เวียดนาม ‘ตื่น’ รับมือ 'ค้ามนุษย์'

เวียดนาม ‘ตื่น’ รับมือ 'ค้ามนุษย์'

ข่าวการพบ 39 ศพในตู้คอนเทนเนอร์ท้ายรถบรรทุกที่แคว้นเอสเซกส์ ทางตะวันออกของกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 23 ต.ค. ถือเป็นโศกนาฏกรรมสำหรับผู้ลักลอบเข้าเมืองที่ต้องการแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าผู้เสียชีวิตเป็นชาย 31 คน หญิง 38 คน ทั้งหมดเป็นชาวเวียดนาม

ผู้เสียชีวิตเป็นชาย 31 คน หญิง 38 คน ทั้งหมดเป็นชาวเวียดนาม

ร่างและเถ้ากระดูกของพวกเขาทยอยกลับสู่มาตุภูมิ โดย 16 ศพกลับมาถึงเวียดนามเมื่อวันพุธ (27 พ.ย.) ญาติรอรับทั้งน้ำตา หลังจากนั้น 16 ศพ และเถ้ากระดูก 7 คน ซึ่งเป็นชุดสุดท้ายมาถึงสนามบินนานาชาตินอยไบ่ในกรุงฮานอย เมื่อวันเสาร์ (30 พ.ย.)

ทั้งนี้ ญาติมีสองทางเลือกในการรับร่างไร้วิญญาณของคนที่รักกลับคืนมา หากรับเป็นเถ้ากระดูกต้องเสียค่าใช้จ่าย 1,800 ดอลลาร์ (ราว 54,000 บาท) แต่ถ้าหากรับเป็นศพใส่โลงต้องจ่าย 2,900 ดอลลาร์ ซึ่งหลายคนก็เลือกให้ส่งกลับมาทั้งร่าง เพื่อนำมาฝังตามประเพณี และจำเป็นต้องรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลอำนวยความสะดวกในการส่งศพกลับประเทศ

ญาติผู้เสียชีวิตหลายคนเผยว่า ต้องยืมเงินหลายหมื่นดอลลาร์เพื่อให้คนเหล่านั้นได้เดินทางไปยุโรป

ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มาจากจังหวัดทางภาคกลาง ที่บางส่วนเป็นพื้นที่ยากจนที่สุดของประเทศ อีกจำนวนหนึี่งมาจากภาคเหนือ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ที่ชะตากรรมของพวกเขาต้องจบลงเช่นนี้เพราะต้องตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ ที่เว็บไซต์เวียดนามนิวส์รายงานว่า ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมาชาวเวียดนามตกเป็นเหยื่อมากถึง 3,476 คน ส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์กลุ่มน้อย

เหวียน ซวน ลัป อธิบดีกรมป้องกันภัยร้ายของสังคม กระทรวงแรงงาน ผู้ทุพพลภาพ และสวัสดิการสังคม กล่าวในเวทีประชุมทบทวนกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและต่อสู้การค้ามนุษย์ โดยอ้างข้อมูลจากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า ทั่วโลกมีคนย้ายถิ่นราว 244 ล้านคน ตัวเลขเพิ่มขึ้นเนื่องจากการก่อการร้าย ความขัดแย้ง และเหตุรุนแรง หลายคนหลายเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์

“เวียดนามถูกมองว่าเป็นจุดเสี่ยงการค้ามนุษย์และลักลอบเข้าเมืองในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง กิจกรรมค้ามนุษย์ทำกำไรให้มากถึงปีละ หลายหมื่นล้านดอลลาร์” เลอ วัน หนั่น รองหัวหน้าสำนักงานต่อต้านการค้ามนุษย์ กระทรวงความมั่นคงสาธารณะให้ความเห็น

ผู้ที่ถูกล่อลวงส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ในชนบทและมีปัญหาการเงิน การศึกษาน้อย ถ้าไม่ว่างงานก็ทำงานภาคเกษตร พวกค้ามนุษย์จึงมักฉวยโอกาสที่เหยื่อขาดแคลนเงินทองและไร้การศึกษา

รองหัวหน้าสำนักงานกล่าวด้วยว่า ชาวต่างชาติหลายคนที่ทำงานในเวียดนามทำหน้าที่เป็นคนกลาง หาแรงงานไปทำงานต่างประเทศแบบผิดกฎหมาย เมื่อพวกเขาถึงต่างประเทศแล้วนายหน้าก็ยึดเอกสารเดินทางไว้ แล้วถูกบังคับให้ทำงานหนักโดยไม่จ่ายค่าแรง

ด้านรัฐบาลฮานอยก็พยายามอย่างมากให้ความช่วยเหลือเหยื่อ ตั้งแต่ปี 2556 ถึงเดือน มิ.ย.ปีนี้ รัฐและหน่วยงานด้านสังคมช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์แล้ว 2,960 คน ประกอบด้วย การช่วยเหลือทางการแพทย์ ดูแลสุขภาพจิต ด้านกฎหมายและวัฒนธรรม รวมถึงการฝึกอาชีพ

อย่างไรก็ตาม ผู้ร่วมประชุมหลายคนเสนอว่า การป้องกันและต่อสู้กับการค้ามนุษย์ และการสนับสนุนเหยื่อหลังได้รับความช่วยเหลือมาจากในประเทศยังไม่ได้รับความสนใจ พวกเขาเสนอให้มีกฎหมายที่ชัดเจนเพื่อตรวจสอบเหยื่อและการดูแล หน่วยงานที่ดูแลพร้อมให้การช่วยเหลือเหยื่อจะต้องประสานงานกันอย่างใกล้ชิด อีกทั้งยังต้องมีทีมงานมืออาชีพ ดูแลผู้ถูกหลอกลวงให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคงโดยเร็วที่สุด