ดีแทคชงเลื่อนประมูล5จี -รอคลื่น 3500

ดีแทคชงเลื่อนประมูล5จี -รอคลื่น 3500

ดีแทคเสนอ กสทช. เลื่อนประมูล 5 จี ชี้ควรรอคลื่น 3500 MHz มาร่วมประมูล เพื่อผู้ประกอบการสามารถวางแผนเพื่อประโยชน์ในการให้บริการได้สูงสุด และเพื่อพัฒนาการสื่อสารไทยเข้าสู่ 5G และต่อยอดการให้บริการอย่างยั่งยืน

นายมาร์คุส แอดอัคทูสเซ่น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า

“การประมูลคลื่นความถี่ที่ถูกออกแบบมาอย่างเหมาะสม และจัดขึ้นตามกรอบเวลาอันสมควร จะทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การให้บริการ 5G อย่างมีประสิทธิภาพ ดีแทคสนับสนุนการประมูลคลื่นแบบหลายย่านความถี่พร้อมกัน (Multiband auction) แต่เสนอให้ปรับช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อนำคลื่น 3500 MHz มาร่วมประมูล ผู้ประกอบการจะสามารถนำมาวางแผนเพื่อประโยชน์ในการให้บริการได้สูงสุด และเพื่อพัฒนาการสื่อสารไทยเข้าสู่ 5G และต่อยอดการให้บริการอย่างยั่งยืน”

ทั้งนี้ ในการเข้ารับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ย่าน 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz ดีแทคจะยื่นข้อเสนอแนะต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เพื่อปูทาง 5G ไทยให้ยั่งยืนใน 3 ประเด็นดังต่อไปนี้

การจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อนำออกประมูล กำหนดห้วงเวลาการประมูลใหม่ เพื่อรอความชัดเจนคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G

ดีแทคเห็นด้วยอย่างยิ่งต่อการประมูลแบบหลายย่านความถี่พร้อมกัน (Multiband auction) อย่างไรก็ตาม ควรมีการกำหนดห้วงเวลาในการประมูลใหม่ เพื่อให้สามารถนำคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz มาจัดสรรในการประมูลครั้งนี้ได้ ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าประมูลได้รับประสิทธิภาพสูงสุดในเชิงเทคโนโลยีจากการประมูล 5G

ในทางเทคนิค คลื่นความถี่ย่าน 2600 และ 3500 เมกะเฮิรตซ์มีคุณสมบัติที่ทดแทนกันได้ และในหลักปฏิบัติสากล จะมีการนำคลื่นย่านความถี่กลาง (Mid-band) ทั้งสองย่านดังกล่าวมาจัดสรรพร้อมกัน เพื่อป้องกันในกรณีที่เผชิญความขาดแคลนของจำนวนคลื่น ดังนั้น คลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz จึงเป็นตัวแปรสำคัญของผู้เข้าประมูลในการพิจารณา เพื่อนำไปพัฒนาในเชิงเทคโนโลยีสำหรับ 5G ในจังหวะเวลาที่ถูกต้อง




กำหนดเพดานการถือครองจำนวนคลื่น 2600 MHz เพื่อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ในการประมูลเพื่อจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz ที่มีการกำหนดการถือครอง 190 MHz ดีแทคเห็นว่าควรมีการกำหนดเพดานในการถือครองเพื่อป้องกันการบิดเบือนของตลาดและกระจายการถือครองของผู้ให้บริการ อันจะทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี 5G อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ กสทช. อาจพิจารณาออกหลักเกณฑ์การถือครองจำนวนคลื่นจากจำนวนผู้เข้าประมูล ตัวอย่างเช่น เพดานการถือครองที่ 60 MHz สำหรับการประมูลที่มีผู้เข้าร่วมประมูลมากกว่า 3 ราย, 80 MHz สำหรับการประมูลที่มีผู้เข้าร่วมประมูล 3 ราย และ 100 MHz สำหรับการประมูลที่มีผู้เข้าร่วมประมูล 2 ราย
ความชัดเจนในการจัดการการรบกวนของคลื่นความถี่ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งคลื่น 2600 MHz)

