ซูเปอร์โพล เผยปชช.หนุนรัฐบาลเพิ่มขึ้น หลังมาตรการชิมช้อปใช้

ซูเปอร์โพล เผยปชช.หนุนรัฐบาลเพิ่มขึ้น หลังมาตรการชิมช้อปใช้

ซูเปอร์โพล เผยผลสำรวจจุดยืนการเมืองปชช. พบสนับสนุนรัฐบาลประยุทธ์เริ่มสูงขึ้น หลังมีมาตรการชิมช้อปใช้ ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ของประชาชน 

เมื่อวันที่ 30 พ.ย.62 นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง แนวโน้มจุดยืนการเมืองประชาชน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,098 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20 - 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา พบว่า

แนวโน้มฐานสนับสนุนของประชาชนต่อรัฐบาลเริ่มเงยหน้าสูงขึ้นหลังจากตกต่ำลงตั้งแต่ช่วงหลังเลือกตั้งเป็นต้นมาคือ ร้อยละ 23.3 ในเดือนเมษายน ร้อยละ 10.1 ในเดือนกรกฎาคม ร้อยละ 17.1 ในเดือนกันยายน ร้อยละ 14.1 ในเดือนตุลาคม และขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 25.6 ในการสำรวจล่าสุดเดือนพฤศจิกายน โดยสาเหตุหลักมาจากมาตรการชิมช้อปใช้และมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลในการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ของประชาชน 

ที่น่าพิจารณาคือ จำนวนของผู้ไม่สนับสนุนรัฐบาลลดลงจากร้อยละ 42.2 ในเดือนตุลาคม มาอยู่ที่ร้อยละ 25.4 ในการสำรวจล่าสุดเดือนพฤศจิกายน อย่างไรก็ตาม กลุ่มพลังเงียบยังคงเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในทุกช่วงเวลาของการวัดคือ ร้อยละ 56.1 ในเดือนเมษายน ร้อยละ 55.5 ในเดือนกรกฎาคม ร้อยละ 46.0 ในเดือนกันยายน ร้อยละ 43.7 ในเดือนตุลาคม และล่าสุดเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 49.0 ในเดือนพฤศจิกายน

เมื่อจำแนกออกตามกลุ่มช่วงอายุ หรือ Generation ต่าง ๆ พบว่า กลุ่มคนสูงอายุหรือ Gen Baby Boom+ เป็นกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลมากที่สุดคือร้อยละ 28.6 ในขณะที่กลุ่ม Gen Z ยังเป็นกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลน้อยสุดคือร้อยละ 17.9 อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจคือ กลุ่ม Gen Y ที่สนับสนุนรัฐบาลมีสัดส่วนสูงกว่ากลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาลคือ ร้อยละ 26.8 ต่อร้อยละ 22.6 ในขณะที่ กลุ่ม Gen X กลับมีกลุ่มคนที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลมากกว่าคือร้อยละ 28.0 ต่อร้อยละ 23.9

นอกจากนี้ เป็นที่น่าพิจารณาเช่นกันว่า กลุ่มคนรายได้น้อยคือรายได้ไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน มีฐานสนับสนุนรัฐบาลมากกว่ากลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาลคือ ร้อยละ 28.3 ต่อร้อยละ 25.8 และกลุ่มคนเริ่มทำงานใหม่อัตราเงินเดือนช่วง 10,0001 – 15,000 บาท เกินกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 36.1 ที่สนับสนุนรัฐบาลมากกว่ากลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาลที่มีอยู่ร้อยละ 27.2 และเป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มคนรายได้สูงตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไปมีสัดส่วนของคนที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลมากกว่ากลุ่มสนับสนุนคือร้อยละ 31.1 ต่อร้อยละ 14.8  

ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ กลุ่มคนต่างจังหวัดเริ่มสนับสนุนรัฐบาลมากกว่ากลุ่มคนกรุงเทพมหานคร คือร้อยละ 29.1 ต่อร้อยละ 22.0 ในขณะที่กลุ่มคนกรุงเทพมหานครร้อยละ 28.3 ไม่สนับสนุนรัฐบาลมีสัดส่วนมากกว่าคนต่างจังหวัดที่มีอยู่ร้อยละ 22.4 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้กำลังตอกย้ำ ทฤษฎีแก้วสามใบ ที่แต่ละแก้วมีนัยสำคัญทางการเมืองคือ สนับสนุนรัฐบาล ไม่สนับสนุนรัฐบาล และพลังเงียบ และแก้วแต่ละใบมีทั้งน้ำและตะกอนโดยในส่วนของน้ำไหลเวียนเปลี่ยนแก้วได้เพราะยังไม่ตกตะกอนขึ้นอยู่กับว่าประชาชนได้อะไรจากนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล เช่น ชิมช้อปใช้ที่พรรคพลังประชารัฐผลักดัน การประกันราคาพืชผลทางการเกษตรที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังทำให้เกิดผล เป็นต้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าเมื่อประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้ประโยชน์ที่จับต้องได้ย่อมส่งผลทำให้น้ำในแก้วไม่หนุนรัฐบาลไหลไปลงในแก้วใบอื่นคือ แก้วสนับสนุนรัฐบาล และแก้วพลังเงียบ แต่กลุ่มที่เป็นฮาร์ดคอร์ตะกอนเหนียวในแก้วไม่สนับสนุนรัฐบาลยังคงเหมือนเดิมไม่ไหลเวียนเปลี่ยนใจไปเป็นแก้วใบอื่น