จุดเปลี่ยน ‘สมาร์ท เฮลธ์แคร์’ ก้าวที่ท้าทาย ‘คณะแพทย์ มช.’

จุดเปลี่ยน ‘สมาร์ท เฮลธ์แคร์’ ก้าวที่ท้าทาย ‘คณะแพทย์ มช.’

ก้าวสู่การเป็นโรงเรียนแพทย์ดิจิทัลระดับสากลและเมดิคัลฮับของภูมิภาค

การมาของดิจิทัลสร้างจุดเปลี่ยนให้กับหลากหลายอุตสาหกรรม รวมถึง “วงการแพทย์” ที่วันนี้เทคโนโลยีได้ช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ใหม่ๆ ทั้งมิติของการปฏิบัติงาน การเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลมีโอกาสเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม...

ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ร่วมมือกับซิสโก้ พัฒนา “Smart Connected Healthcare” ผ่านศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีแพทยศาสตรศึกษา (Medical Technology Education Center – MTEC) เพื่อยกระดับประสบการณ์ด้านดิจิทัลเฮลธ์แคร์ รองรับการแพทย์ยุคดิจิทัล

ทั้งนี้ ใช้งบประมาณการลงทุนประมาณ 30 ล้านบาท วางเป็นแหล่งสนับสนุนด้านเทคโนโลยีการศึกษาทางการแพทย์ให้กับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สานพันธกิจที่ต้องการก้าวสู่การเป็นโรงเรียนแพทย์ดิจิทัลระดับสากล และศูนย์กลางทางการแพทย์(Medical Hub) ของภาคเหนือ

157521064487

“เทคโนโลยีดิจิทัลเอื้อให้สามารถเชื่อมโยงทุกแผนกที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน ทำให้บุคลากรทำงานง่ายขึ้น ด้านผู้ป่วยที่มาใช้บริการสามารถสื่อสาร และขอรับบริการต่างๆ ได้สะดวกมากขึ้น พันธกิจของเราให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านการศึกษา การวิจัย และการบริการสุขภาพ”

ครั้งนี้ทางคณะฯ ยังได้ขยายขอบเขตการถ่ายทอดการเรียนการสอนไปยังโรงพยาบาลอีก 6 แห่งในภาคเหนือ ประกอบด้วย โรงพยาบาลนครพิงค์ โรงพยาบาลลำพูน โรงพยาบาลลำปาง โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โรงพยาบาลน่าน และโรงพยาบาลแม่สอด ซึ่งมีนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ถึงปีที่ 6 ของคณะฯ ประจำอยู่

ดึง ‘สมาร์ทโซลูชั่น’ หนุน

สำหรับโซลูชั่นที่นำมาติดตั้งประกอบด้วย “Tele-education” ระบบการเรียนการสอนทางไกล ผ่านระบบจัดการสื่อดิจิทัล(Digital Media Information Technology) รองรับการจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ทุกคนสามารถเข้าถึงเนื้อหา บทเรียน ประสบการณ์ในการวินิจฉัยโรค และการผ่าตัดที่มีความซับซ้อนได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

“Tele-medicine” ระบบแพทย์ทางไกลและการปรึกษาอาการเจ็บป่วยทางไกลกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจากโรงพยาบาลศูนย์ ผ่านระบบวีดิโอคอลล์ที่มีประสิทธิภาพสูงทั้งการเห็นและการได้ยิน เสมือนได้ปรึกษากับแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยตรง โดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาลเอง ซึ่งช่วยประหยัดเวลา ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

“Tele-training / Tele- R&D” การแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ทางการแพทย์ร่วมกับสถาบันการแพทย์ต่างประเทศ รวมถึงโรงเรียนแพทย์และสถาบันการแพทย์ภายในประเทศ เพื่อส่งเสริมความรู้ทางการแพทย์ให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา

“Live surgery” การถ่ายทอดหัตถการทางการแพทย์จากห้องผ่าตัดและห้องฝึกหัตถการจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยสามารถส่งสัญญานได้ทั้งภาพและเสียงไปยังโรงพยาบาลร่วมสอน สถาบันการศึกษา และสถาบันการแพทย์ พร้อมโต้ตอบกันได้ทั้ง 2 ทาง เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้เห็นมุมมองการทำงาน การใช้อุปกรณ์การแพทย์ รวมทั้งประสบการณ์ในการผ่าตัดแบบเรียลไทม์เพื่อเป็นกรณีศึกษาและช่วยทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

