จี้กรมชลฯ หยุดอ่างเก็บน้ำน้ำงาว

จี้กรมชลฯ หยุดอ่างเก็บน้ำน้ำงาว

จี้กรมชลฯ หยุดอ่างเก็บน้ำน้ำงาว ย้ำ ขาดการมีส่วนร่วม-ทำลายวิถีชุมชนกะเหรี่ยง

วานนี้ (29 พ.ย. 62) ชาวกะเหรี่ยงบ้านขวัญคีรี ต.บ้านร้อง อ.งาว จ.ลำปาง ในนามกลุ่มรักษ์น้ำงาว เครือข่ายชาติพันธุ์จังหวัดลำปาง สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) กว่า 100 คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมชลประทานผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เพื่อแสดงเจตนารมณ์คัดค้านเวทีปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำน้ำงาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดลำปาง เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการว่าจ้างบริษัทมาศึกษาผลกระทบไม่ชอบธรรมและขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในพื้นที่ โดยมี ก่อพงษ์ โกมลรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางเป็นผู้รับหนังสือแทนศรีทอง สมพงษ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 11 บ้านขวัญคีรี ต.บ้านร้อง อ.งาว จ.ลำปาง เห็นว่ากระบวนการที่ผ่านมาไม่รับฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่ และกล่าวว่าชุมชนจะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในด้านที่ดินและด้านวิถีวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยง พร้อมฝากถึงรัฐบาลให้แก้ปัญหาให้ประชาชน 

"คือมันมีผลกระทบเช่น ที่นา ที่ไร่ ที่สวน และที่โรงเรียน อาจจะกระทบถึงหมู่บ้านด้วย กระเหรี่ยงอยู่อาศัยแบบเครือญาติและอยู่กับป่า เพราะถ้าเขาสร้างป่าจะสูญหายไปหมดเลย ป่านับไม่ถ้วนกี่ร้อยกี่พันปีมันจะสูญหายไปหมดเลย ไม่ว่าจะพืชผักที่ชาวบ้านหากินประทังชีวิต ชาวบ้านก็จะไม่สามารถหาได้แล้วครับ อยากบอกให้รัฐบาลยกเลิกโครงการนี้ เพราะโครงการนี้ลิดรอนสิทธิของชาวบ้าน แล้วชาวบ้านก็ไม่ได้มีสิทธิในกระบวนการใดๆ ที่ผ่านมา และถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ยกเลิกเลยครับ" ศรีทองกล่าว

จาก "เอกสารสรุปลักษณะโครงการอ่างเก็บน้ำแม่งาว อำเภองาว จังหวัดลำปาง" ระบุวัตถุประสงค์ของโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำดังกล่าวไว้สามประการ ได้แก่ เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรกรรมในฤดูแล้ง เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคและบริโภค และเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลากในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม มะลิวัลย์ นุแฮ ชาวบ้านขวัญคีรี เห็นว่า ชุมชนมีภูมิปัญญาในการจัดการน้ำอยู่แล้ว โดยการสร้าง "ฝายน้ำล้น" หรือ "ฝายมีชีวิต" ที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติ สามารถชะลอและกักเก็บน้ำไว้ใช้ในแต่ละปีได้ จึงไม่เห็นความจำเป็นในการต้องสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง เนื่องจากจะสร้างผลกระทบให้ชุมชนมากกว่าจะเป็นประโยชน์

"ฝายภูมิปัญญาของชาวบ้านข้อดีของมันคือ ถ้าน้ำท่วมมันจะไม่เก็บน้ำเยอะ เราใช้ไม้ทำ ถ้ามันผ่านฝายมันก็จะไหลไปตามธรรมชาติ แต่ถ้าเราสร้างเขื่อนแบบโครงการรัฐ มันจะมีข้อเสียหลายๆ อย่าง หนึ่งคือ น้ำไม่สามารถระบายทัน สองคือ พอระบายไม่ทันมันก็จะกักเก็บแล้วเพิ่มขึ้นแล้วยิ่งกระทบต่อชุมชนที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ก็เลยคิดว่ามันก็มีข้อเสียเยอะกว่าฝายที่ชาวบ้านทำ" มะลิวัลย์อธิบาย

ด้าน สมชาติ รักษ์สองพลู จากขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ให้ข้อมูลว่า ชุมชนบ้านขวัญคีรีเป็นชุมชนดั้งเดิมที่ตั้งอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติลุ่มน้ำชั้น 1 ที่มีความอุดมสมบูรณ์ และบางส่วนอยู่ในพื้นที่เตรียมการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท โดยชุมชนได้ต่อสู้เพื่อให้อุทยานฯ กันพื้นที่ออกจากการเตรียมประกาศ แต่อุทยานฯ อ้างว่าเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ไม่สามารถกันออกให้ได้ ภายหลังปรากฏว่าได้มอบพื้นที่ดังกล่าวให้กรมชลประทานสร้างอ่างเก็บน้ำ ตนจึงมองว่าเป็นความเหลื่อมล้ำและสองมาตรฐานในแนวทางด้านการอนุรักษ์

นอกจากนั้น สมชาติยังย้ำว่า การดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงต้องเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวทางในการฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง และชุมชนกะเหรี่ยงมีสิทธิ์ที่จะไม่ยอมรับโครงการพัฒนาหรือการดำเนินการใดๆ ที่จะกระทบต่อวิถีของชุมชนพื้นถิ่นดั้งเดิม

"โครงการใดๆ ที่จะนำมาสู่คนกะเหรี่ยงต้องใช้มติ ครม. นี้ในการแก้ปัญหา และหลักการในการแก้ไขปัญหาในมติ ครม. นี้มีการพูดไว้ชัดเจน ถ้ารัฐใช้มติ ครม. นี้มาแก้ไขปัญหามันจะไม่มีผลกระทบเกิดขึ้น ในวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงมันไม่ได้พูดแค่เรื่องดินและน้ำอย่างเดียว แต่มันพูดถึงเรื่องของป่า เรื่องของอาหาร เรื่องของจิตวิญญาณที่อยู่ในผืนป่าที่บรรพบุรุษดูแลมา 200-300 กว่าปี ป่าที่เขียวชอุ่มตรงนั้นมันก็จะถูกน้ำท่วม จิตวิญญาณที่อยู่ในต้นไม้ สัตว์ป่า อาหารจะถูกน้ำท่วม จะอยู่ได้อย่างไร นี่คือสิ่งสำคัญที่สุด ฉะนั้นในการสร้างเขื่อนตรงนั้นมันไม่ได้ท่วมแค่ที่นา ที่ดิน แต่มันท่วมถึงอาหาร ท่วมถึงต้นไม้ สิ่งที่เราเคารพนับถือต่างๆ ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก" สมชาติย้ำ

ทั้งนี้ โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำงาวมีความเป็นมาตั้งแต่ปี 2537 มีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณในปี 2561 เพื่อจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ระบุงบประมาณค่าลงทุนของโครงการไว้ 914.02 ล้านบาท ยังไม่มีการระบุค่าชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยหลังจากนี้กลุ่มรักษ์น้ำงาวจะขับเคลื่อนร่วมกับพีมูฟต่อไป และจะเข้าเจรจาแก้ไขปัญหากับรัฐบาลในการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ ณ ทำเนียบรัฐบาล