“แอนิเทค”สตาร์ทอัพในร่างเอสเอ็มอี ดิสรัปปลั๊กไฟสู่ไอโอที

“แอนิเทค”สตาร์ทอัพในร่างเอสเอ็มอี ดิสรัปปลั๊กไฟสู่ไอโอที

“แอนิเทค ” ปลั๊กไฟสัญชาติไทยเติบโตมาจากไอเดียสตาร์ทอัพ พลิกธุรกิจเอสเอ็มอีรับจ้างผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มาสู่การสร้างแบรนด์สินค้าไอทีของภายใต้ สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป ออกสู่กว่า 1,000 รายการชูจุดขายดีไซน์ที่แตกต่าง ผสมผสานความสวยงามกับฟังก์ชันการใช้งาน

หลายคนคงสงสัยถึงความแตกต่างระหว่างสตาร์ทอัพ กับเอสเอ็มอี โดยสตาร์ทอัพมักจะเริ่มต้นธุรกิจจากแนวคิดที่อยากจะแก้ไขปัญหาแล้วเกิดเป็นสินค้า บริการ หรือแอพพลิเคชั่นบนมือถือ ขณะที่เอสเอ็มอีจะมีขนาดธุรกิจที่มีขนาดใหญ่กว่าสตาร์ทอัพ ส่วนใหญ่ใช้เงินทุนของตัวเอง หรือกู้เงินธนาคารเพื่อลงทุน แนวทางการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป จะเป็นแบบไหนดี ลองมาฟังแนวคิดของ พิชเยนทร์ หงส์ภักดี ผู้ที่เป็นทั้งสตาร์ทและเอสเอ็มอี ได้เล่าให้ฟังในงานสัมมนา“Next Trend 2020” ของ SME Thailand ในหัวข้อ “The Next Strategy 2020 คิดแบบ Startup ทำแบบ SME”

พิชเยนทร์ เล่าว่า เส้นทางการเติบโตในโลกธุรกิจของสมาร์ท ไอดี กรุ๊ป เริ่มต้นหลังจากตนเรียนจบทำธุรกิจสตาร์ทอัพผลิตชิปคอมพิวเตอร์กับเพื่อนชาวฝรั่งเศสที่เป็นโปรแกรมเมอร์ เมื่อทำไประยะหนึ่งเริ่มมองถึงเป้าหมายธุรกิจในอนาคต ซึ่งหากทำแบบเดิมจะไม่สามารถเติบโตได้ในระยะยาว จึงหันมาเป็นผู้รับจ้างผลิต(OEM: Original Equipment Manufacturer) เม้าท์ หูฟัง การ์ดรีดเดอร์ ให้กับแบรนด์สินค้าไอที

จากนั้น ได้มองเห็น ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการรับจ้างผลิต จึงหันมาสร้างแบรนด์เป็นของตนเองเพื่อความมั่นคงในการทำธุรกิจระยะยาว โดยเริ่มจากจากสร้างแบรนด์ แอนิเทค (Anitech), โนบิ (Nobi), เอจี (aG) และเพนทากอนซ์ (Pentagonz) จำนวนกว่า 1,000 รายการ แนวทางของการสร้างแบรนด์ ‘แอนิเทค’ ให้แตกต่างจากคู่แข่งในตลาดปลั๊กไฟฟ้าต่อพ่วงและอุปกรณ์ ป้องกันภายในบ้านที่อยู่ในตลาดกว่า 30 แบรนด์ ด้วย ‘ดีไซน์’ ที่แปลกและแตกต่างจากปลั๊กที่มีอยู่ในตลาดทั้งสีสัน หน้าตาที่มีกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นสะท้อนถึงคุณภาพสินค้าไปด้วยในตัว สามารถดึงดูดให้ลูกค้าซื้อสินค้าและจดจำแบรนด์ได้อย่างรวดเร็ว โดยในช่วง 14 ปีที่ผ่านมายอดขายโต 600เท่า มียอดขายกว่า10ล้านชิ้น

เราให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เน้นฟังก์ชั่นการใช้งานมาผสมผสานกับแฟชั่นดีไซน์ที่สร้างสีสันจนกลายเป็นจุดเด่นที่สร้างความแตกต่างจากสินค้าที่มีในตลาดช่วงเวลานั้น เพราะหลายคนมองข้ามเรื่องดีไซน์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจในยุคนี้คือทำสิ่งที่น้อยแต่ได้ผลมาก

ขณะเดียวกันสิ่งที่มองข้ามไม่ได้สำหรับการทำธุรกิจคือดิจิทัลเทรนด์ที่เข้ามามีบทบาทในทุกมิติในมุมมองของ พิชเยนทร์ เลือกที่จะทำในสิ่งที่เหมาะสมกับธุรกิจของตนเองด้วยการลงมาเล่นในตลาดผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้องกับ อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ หรือไอโอที ( Internet of Things : IoT) ซึ่งเป็น”ขุมทรัพย์” ที่ไม่มีวันหมด เพราะมีการคาดการณ์ว่า ในปี2563 จะมีบริษัทมากกว่า65%ที่ใช้ผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นไอโอทีเพิ่มขึ้น และในปี2568 ตลาดผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับไอโอทีจะมีมูลค่าประมาณ63ล้านล้านบาท ในอนาคตอุปกรณ์ ดีไวซ์ต่างๆในชีวิตประจำวันจถถูกต่อเชื่อมการใช้งานผ่านอุปกรณ์ไอโอที

