สภาอุตฯ จุดพลุเศรษฐกิจหมุนเวียน แชร์ 3 แนวทางเปลี่ยนของเสียให้มีมูลค่า

สภาอุตฯ จุดพลุเศรษฐกิจหมุนเวียน แชร์ 3 แนวทางเปลี่ยนของเสียให้มีมูลค่า

กลุ่มอุตฯการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม ส.อ.ท. จัดการบรรยาย “Circular Economy ความคุ้มค่าและท้าทายของธุรกิจยุคใหม่” ในงาน “CleanTech นวัตกรรมสู่เทรนด์ธุรกิจรักษ์โลก” นำเสนอแนวคิดและทิศทางการปรับตัวของอุตสาหกรรมเพื่อการเติบโตร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

เศรษฐกิจหมุนเวียน เทรนด์เปลี่ยนโลก

นาย เจนวิทย์ กรอบทอง เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้พิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการน้ำดีทางด้านการจัดการของเสีย ธุรกิจบริการและภาคที่ปรึกษา รวมประมาณ 60 บริษัทเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มฯ รวมมูลค่าทางธุรกิจกว่า 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่ภาพรวมธุรกิจด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยมีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท และมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามแนวทาง เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตัวอย่างการดำเนินกิจกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน อาทิ ธุรกิจก่อสร้างโฟกัสกิจกรรมเชิงประหยัดพลังงาน ภาคขนส่งมีแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากรและลดมลพิษ ธุรกิจในกลุ่มเหล่านี้เติบโตต่อเนื่องแม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจโลกจะผกผันก็ตาม


“ในกระบวนการผลิตย่อมมีของเสียเกิดขึ้น จึงต้องจัดการอย่างถูกวิธีตามหลักวิชาการผ่านทางผู้ให้บริการจัดการของเสียอุตสาหกรรมที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม อาทิ กากของเสียเดิมที่ต้องฝังกลบเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันเริ่มมีกลุ่มธุรกิจของปูนซีเมนต์นำมาต่อยอดเป็นเชื้อเพลิงเตาเผาทดแทนเชื้อเพลิงถ่านหินที่ใช้หลักพันตันต่อวัน”

157520256038


ฉะนั้น การนำขยะไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนก็จะส่งผลให้เกิดธุรกิจหมุนเวียนได้เช่นกัน ส่วนของเสียที่จะถูกฝังกลบก็จะต้องนำไปรีไซเคิลให้ได้มากที่สุด เช่น ขวด เสื้อผ้าหรือแม้กระทั่งการนำสมาร์ทโฟนที่เสื่อมสภาพมารีไซเคิลใหม่เพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำได้เกือบ 80% ช่วยลดการขุดแร่ธาตุที่หายาก หรือ Rare Earth แร่ธาตุโลหะเบา องค์ประกอบสำคัญของเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แทบทุกชนิด โดยเฉพาะสมาร์ทโฟน


“ธุรกิจในกลุ่มสมาชิกของเรานั้นโดยเฉพาะกลุ่มปูนซีเมนต์ ได้นำของเสียไปเป็นวัตถุดิบทดแทนและเชื้อเพลิงทดแทนด้วยการเผาร่วมในเตาปูนซีเมนต์ บางโรงงานถึงขั้นนำไปผลิตไฟฟ้าที่ใช้ภายในโรงงานได้อีกด้วย ส่วนกลุ่มรีไซเคิล เช่น การนำน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้วไปเป็นพลังงานทดแทน รีไซเคิลเศษแก้วหรือแม้กระทั่งผู้รวบรวมวัสดุรีไซเคิล ผู้รวบรวมเศษเหล็ก การผลิตน้ำมันไพโรโลซิสจากยางรถยนต์ทั่วไปซึ่งใช้ในสัดส่วนมากถึง 50%ข้อดียางรถยนต์คือ มีจำนวนมากหลักล้านล้านเส้นต่อปี ส่วนธุรกิจบริการ อาทิ การขนส่งกากของเสียอุตสาหกรรม ธุรกิจล้างถังล้างภาชนะทั่วไปในโรงงาน ธุรกิจที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการจัดการ ขณะเดียวกันยังมีการส่งออกอีกด้วย เช่น แผงวงจรไฟฟ้าส่งออกไปยังญี่ปุ่นและเกาหลี"

