อธิบดีกรม ทช.นำกำลังยึดคืนสวนปาล์มนายทุน 240 ไร่

อธิบดีกรม ทช.นำกำลังยึดคืนสวนปาล์มนายทุน 240 ไร่

อธิบดี ทช.ลุยตรวจยึดสวนปาล์มน้ำมัน และบ่อกุ้งนายทุน รุกป่าชายเลนตรังใน 2 อำเภอ รวมเนื้อที่กว่า 240 ไร่

เมื่อวันที่ 30 พ.ย.62 ที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 7 อ.กันตัง จ.ตรัง นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นประธานรับฟังบรรยายปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนจังหวัดตรัง จากนั้นนำทีมสนธิกำลังเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย ทั้งชุดปฏิบัติการฉลามขาว ชุดปฏิบัติการป่าไม้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กอ.รมน.ตรัง ตำรวจ และฝ่ายปกครอง รวมประมาณ 60 นาย โดยแบ่งกำลังออกเป็น 2 ชุด ร่วมตรวจยึดคืนผืนป่า ตามแผนปฏิบัติการเพิ่มและฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลน รวมจำนวน 2 แปลง ในพื้นที่ 2 อำเภอ กว่า 240 ไร่ หลังพบมีนายทุนเข้าบุกรุกครอบครอง 

โดยแปลงแรก บุกรุกทำนากุ้งและสวนปาล์มน้ำมัน อยู่ในพื้นที่เขตป่าชายเลน ตามมติคณะรัฐมนตรี และเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชายเลนคลองหวายดน ป่าชายเลนคลองสุโสะ และป่าชายเลนคลองกุเหร่า พื้นที่หมู่ที่ 4 ต.สุโสะ อ.ปะเหลียน เนื้อที่ 81 ไร่ 3 งาน 64 ตารางวา แต่ไม่พบตัวผู้กระทำผิด และสวนปาล์มน้ำมัน เนื้อที่ 159 ไร่ 3 งาน 26 ตารางวา ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ป่าชายเลน ตามมติคณะรัฐมนตรี และเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองกะลาเส และป่าคลองไม้ตาย หมู่ที่ 3 ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง ทั้งนี้พบว่าสภาพแปลงพื้นที่กว่า 159 ไร่นั้น มีการปลูกปาล์มเต็มพื้นที่อายุกว่า 10 ปี พบมีการลักลอบเข้ามาตัดผลผลิต ซึ่งอาจจะเป็นชาวบ้าน หรือนายทุนที่ลักลอบครอบครอง แต่ไม่พบตัวผู้กระทำผิดแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการบันทึกตรวจยึด และเข้าแจ้งความดำเนินคดีไว้ที่ สภ.ปะเหลียน และ สภ.สิเกา ต่อไป

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า การตรวจยึดคืนพื้นที่ในเขตป่าชายเลนที่ถูกนายทุนบุกรุก ดำเนินการตามแผนการเพิ่มและฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลน เป็นนโยบายสำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยจะมอบเจ้าหน้าที่เข้าแจ้งความดำเนินคดีสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิดต่อไป พร้อมใช้นโยบายไม่ให้มีการเข้ามาบุกรุกพื้นที่ทั้งนายทุนรายใหม่และรายใหญ่อีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งอยู่ในเขตป่าชายเลน คือการก่อสร้างอาคาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง จ.ตรัง ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยตรัง ซึ่งพบว่ามีการก่อสร้างบุกรุกเข้าไปในพื้นที่ป่าชายเลน และป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองกะลาเส ป่าคลองไม้ตาย หมู่ 3 ต.ไม้ฝาด โดยตั้งอยู่นอกเหนือจากพื้นที่ 1,700 ไร่ ที่ มทร.ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้ใช้พื้นที่ เมื่อปี พ.ศ.2535 จำนวน 21 ไร่ 3 งาน 59 ตารางวา โดยทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ ดำเนินคดี กับ มทร.ศรีวิชัยวิทยาเขตตรัง ว่าตั้งแต่ปี 2552

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ในส่วนของคดีอาญาที่ กรม ทช.แจ้งความดำเนินคดีกับนายประชีพ ชูพันธ์ และพวกรวม 6 คน อัยการจังหวัดตรังสั่งไม่ฟ้อง โดยมองว่าขาดเจตนา ส่วนการฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายจำนวน 2.5 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมดอกเบี้ยด้วยเป็นเงินรวมกว่า 5 ล้านบาท นั้น โดยทาง มทร.มีการขอไกล่เกลี่ยลดหย่อนดอกเบี้ย ขณะนี้ทางกรม ทช.ได้เสนอให้ทางกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาในรายละเอียด โดย มทร.ก็ได้ทำหนังสือถึงกรม ทช.ขอทุเลา ขอให้ทางกรมฯพิจารณาผ่อนปรนอย่าเพิ่งเร่งรัดกระบวนการ รอจนกว่ากรมบัญชีกลางจะตอบกลับมา เพื่อจะได้หาข้อยุติในการชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งต่อไป ซึ่งหากปัญหายุติทางกรมฯจะได้เร่งเข้ามาบริหารจัดพื้นที่โดยเร็วที่สุด

ส่วนกรณีสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ได้ดำเนินการกรณีความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ จำนวน 64,209,000 บาทในการเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่รัฐ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2535 ซึ่งเรียกร้องจาก เจ้าหน้าที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยวิทยาเขตตรังทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้มอบหมายให้กลุ่มนิติการติดตามคดีอย่างใกล้ชิด