ปัจจุบัน พบว่าคลื่น 2600 MHz มีการใช้งานอยู่ 20 MHz ดังนั้น กสทช. จึงควรให้ความชัดเจนถึงแนวทางในการจัดการถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการรบกวนกันของคลื่นความถี่และข้อกำหนดในการใช้งาน เพื่อให้ผู้เข้าประมาณสามารถประเมินมูลค่าที่เหมาะสมในการลงทุน

157526077330
นายมาร์คุส แอดอัคทูสเซ่น

การกำหนดราคาคลื่นความถี่ การกำหนดราคาเริ่มต้นของการประมูลคลื่นความถี่ที่สูงเกินไป

จากร่างประกาศการประมูล กำหนดให้คลื่น 2600 MHz มีราคาเริ่มต้นที่ 1,862 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาต (10 MHz) ซึ่งเป็นราคาสูงกว่าค่ากลางของสากล ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการลงทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขยายโครงข่าย ขณะที่คลื่น 1800 MHz ซึ่งมีราคาเริ่มต้นการประมูลที่ 12,486 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาต มีราคาสูงกว่าราคาสุดท้ายในการประมูลของประเทศอื่นๆ หลายเท่าตัว ซึ่งอาจทำให้เกิดความล้มเหลวในการประมูลได้ โดยข้อมูลจากสมาคมจีเอสเอ็ม ระบุว่า ราคาเริ่มต้นการประมูลคลื่น 1800 MHz ในปี พ.ศ. 2561 และ พ.ศ. 2563 มีราคาสูงกว่าตลาดโลกอย่างมาก

วิธีการประมูลและหลักเกณฑ์ วิธีการประมูลควรได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบจากร่างประกาศฯ กำหนดให้ใช้วิธีการประมูลคลื่นความถี่หลายย่านพร้อมๆ กัน (Simultaneous Ascending Clock Auction) ซึ่งเป็นการกำหนดตามคุณลักษณะทางเทคนิคของคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ ดังนั้น วิธีการประมูลจึงจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาใหม่ เพื่อให้สอดรับกับคุณสมบัติทางเทคนิคของคลื่นย่านอื่น

การวางหลักประกันการประมูล ดีแทคสนับสนุนให้มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ร่วมประมูลอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกณฑ์ในการวางหลักประกันทางการเงินจากผู้เข้าประมูลทุกราย

5G จะเกิดต้องมองรอบด้านอย่างยั่งยืน การเข้าถึงและกระบวนการในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานควรได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ ตัวอย่างเช่น การออกใบอนุญาตก่อสร้างตั้งเสาโทรคมนาคม นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลควรแสดงบทบาทในการส่งเสริมให้มีการใช้โครงการพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกันผ่านสิทธิพิเศษ เพื่อเพิ่มแรงจูงใจ ตลอดจนการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย

ขณะเดียวกัน เพื่อให้วาระการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5G ประสบความสำเร็จ รัฐบาลควรแสดงบทบาทในการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐเอกชน ตัวอย่างเช่น โครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart city) การใช้เทคโนโลยี 5G ในการบริการสาธารณะและภาคการผลิต ซึ่งจะก่อให้เกิดการใช้เทคโนโลยี 5G อย่างแท้จริงและแพร่หลายในอนาคต

“การทำให้ 5G เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่เพียงบทบาทของผู้ประกอบการโทรคมนาคมเท่านั้น แต่ต้องอาศัยความร่วมมือการขับเคลื่อนของทุกภาคส่วนในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรกำกับดูแลและผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน ผู้ประกอบการโทรคมนาคมจะยังไม่ได้รับประโยชน์จากครอบครองคลื่นความถี่สำหรับเทคโนโลยี 5G โดยการใช้งานจริง (use case) ยังต้องได้รับการพัฒนาและคำนึงถึงโมเดลในการหารายได้ที่ยังคงไม่มีความชัดเจน ภาครัฐจึงมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งในเชิงกลยุทธ์ที่จะกระตุ้นการลงทุนเชิงโครงสร้าง ความร่วมมือจากหลากหลายอุตสาหกรรมที่จะร่วมกันขับเคลื่อนสู่เทคโนโลยี 5G” นายมาร์คุส กล่าวในที่สุด