Green Pulse l ธรรมาภิบาลการค้าไม้ในที่ดินรัฐ

Green Pulse l ธรรมาภิบาลการค้าไม้ในที่ดินรัฐ

ป้าบัวเขียว ประธิสาร มีความฝัน. น้ายงยุทธ แสงศรีก็มีความฝัน.

ชาวบ้านทั้งสองในอำเภอสันติสุข จังหวัดน่านที่ได้ชื่อว่าเกือบ 90% ของพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดคือพื้นที่ป่า ฝันว่า ซักวันหนึ่งพวกเขาจะสามารถตัดไม้สักที่ปลูกเอาไว้ในแปลงไม่กี่ไร่นี้ขายเป็นทุนเอาไว้ให้สำหรับลูกหลาน

จะผิดก็เพียงแต่แปลงสักของพวกเขายังเป็นที่ดินของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นแปลงสักของป้าบัวเขียวที่เป็นพื้นที่ ส.ป.ก หรือพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม หรือแปลงสักของน้ายงยุทธที่เป็นพื้นที่ คทช. หรือพื้นที่ป่าที่รัฐจัดให้ชุมชนทำกิน

นั่นเป็นเหตุให้ความฝันของพวกเขายังเป็นแค่ความฝัน เพราะปัญหาอุปสรรคสำคัญของการทำไม้ในพื้นที่เหล่านี้ในข้อค้นพบล่าสุดของ ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTCคือพื้นที่เหล่านี้ ยังมีนโยบายหรือระบบระเบียบรับรองการทำไม้ระดับชุมชนในที่ดินของรัฐที่ยุ่งยาก ในกรณีของที่ดินประเภท ส.ป.ก. หรือแทบจะเรียกว่าไม่มีเลย ในกรณีของที่ดินประเภท คทช. ซึ่งเป็นนโยบายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนของรัฐบาลล่าสุดเพื่อแก้ปัญหาคนอยู่กับป่าที่คาราคาซังมานานนับสิบๆปี โดยมีหัวใจสำคัญคือการอนุญาตให้อยู่อย่างถูกกฏหมาย ตามเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนด ตามสภาพพื้นที่ป่าที่แบ่งออกเป็นลุ่มน้ำต่างๆ 5 ระดับ

การทำไม้ระดับชุมชนที่ผ่านมา เป็นช่องทางหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามว่าเป็นส่วนหนึ่งของการลักลอบทำไม้เถื่อนในพื้นที่ โดยเฉพาะทางภาคเหนือเพราะยังไม่มีระบบจัดการที่ชัดเจน โดยเฉพาะในพื้นที่รัฐที่มีพื้นที่ติดกับป่าไม้ธรรมชาติที่เป็นข้อกังวลว่าอาจเปิดช่องการสวมตอไม้ได้ง่าย

การทำไม้ในประเทศ เริ่มกลับมามีความสำคัญในระบบเศรษฐกิจ หลังจากรัฐบาลปิดสัมปทานป่าไม้ในช่วงทศวรรษที่ 2530 และเปลี่ยนนโยบายในช่วงปี 2535 โดยตัดสินใจอนุญาตการทำไม้อีกครั้ง ผ่านพระราชบัญญัติสวนป่าที่มีการออกแบบกฏระเบียบและวางระบบรองรับสำหรับการทำไม้เชิงเศรษฐกิจ

หากแต่ในระดับครัวเรือนแล้ว การทำไม้ โดยเฉพาะไม้หวงห้ามที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเกือบ 60 ชนิด รวมทั้งไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัน ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดผ่านมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติป่าไม้ปี 2484 ที่ห้ามประชาชนตัดไม้หวงห้ามเหล่านี้ รวมทั้งในที่ดินของตนเอง นอกจากจะมีการขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ซึ่งมีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน

จนกระทั่งรัฐบาลได้ริเริ่มเจรจาการค้าไม้กับ EU ซึงมีตลาดไม้มูลค่ากว่า 2พันล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2556 เพื่อให้ได้รับการรับรองผ่านช่องทางพิเศษที่สะดวกขึ้นในการค้า จึงได้มีการพิจารณาปรับปรุงระบบจัดการและรับรองไม้ในประเทศ โดยมีการแก้ไขมาตรา ...ป่าไม้ 2484 ให้ไม้ทุกชนิดที่ปลูกในดินกรรมสิทธิ์ไม่ใช่ไม้สงวนหวงห้าม ส่งผลให้การทำไม้ไม่ต้องขออนุญาตอีกต่อไป เว้นแต่กรณีที่ต้องการส่งออกไม้ หรือผลิตภัณฑ์ออกนอกราชอาณาจักร 

