'เทคโนโลยีเปลี่ยน-ยอดขายวูบ' ต้นตอเลิกจ้างอุตฯรถยนต์โลก

'เทคโนโลยีเปลี่ยน-ยอดขายวูบ' ต้นตอเลิกจ้างอุตฯรถยนต์โลก

ปีนี้เป็นปีที่ย่ำแย่ของอุตสาหกรรมยนตรกรรมโลก ค่ายรถชั้นนำพากันปลดพนักงานระลอกแล้วระลอกเล่า รวมทั้งยุบสายการผลิตรถยนต์แบบสันดาปภายใน และหันมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารองรับความต้องการในตลาดนี้ที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าปีนี้เป็นปีที่ยอดขายรถยนต์จะลดลงประมาณ 3.1 ล้านคัน ถือว่าลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่

อุตสาหกรรมยานยนต์โลก กำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ และค่ายรถยนต์ชั้นนำหลายแห่ง ทะยอยประกาศเลิกจ้าง เริ่มจาก "เดมเลอร์" บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ของเยอรมนี ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประกาศว่าจะปรับลดจำนวนพนักงานลงอย่างน้อย 10,000 ตำแหน่งทั่วโลกภายในสิ้นปี 2565 หลังจากที่บริษัทบรรลุข้อตกลงกับสหภาพแรงงาน ด้วยความหวังว่าจะนำเงินจากการเลิกจ้างไปใช้ลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

จำนวนพนักงานที่จะถูกปรับลดครั้งนี้ของเดมเลอร์คิดเป็นอัตราส่วนประมาณ 3% ของจำนวนแรงงานทั้งหมดของบริษัท ส่วนค่ายรถหรูอย่าง "อาวดี้" ก็ประกาศปลดพนักงาน 9,500 คนจากทั้งหมด 61,000 คนในเยอรมนี หรือคิดเป็น 1 ใน 10 ของพนักงานทั้งหมดภายในปี 2568 ด้วยเหตุผลทำนองเดียวกัน และ "บีเอ็มดับเบิลยู" บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ซึ่งรวมถึงการลดเงินโบนัส และลดการจ่ายเงินให้กับพนักงานเพื่อลดต้นทุน

ส่วน "ฟอร์ด" ค่ายรถเก่าแก่ของอเมริกา เตรียมปลดพนักงานทั่วโลก 7,000 คน ตามแผนปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ซึ่งรวมถึงการลดปริมาณการผลิตรถยนต์เก๋งซีดานในสหรัฐ เพื่อหันไปผลิตรถเอนกประสงค์แบบเอสยูวีและรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

การเลิกจ้างพนักงาน 7,000 คนของฟอร์ดครั้งนี้ คิดเป็น 10% ของพนักงานรับเงินเดือนทั่วโลก พร้อมทั้งปรับย้ายตำแหน่งใหม่ของพนักงานสำนักงาน ซึ่งส่วนนี้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ ฟอร์ดจะค่อยๆเลิกทำตลาดรถเก๋งซีดานส่วนใหญ่ในสหรัฐ เนื่องจากผู้บริโภคหันไปนิยมรถปิ๊กอัพ และรถเอสยูวีกันมากขึ้น

การทยอยเลิกจ้างพนักงาน ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปีที่แล้ว จะช่วยให้ฟอร์ดประหยัดเงินได้ 600 ล้านดอลลาร์ต่อปี และฟอร์ดจะหันไปเพิ่มการลงทุนรถไฟฟ้าและเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติ มุ่งขยายการเติบโตในธุรกิจเหล่านี้แทนในอนาคต แม้ว่าความสามารถในการทำกำไนในปัจจุบัน พอๆกับยอดขายรถปกติในอเมริกาเหนือ รวมถึงปิ๊กอัพรุ่นขายดีอย่าง F-150

นับจนถึงสิ้นปี 2561 ฟอร์ด มีพนักงาน 1.99 แสนคน รวมถึงพนักงานที่เป็นสมาชิกสหภาพ ลดลงจาก 2.02 แสนคนในปีก่อนหน้า ก่อนหน้านี้ในเดือน มี.ค. ฟอร์ดประกาศจะลดพนักงานกว่า 5,000 คนในเยอรมนี ซึ่งโฆษกฟอร์ดกล่าวว่า ตัวเลขเลิกจ้าง 7,000 คนรวมถึงพนักงานรับเงินเดือนในเยอรมนีด้วย

ที่ผ่านมา ฟอร์ด ประกาศถอนตัวจากธุรกิจรถบรรทุกเชิงพาณิชย์ ปรับโครงสร้างในรัสเซียและลดการผลิตที่โรงงานสองแห่งในรัสเซีย กับยุติการผลิตที่โรงงานในเมืองบอร์ดโดซ์ ประเทศฝรั่งเศส

