไปทำงานที่ไหนก็ได้ในโลก คนเหล่านี้จะไม่ตกงานเพราะในอุตสาหกรรมต่างๆ มีอิเล็กทรอนิกส์เข้าไปเกี่ยวข้อง