โดยกรมป่าไม้ได้วางระบบการขึ้นทะเบียนไม้ (E-Tree) แทนการควบคุมและขออนุญาต และพัฒนาระบบตรวจสอบติดตามการทำไม้และค้าไม้ของประเทศขึ้นใหม่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างระบบประกันความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ (Timber Legality Assurance System: TLAS) ทั้งนี้เพื่อให้ได้มาตราฐานการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาลและการค้า Forest Law Enforcement, Governance and Trade (FLEGT) ของEU

และส่วนหนึ่งของระบบที่ต้องพัฒนาคือระบบจัดการและรับรองไม้จากแหล่งกำเนิด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนของการค้าไม้นั่นเอง

ในขณะที่กรมป่าไม้เริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบการดูแลจัดการและรับรองไม้ในที่ดินกรรมสิทธิ หากไม้ของประชชนที่อยู่ในที่ดินของรัฐยังเป็นคำถามที่ยังไร้คำตอบ

157517818334

วรางคณา รัตนรัตน์ ผู้อำนวยการแผนงานประเทศไทย ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) กล่าวว่า ศูนย์ฯ คิดถึงประเด็นการเข้าถึงระบบการค้าใหม่ของประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่อาศัยในที่ดินของรัฐ เพราะจากโครงการศึกษาระบบควบคุมห่วงโซ่อุปทานไม้บนพื้นที่รัฐ ที่อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน ในปีที่ผ่านมาและการระดมความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศูนย์ฯ พบข้อท้าทายหลายประการที่มีนัยยะต่อการสร้างธรรมาภิบาลการค้าไม้ ซึ่งทางศูนย์ฯ จะรวบรวมเพื่อเสนอแก่คณะเจรจาฯของไทยเพื่อนำไปสู่การออกแบบเชิงนโยบายต่อไป

โดยจากการศึกษาของรีคอฟ พบว่า ในที่ดินเขต ส.ป.ก ขอบเขตที่ดินระหว่าง ส.ป.ก.และ พื้นที่ป่ายังไม่มีความชัดเจน, กระบวนการเข้าถึงระบบของเกษตกรรายย่อยยังคงมีข้อจำกัด เช่น เกษตรกรไม่รู้กระบวนการในการขออนุญาตการขออนุญาตทำไม้ยังคงมีความยุ่งยาก

ทำให้เกิดระบบพ่อค้าคนกลาง ส่งผลให้เกษตรกรได้ราคาไม้ต่ำเพราะถูกกดราคาเกษตรกรขาดความรู้เรื่องการจัดการสวนป่าทีดีทำให้ไม้ในสวนไม่มีคุณภาพและระบบการขึ้นทะเบียนยังคงสับสน ระหว่าง E-Tree หรือ การใช้สวนป่าออนไลน์

ส่วนในที่ดิน คทช. รีคอฟพบว่า ยังคง “ไม่มีระเบียบและระบบที่ชัดเจน” ในการขออนุญาตทำไม้ประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจในเงื่อนไขของสิทธิที่ดิน, ปัญหาการจำแนกต้นไม้ธรรมชาติและปลูกขึ้นในภายหลังในที่ดินทำประโยชน์อำนาจการขออนุญาตยังคงอยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด, และยังไม่มีการส่งเสริมอาชีพเรื่องการทำไม้และการดูแลคุณภาพไม้

ข้อค้นพบเหล่านี้ คือความท้าทายในการดูแลจัดการไม้ในพื้นที่รัฐระดับชุมชนต่อการค้าไม้ของประเทศในอนาคต รีคอฟสรุป