แผนการของฟอร์ดเหมือนกับ เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ที่เลิกจ้างพนักงานเมื่อปีที่แล้ว พร้อมประกาศแผนปิดโรงงาน 7 แห่งทั่วโลกรวมถึง 5 แห่งในอเมริกาเหนือ

เมื่อหันมาดูในกลุ่มค่ายรถญี่ปุ่น ก็มีการประกาศเลิกจ้างด้วยเช่นกัน โดยนิสสัน ประกาศลดต้นทุนด้วยการปลดพนักงานหมื่นตำแหน่ง หวังพยุงองค์กรให้อยู่รอดท่ามกลางความท้าทายในอนาคต โดยยอดขายรถของนิสสันทั่วโลกลดลงไปถึง 4.42% ในปี 2561 หรือขายได้เพียงแค่ 5.52 ล้านคันเท่านั้น

ทิศทางยอดขายที่ลดลงยังคงส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดยุโรปที่นิสสันเจาะตลาดได้อย่างยากลำบากและยอดขายในตลาดนี้ลดลงไปถึง 17.8% รวมไปถึงตลาดรถสหรัฐที่ยอดขายหายไปถึง 9.3%

เหตุผลที่นิสสันประกาศเลิกจ้างงานครั้งใหญ่โดยมีผลกระทบต่อแรงงานนับหมื่นคน เพราะต้องการควบคุมต้นทุนการผลิตรถยนต์ในยุคปัจจุบัน ที่ต้องทุ่มเม็ดเงินเข้าไปพัฒนารถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ประกอบกับยุบส่วนงานที่ไม่ทำกำไร ภายใต้แผนรัดเข็มขัดและลดน้ำหนักองค์กร เพื่อเป้าหมายการเติบโตของยอดขายรถยนต์ให้ดีเหมือนเดิม

มีการประเมินว่า ยอดขายรถยนต์ทั่วโลกในปีนี้จะลดลงประมาณ 3.1 ล้านคัน ถือเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่ช่วงเศรษฐกิจโลกตกต่ำครั้งใหญ่ และตลอดช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีการปลดคนงานในอุตสาหกรรมรถยนต์ไปแล้วจำนวนกว่า 38,000 คน ผลพวงจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และมองว่าการมีรถยนต์ทำให้มีภาระเพิ่ม

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยมาจากการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของกฎข้อบังคับจากภาครัฐ ทั้งในยุโรปและสหรัฐ ที่เอื้อต่อการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งส่งผลโดยตรงต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์อย่างเช่น ซัพพลายเออร์ทั้งหลาย รวมทั้งชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์แบบสันดาปภายใน บวกกับการควบคุมเรื่องของระดับมลพิษที่เข้มงวดขึ้น ทำให้เครื่องยนต์ดีเซลประสบปัญหาในการทำยอดขาย

แต่กระแสเลิกจ้างไม่ได้เกิดกับอุตสาหกรรมรถยนต์อย่างเดียว คอนติเนนทัล ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลกสัญชาติเยอรมนี ก็ประกาศปลดพนักงาน 5,500 คน ภายในปี 2571 ตามแผนลดรายจ่ายครั้งใหญ่ หลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจนส่งผลให้ความต้องการเครื่องยนต์สันดาปภายในปรับตัวร่วงลงอย่างต่อเนื่อง

ความเคลื่อนไหวของคอนติเนนทัล มีขึ้นขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ทรงพลังของเยอรมนี ซึ่งมีพนักงานรวมกันราว 8 แสนคน กำลังได้รับผลกระทบจากกรณีพิพาทด้านการค้า มาตรการคุมเข้มการปล่อยไอเสีย รวมทั้งการปรับเปลี่ยนไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์อัตโนมัติที่ทำให้ค่ายรถมีต้นทุนสูงขึ้น

คอนติเนนทัล จะปิดโรงงานในเมืองโรดิง เยอรมนี และที่เมืองนิวพอร์ต นิวส์ รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐ ภายในปี 2567 เนื่องจากจะเลิกผลิตชิ้นส่วนไฮดรอลิก สำหรับเครื่องยนต์เบนซินและเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งการปิดโรงงานตามแผนนี้ จะทำให้มีคนตกงาน 520 ตำแหน่งที่เมืองโรดิง และ 720 ตำแหน่งที่รัฐเวอร์จิเนีย

ภายในปี 2568 คอนติเนนทัลจะปลดพนักงานอีก 1,800 คน ที่โรงงานในเมืองบาเบนเฮาเซน ในเยอรมนี และอีก 750 คนภายในปี 2571 ที่โรงงานในเมืองปิซา อิตาลี ตามด้วย 850 คน ที่โรงงานในเมืองลิมบาค-โอเบอร์ฟรอห์นา ในเยอรมนี

เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา คอนติเนนทัล  ประกาศตัวเลขขาดทุนสุทธิ 1,990 ล้านยูโร ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2562 และคาดว่าผลประกอบการตลอดทั้งปีนี้จะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้