ข้อกีดกันการค้าสหรัฐชนวนสร้างปมขัดแย้งทั่วโลก

ข้อกีดกันการค้าสหรัฐชนวนสร้างปมขัดแย้งทั่วโลก

กรณีพิพาทการค้าที่เกิดขึ้นทั่วโลกทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากประเทศใดประเทศหนึ่งใช้มาตรการกีดกันการค้ากับประเทศคู่กรณี จนนำไปสู่ปัญหาขัดแย้งที่หาจุดร่วมกันไม่ได้ เช่นกรณีสหรัฐและจีน ที่ขัดแย้งกันยืดเยื้อยาวนานข้ามปี และยังไม่มีทีท่าว่าจะตกลงกันได้

ล่าสุด ยูเลอร์ เออร์เมส ได้เผยแพร่รายงานที่บ่งชี้ว่า นับตั้งแต่ปี 2551 บรรดาประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าใช้มาตรการกีดกันการค้ากันมากขึ้นและในจำนวนนี้ สหรัฐ เป็นประเทศที่ใช้มาตรการกีดกันการค้ามากที่สุดจำนวน 790 มาตรการ อันดับ 2 คืออินเดีย 566 มาตรการ อันดับ 3 รัสเซีย จำนวน 423 มาตรการ อันดับ 4 เยอรมนี จำนวน 390 มาตรการ

อันดับ 5 สหราชอาณาจักร จำนวน 357 มาตรการ อันดับ 6 บราซิลจำนวน 302 มาตรการ อันดับ 7 ฝรั่งเศส จำนวน262 มาตรการ อันดับ 8 จีน จำนวน 256 มาตรการ อันดับ 9 เม็กซิโกจำนวน 103 มาตรการ และอันดับ10 ซาอุดิอาระเบีย จำนวน 44 มาตรการ

ไม่น่าแปลกใจที่สหรัฐมีคู่กรณีหลายประเทศด้วยกัน เพราะความที่สหรัฐมีมาตรการกีดกันการค้าแบบถี่ยิบแบบนี้นี่เอง โดยเฉพาะคู่กรณีที่เป็นยักษ์ใหญ่มีศักยภาพสูสีกันอย่างจีน ที่ช่วงนี้สร้างความปั่นป่วนแก่บรรดานักลงทุนในตลาดหุ้น และตลาดทุนวุ่นวายไปหมด กับข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏตามหน้าสื่อ

ทำให้เกิดความสับสนว่าจริงๆแล้วการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน เพื่อที่จะนำไปสู่การปิดฉากสงครามการค้าระหว่างกัน มีความคืบหน้าหรือไม่คืบหน้า ยังติดขัดอุปสรรคข้อใดบ้าง และต้องใช้เวลาอีกมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งสหรัฐและจีนจึงจะลงนามข้อตกลงการค้าเฟสแรกร่วมกันได้ภายในปีนี้หรือไม่

กระแสข่าวที่ชวนให้สับสนงงงวยนี้เอง ทำให้เมื่อวันที่ 22พ.ย. ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ออกมาสร้างความชัดเจนด้วยการบอกว่า จีน ต้องการบรรลุข้อตกลงการค้าเฟสแรกกับสหรัฐ และพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดสงครามการค้าระหว่างกัน แต่ขณะเดียวกัน จีนก็ไม่กลัวถ้าจะต้ัองดำเนินมาตรการตอบโต้สหรัฐเมื่อจำเป็น

“เราต้องการทำงานเพื่อให้เกิดการบรรลุข้อตกลงการค้าเฟสแรกร่วมกันบนพื้นฐานของความเท่าเทียมและเคารพซึ่งกันและกัน แต่หากสถานการณ์พลิกผัน เราก็พร้อมดำเนินมาตรการตอบโต้ ที่ผ่านมา เราทำงานอย่างหนักเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดสงครามการค้า ซึ่งส่งผลกระทบไม่เฉพาะกับจีนและสหรัฐ แต่ส่งผลกระทบไปยังเศรษฐกิจโดยรวมด้วย ”ประธานาธิบดีสี กล่าว