เพื่อทดลองสร้างระบบในการจัดการไม้ระดับชุมชนในพื้นที่รัฐที่ยังไม่มีระบบระเบียบที่ชัดเจนนี้เพื่อช่วยราษฎรในพื้นที่เตรียมตัวรองรับนโยบายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยรีคอฟได้จัดทำโครงการนำร่องการจัดทำระบบควบคุมห่วงโซ่อุปทานไม้บนที่ดินรัฐในตำบลสันติสุข สร้างระบบการขึ้นทะเบียนต้นไม้ในพื้นที่ราษฎรด้วยการส้รางรายการบัญชีต้นไม้ทุกต้นในพื้นที่ผ่านค่าพิกัด และการตรวบสอบรับรอง “ใบเกิด” หรือใบแสดงสิทธิการใช้ที่ดินของราษฎร เกิดเป็นชุดข้อมูลที่สามารถนำไปเชื่อและต่อยอดกับของทางรัฐได้ในอนาคต

ผญบ. อำมาลา พรมสะวะนา บ้านป่าแลวหลวง หนึ่งในพื้นที่ทดลองกล่าวว่า ชาวบ้านรู้สึกได้รับประโยชน์จากโครงการนำร่องเพราะเป็นการเรียนรู้การจัดทำข้อมูลไม้ในที่ดินของตัวเอง ที่ราษฎรจะสามารถใช้พูดคุยกับทางรัฐในโอกาสต่อไปได้

อำมาลายอมรับว่า ความไม่ชัดเจนในการจัดการและรับรองไม้ระดับชุมชนในที่ดินของรัฐนี้ทำให้ชาวบ้านมีความสับสนและทำให้ต้องเสียเปรียบพ่อค้าคนกลางที่เข้ามารับซื้อไม้จากสวนป่าที่ได้รับอนุญาต โดยเฉพาะในพื้นที่ ส.ป.ก.

อำมาลากล่าวว่า ชาวบ้านต้องการการสนับสนุนจากรัฐที่ยั่งยืนมากกว่าการยัดเยียดหรือการลงโครงการหนึ่งโครงการใดแล้วหายไปอย่างที่ผ่านมา อเพื่อพวกเขาจะได้มีโอกาสพัฒนาคุณภาพไม้และคุณภาพชีวิตอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ การรวมกลุ่ม ยังเป็นสิ่งที่อำมาลาต้องการให้รัฐสนับสนุนนอกเหนือจากการสร้างความชัดเจนของระบบจัดการไม้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอีกด้วย

“เราอยากให้เค้าอยู่กับป่าได้ คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ แต่ยังไม่รู้เลยว่าจะทำยังไง ยังคลำทางกันไม่ถูกเลย” อำมาลากล่าว

วิจารณ์ เสนสกุล ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมป่าไม้ ยอมรับว่าการจัดการและการรับรองการทำไม้ของชุมชนในที่ดินของรัฐ ยังมีความคลุมเครือ โดยเฉพาะ ในที่ดิน คทช. 

เขากล่าวว่า เป็นเรื่องจำเป็นที่กรมฯ ต้องเร่งทำระบบจัดการนี้ให้ชัดเจน โดยเขาเห็นว่า การจัดการแบบระบบสวนป่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้เพราะมีความเหมาะสมทั้งในเรื่องการมีระบบการรับรองตัวเองของเจ้าของไม้และบทลงโทษที่จะช่วยกำกับการทำไม้ในพื้นที่ได้ดีกว่ากฎหมายป่าไม้ที่มีอยู่ เนื่องจากมีระเบียบขั้นตอนที่เข้มงวด

ภาวิณี อุดมใหม่ ที่ปรึกษาทางกฏหมาย FLEGT VPA ประเทศไทยกล่าวว่า ปัญหาในเชิงนโยบายของการทำไม้ในระดับชุมชนโดยเฉพาะในที่ดินของรัฐคือการที่ภาครัฐมักส่งเสริมให้ประชาชนปลูกต้นไม้ แต่ไม่มีการส่งเสริมทางด้านตลาด ทำให้มักมีปัญหาเรื่องคุณภาพไม้ที่จะแข่งขันในการค้าและส่งออก

นอกจากนี้ภายใต้ข้อตกลงของFLEGT ยังมีมิติเรื่องความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมการจัดการที่เอื้อต่อระบบบนิเวศที่ต้องคำนึงถึงในการทำและค้าไม้อีกด้วยภาวิณีกล่าว