กลไกการขับเคลื่อนอย่างยั่งยืน

นาย เจนวิทย์ กล่าวอีกว่า เทรนด์ของโลกมีความต้องการทั้งกรีนเทคโนโลยี และการใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยประเด็นที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญในการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม คือ 1.ประเมินความเสี่ยงทางธุรกิจ ให้ครบทุกมิติ ทั้งปัจจัยภายในและภายนอก 2.พิจารณากระแสเงินสด ต้องหมุนเวียนเพียงพออย่างน้อย 4-6 เดือน 3.ต้องพิจารณาจุดคุ้มทุนให้เหมาะสมกับธุรกิจ 4.ต้องเป็นธุรกิจที่อยู่ในความสนใจของโลกหรือตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 5.ทีมงานหรือบุคลากรต้องพัฒนาตนเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี

157520259358
ส่วนแนวทางการจัดการของเสียจากภาคอุตสาหกรรมมี 3 แนวทางคือ 1.การเปลี่ยนของเสียให้เป็นพลังงาน (Waste To Energy) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าการผลิตพลังงานจากขยะ เช่น น้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้วจากศูนย์ซ่อมรถยนต์มารวบรวมเป็นเชื้อเพลิงแทนน้ำมันเตา, โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวคิดของการกำจัดขยะที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจประเภทนี้จะเป็นระดับมหาชน


โดยการนำขยะหมุนเวียนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงานไฟฟ้า ก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่นำมาซึ่งความยั่งยืนในอนาคต 2.การเปลี่ยนของเสียให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ (Waste to Product) อาทิ สารปรับปรุงดินจากตะกอนของระบบบำบัดน้ำเสีย 3.การเปลี่ยนของเสียเป็นธุรกิจบริการและภาคขนส่ง (Waste to Business of Service) เช่น การขนส่งแลกเปลี่ยนของเสียระหว่างโรงงาน, แอพพลิเคชั่นบริการรับซื้อแลกเปลี่ยนขยะตามครัวเรือน ซึ่งมีเอกชนหลายรายร่วมกันส่งเสริมทั้งยังก่อให้เกิดแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ที่อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น อาทิ UNI แอพฯ เชื่อมต่อกันระหว่างผู้บริโภคที่ต้องการจะขายขยะรีไซเคิล รถรับซื้อของเก่า และโรงงานรับซื้อขยะรีไซเคิล

157520262298

ส.อ.ท. ตอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

“กลุ่มธุรกิจเหล่านี้อยู่ได้ เนื่องจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีให้การสนับสนุนการเปลี่ยนของเสียให้กลายเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์ เพราะฉะนั้น ธุรกิจที่อยู่ในเทรนด์โลกซึ่งเป็นธุรกิจยุคใหม่จำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานด้านกรีนเทคโนโลยี” ” นาย เจนวิทย์ กล่าว

นอกจากนี้ กลุ่มอุตฯ ส.อ.ท. ให้การส่งเสริมผู้ประกอบการในทุกมิติ ทั้งการเชื่อมต่อกับแหล่งทุนผ่านสถาบันการเงิน อีกทั้งกลุ่มสมาชิกจะได้รับประโยชน์จากข้อมูลที่แชร์ร่วมกัน พร้อมทั้งการร่วมแสดงความคิดเห็น ผลักดันให้เกิดการเข้าร่วมโครงการต่างๆ และการดูแลผลประโยชน์ของสมาชิกในกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น ข้อกำหนดกฎหมายใหม่ หรือการผลักดันร่วมกับภาครัฐโดยจะเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมแสดงความคิดเห็นกับ พ.ร.บ.ต่างๆ


สำหรับภาครัฐไทยได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทรนด์โลกในเรื่องของ เศรษฐกิจหมุนเวียน ได้เข้ามาประชิดตัวแล้ว และอาจเป็นความท้าทายของธุรกิจยุคใหม่ที่จะต้องมีการปรับตัวเพื่อสอดรับกับปัจจัยต่างๆ ดังนั้น นโยบายจากทั้งภาครัฐและเอกชนจึงมีส่วนสำคัญต่อความร่วมมือเพื่อส่งเสริมให้ห่วงโซ่อุปโภคและบริโภค ได้ตระหนักถึงความสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่นำมาซึ่งการรักษาคุณค่าทรัพยากรให้คงอยู่คู่กับประเทศไทยอย่างยั่งยืน