คำพูดของสี สอดคล้องกับคำพูดของเกา เฟิง โฆษกกระทรวงพาณิชย์จีน ที่แถลงว่า จีนมีความยินดี บนพื้นฐานความเท่าเทียมและเคารพซึ่งกันและกันกับสหรัฐ ทำงานร่วมกันแก้ปัญหาที่ยังกังวล และต้องการทำข้อตกลงการค้าเฟสแรก ทั้งยังบอกว่าข่าวลือภายนอกเรื่องข้อตกลงการค้าล้วนไม่จริง และว่าตัวแทนทั้งสองฝ่ายยังคงติดต่อสื่อสารกันอย่างใกล้ชิด

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนให้ความเห็นว่า นัดหมายถัดไปที่ต้องจับตาคือ วันที่ 15 ธ.ค. นี้ ซึ่งมาตรการเก็บภาษีศุลกากรสินค้าจีนมูลค่าราว 156,000 ล้านดอลลาร์จะมีผลบังคับใช้

“คริสเตียน วิตตัน” นักวิชาการอาวุโสด้านยุทศาสตร์และการค้าของศูนย์เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ และอดีตที่ปรึกษาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รวมถึงคณะบริหารของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช มองว่า ถ้าการเจรจาราบรื่น สหรัฐจะระงับการขึ้นภาษีดังกล่าว แต่ถ้าสถานการณ์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เหตุการณ์จะเป็นไปในทางตรงกันข้ามและทำให้ข้อตกลงการค้าเฟสแรกลากยาวไปถึงปีหน้า

และการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ของสหรัฐ ลงนามบังคับใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยฮ่องกง หลังจากสภาคองเกรสลงมติผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จะทำให้การเจรจาการค้ากับจีนมีปัญหาตามที่หลายฝ่ายวิตกกังวลหรือไม่ “ไมเคิล เฮอร์สัน” จากยูเรเชีย กรุ๊ป ให้ความเห็นว่า การลงนามรับรองกฏหมายสนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกงของทรัมป์จะไม่ทำให้การเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐล่มแน่นอน

“แน่นอนว่า รัฐบาลปักกิ่งไม่พอใจที่สหรัฐเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของจีนและแสดงท่าทีชัดเจนว่าสนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วง แต่รัฐบาลปักกิ่งจะไม่ยอมให้เรื่องนี้มามีอิทธิพลเหนือเรื่องเศรษฐกิจหรือการค้าที่เป็นผลประโยชน์มหาศาลของประเทศแน่นอน ”ผู้เชี่ยวชาญจากยูเรเชีย กล่าว

ขณะที่นักวิเคราะห์คนอื่นๆ มองว่า ตอนนี้เดิมพันการเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐสูงขึ้นมาก นับตั้งแต่ทั้ง2ฝ่ายพยายามหารือร่วมกันมาเพื่อผ่าทางตันเรื่องนี้ และต่างก็บอบช้ำเพราะการตอบโต้กันไปมาด้วยมาตรการภาษี ที่สำคัญ จีนอาจจะถูกเรียกเก็บภาษีรอบใหม่วันที่ 15 ธ.ค.นี้ หากว่าไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าร่วมกับสหรัฐได้ นั่นเท่ากับว่า จีนซึ่งปัจจุบัน เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราต่ำสุดในรอบหลายสิบปี ต้องแบกภาระทางเศรษฐกิจเพิ่ม

ส่วนสหรัฐ ซึ่งต้องการหลีกเลี่ยงการก่อต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงขึ้นและไม่ต้องการให้ผู้บริโภคอเมริกันได้รับผลกระทบในช่วงใกล้เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปีหน้า ก็เสียผลประโยชน์ไม่น้อยไปกว่ากัน

“การเก็บภาษีรอบใหม่ในเดือนธ.ค.จะเน้นไปที่สินค้าอุปโภค-บริโภคซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อครัวเรือนอเมริกัน และส่งผลกระทบมากกว่าทุกรอบ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลสหรัฐภายใต้การบริหารของทรัมป์ ลังเลใจที่จะเดินหน้าเก็บภาษีสินค้าจากจีนล็อตวันที่ 15 ธ.ค. เนื่องจากสถานการณ์นี้ดำเนินมาถึงจุดที่การเก็บภาษีส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจสหรัฐแล้ว”จูเลียน อีแวนส์-พริทชาร์ด นักเศรษฐศษสตร์อาวุโสด้านจีนจากแคปิตัล อีโคโนมิกส์ ให้ความเห็น