แม้ธุรกิจยังคงหวาดกลัวกับคำว่า“ดิสรัปชั่น” ซึ่ง ไม่ใช่แค่ เทคโนโลยี แต่รวมถึงพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนเร็วจนธุรกิจเปลี่ยนตามไม่ทัน พิชเยนทร์ มองว่า ดิสรัปชั่น เป็น โอกาส ของคนตัวเล็กเสมอ เพียงแต่ว่าต้องหาช่องว่างให้เจอว่า จะเข้ามาไปเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่เข้าไปตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างไร ทั้งในรูปแบบของ บีทูซี (Business-to-Consumer) และบีทูบี (Business-to- Business )

จากเดิมที่ขายอุปกรณ์ให้กับผู้บริโภคขยับมาให้บริการในรูปแบบโซลูชั่นให้กับลูกค้าทำธุรกิจไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โรงแรม หรือโรงพยาบาล ยกตัวอย่างการวางระบบควบคุมเตาสุกี้ ตู้เย็นในร้านอาหาร เพื่อเกิดความถูกต้องแม่นยำ เพื่อลดการสูญเสียต้นทุนวัตถุดิบ และเพิ่มบริการที่เป็นระบบมากขึ้น

พิชเยนทร์ กล่าวว่า ในยุคที่ผู้บริโภคมีตัวเลือกในการซื้อสินค้ามากขึ้นโดยผ่าน มัลติ ชาแนลคอมเมิร์ซ ในประเทศไทยมีการเติบโตของตลาดอี-คอมเมิร์ซอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการเป็นต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในอี-คอมเมิร์ซ โดยจะต้องทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มที่มีอยู่เพราะหัวใจของการทำมัลติ แชลแนลคอมเมิร์ซ คือ เอาลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ลูกค้าเราอยู่ตรงไหนสินค้าบริการเราก็ต้องไปอยู่ตรงนั้น

ขณะที่ประเด็นเรื่อง ตอบแทนโลก ผู้คนและสังคม  ก็กลายเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะจากการสำรวจพบว่า 65 %ของผู้บริโภคทั่วโลกจะ ‘ไม่ซื้อ’สินค้าที่มีประเด็นทางสังคมด้านลบ เนื่องจากแนวโน้มผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับเรื่องการดูแลโลก สังคม และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น พร้อมกันนี้สิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องใส่ใจตั้งแต่แรกคือ จะสร้างธุรกิจขึ้นเพื่อขายหรือสร้างขึ้นเพื่อให้คงอยู่ตลอดไป เพราะหากอยากอยู่อย่างยั่งยืนในระยะยาวต้องแวงแผนการดำเนินธุรกิจที่ถูกต้องและเป็นมืออาชีพตั้งแต่วันแรก

ผมตั้งเป้าตั้งแต่แรกที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ฉะนั้นทำบัญชีเล่มเดียวและเลือกคนที่มีฝีมือเข้ามาทำงาน ใช้ระบบการควบคุมภายในที่เป็นแบบเดียวกับบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ตั้งแต่วันแรก ไม่ใช่อยู่ดีๆ มันเกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญทีน่าเป็นห่วงในปีหน้าคือ ความผันผวนของเศรษฐกิจ จากดัชนีทางเศรษฐกิจหลายตัวที่ออกมาก่อนหน้านี้ เต็มไปด้วยปัจจัยลบ แต่ในมุมมองของ พิชเยนทร์ ทุกวิกฤตคือโอกาสของคนที่ลุกขึ้นมาทำ เพราะถ้าทำในเวลาที่คนอื่นหมดแรง จะมีที่ยืนและมีโอกาสชนะคนอื่นได้ จึงมองว่าปีหน้ายัง เป็น โอกาสของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่จะได้พัฒนาตัวเอง โดยใช้ความเป็นนักสู้ ในการสร้างโอกาสและความสำเร็จให้กับองค์กร

ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร เอสเอ็มอีแบบเรา ทำเต็มที่เสมอ ไม่เคยมีช่วงเวลาให้เราหยุดพักอยู่แล้ว ฉะนั้นรักจะเป็นผู้ประกอบการต้องเหมือนวิ่งมาราธอนตลอดเวลา หยุดพัก กินน้ำได้ แต่ต้องวิ่งต่อเสมอ นี่คือความแตกต่างของคนที่จะประสบความสำเร็จและไม่สำเร็จ ฉะนั้นถ้าคุณเป็นนักวิ่งมาราธอนและวิ่งไม่หยุด คุณจะสำเร็จในวันหนึ่งอย่างแน่นอน

-------------- 

6 เทรนด์น่าจับตา

1.Desing Focus

2.Digital Transformation

3.Multi-channel E-commerce

4.ปีแห่งการตอบแทนโลกและสังคม

5.Built to sell /Built to last

6.ปีแห่งความผันผวนและน่าเป็นห่วง