"Digital Medical Media” แหล่งผลิตและเผยแพร่สื่อดิจิทัลทางการแพทย์ (digital medical media) เพื่อถ่ายทอดความรู้ทางการแพทย์ ให้แก่นักศึกษา บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนทั่วไปได้ใช้เป็นแหล่งศึกษาสำหรับการเรียนรู้ทางการแพทย์ตลอดชีวิต

’5จี’ สร้างจุดเปลี่ยน

นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยและอินโดจีน ซิสโก้ เผยว่า หลายประเทศประยุกต์ใช้ไอทีเข้ากับการแพทย์และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ขณะที่ประเทศไทยกระทรวงสาธารณสุขกำลังอยู่ระหว่างการร่างแผนยุทธศาสตร์อีเฮลธ์(eHealth) เพื่อผลักดันดิจิทัลเฮลธ์แคร์ให้ก้าวไปสู่การแพทย์ที่เข้าถึงและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในทุกพื้นที่

157521066930

โครงการดังกล่าว ซิสโก้ร่วมสนับสนุนโซลูชั่น “Connected Health” นำเทคโนโลยีไอทีมาเชื่อมโยง ทำให้การให้บริการทำได้แบบครบวงจรมากขึ้นโดยไร้ข้อจำกัด โดยเฉพาะด้านการเชื่อมต่อสื่อสาร

พร้อมกันนี้ ช่วยให้แพทย์สามารถหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาด และให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้ก่อนที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาล และช่วยให้ผู้ป่วยมีบทบาทในการตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของตนเองมากขึ้น

บริษัทคาดว่า ปีหน้าการมาของ 5จี จะยิ่งช่วยให้การให้บริการทางการแพทย์มีประสิทธิภาพ การติดต่อสื่อสารทำได้แบบเรียลไทม์ ไร้ข้อจำกัด

การสำรวจพบว่า ผู้บริโภค 60% พร้อมแบ่งปันข้อมูลส่วนบุคคลที่มาจากแวร์เอเบิลดีไวซ์กับแพทย์เพื่อยกระดับบริการด้านสุขภาพ 82% หวังว่าจะสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเฮลธ์แคร์เช่นเดียวกับที่ได้รับจากบริการด้านอื่นๆ 30% บอกว่าครั้งแรกที่ไปโรงพยาบาลมักหลงหรือรู้สึกสับสน มากกว่า 70% รู้สึกยุ่งยากต่อการค้นหาสถานพยาบาลหรือนัดพบแพทย์ มีผู้ป่วยถึง 65% ที่สนใจรักษากับแพทย์แบบเวอร์ชวล จากปี 2558 ที่เทเลเฮลธ์เติบโต 7% เมื่อปี 2561 เพิ่มขึ้นมาเป็น 22%

ชูไอที ‘ปฏิวัติการแพทย์’

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ยุคเทคโนโลยีดิสรัปชั่นหลายอุตสาหกรรมต้องเร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอดและเติบโต ส่วนของมช.ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบ ยกระดับการเรียนการสอน และการให้บริการในทุกภาคส่วน

“เราเชื่อว่าเทคโนโลยีคือกุญแจสำคัญที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน วันนี้มีความเป็นไปได้อีกมากที่การเชื่อมโยงถึงกันบนโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์จะสามารถสร้างประโยชน์ให้เกิดกับองค์กร ผู้ปฏิบัติงาน ผู้รับบริการ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง”

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเฮลธ์แคร์ที่ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท ช่วยให้คนมีชีวิตยืนยาวขึ้น ปลอดภัยขึ้น สุขภาพแข็งแรงขึ้น สามารถใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพมากขึ้น

ก่อนหน้านี้มช.ใช้งบประมาณการลงทุนกว่า 1,200 ล้านบาทสำหรับปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและบริการทางการแพทย์ มุ่งขยายโอกาสทางการแพทย์ไปยังศูนย์แพทย์เครือข่าย ทำให้ผู้ป่วยซึ่งอาศัยอยู่ในจังหวัดใกล้เคียงมีโอกาสเข้าถึงบริการโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาเชียงใหม่

มช.ตั้งเป้าไว้ว่า ปี 2565 หรือภายใน 3 ปีจากนี้จะกลายเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของภาคเหนือ พร้อมมีส่วนผลักดันการเติบโตการท่องเที่ยวของจังหวัด