‘สะใภ้ดีเด่น’  ต้นแบบเมียเกาหลี 

‘สะใภ้ดีเด่น’  ต้นแบบเมียเกาหลี 

ชีวิตจริงไม่เหมือนในหนัง ผู้หญิงเกาหลี เมื่อแต่งงานแล้ว ไม่ได้ดูแลแค่สามี ยังมีภาระกิจอีกมากมาย จนพวกเธอไม่อยากแต่งงาน

 

ณ หมู่บ้านกลางหุบเขาแห่งหนึ่งห่างไกลจากฟิลิปปินส์บ้านเกิดหลายพันกิโลเมตร เอ็มมา สุมัมปง ดูแลแม่สามีผู้แก่เฒ่า พร้อมๆ กับดูแลสามีและลูกๆ ทั้งยังทำงานในไร่ของครอบครัว และทำงานพาร์ทไทม์ไปด้วย

เธอเป็นหนึ่งในผู้หญิงหลายพันคนที่แต่งงานกับชายเกาหลีใต้ จากนั้นย้ายเข้ามาอยู่ในประเทศที่กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ขณะที่ผู้หญิงท้องถิ่นไม่อยากแต่งงานมากขึ้นทุกที แต่ประเพณีเกาหลีคาดหวังให้ภรรยาต้องรับภาระพ่อแม่สามีไปพร้อมกัน ไม่ใช่แค่ดูแลสามีอย่างเดียว

ผู้หญิงต่างด้าวอย่างสุมัมปงจึงต้องเข้ามาอุดช่องว่างตรงนี้ โดยเธอพบกับลี บุง โฮ สามี ผ่านบริการจับคู่ของโบสถ์แห่งหนึ่งในฟิลิปปินส์

เกาหลีใต้แตกต่างจากเขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้วอื่นๆ ในเอเชียอย่างฮ่องกงหรือสิงคโปร์ตรงที่ไม่เคยอนุญาตให้แรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมพยาบาล ถ้าไม่ใช่คนสัญชาติเกาหลี แต่หลายๆ พื้นที่สนับสนุนโครงการทัวร์แต่งงาน สำหรับชายโสดในชนบทที่หาภรรยาชาวเกาหลีไม่ได้

สุมัมปงตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าวในบ้านชนบทที่มีคน 3 รุ่นอาศัยอยู่รวมกัน แถมเธอยังช่วยงานในไร่นาและทำงานนอกบ้านได้ด้วย

157517258587

“ฉันต้องสตรองทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อเอาชนะอุปสรรคทั้งปวงที่เจอ” หญิงวัย 48 ปีรำพึง

ภารกิจประจำวันของเธอเริ่มต้นตั้งแต่ตี 5 ต้องตื่นขึ้นมาทำอาหารเช้าให้ครอบครัว จากนั้นทำงานบ้าน แล้วส่งลูกๆ ทั้ง 3 คนไปโรงเรียน ส่วนตัวเธอก็ไปทำงานเป็นเสมียนที่ออฟฟิศแห่งหนึ่ง

ตกบ่ายเมื่อไม่ต้องทำงานออฟฟิศ สุมัมปงมุ่งหน้าไปยังสวนผักของครอบครัว เก็บผักไปทำอาหารเย็น ทำความสะอาด และสอนการบ้านลูก

เธอคือหัวเรี่ยวหัวแรงหลักดูแลแม่สามีวัย 89 ปี ที่เดินเองไม่ได้ต้องมีคนช่วย สุมัมปงพาแม่สามีเข้าห้องน้ำ อาบน้ำและแต่งตัวให้

ความเหนื่อยยากทั้งหมดนี้มีคนเห็น เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาสมาคมสวัสดิการครอบครัวมอบตำแหน่ง “ฮโยบู” และรางวัลกตัญญูให้แก่สะใภ้กตัญญูคนนี้ จากการปรนนิบัติแม่สามีอย่างเยี่ยมยอด ซึ่งก่อนหน้านั้นเธอก็เคยดูแลพ่อสามีมาก่อน จนกระทั่งเขาเสียชีวิตลงในปี 2555

 

เมื่อผู้หญิงไม่แต่งงาน

แม้รางวัลสะใภ้กตัญญูจะมีหมวดภรรยาต่างชาติโดยเฉพาะ แต่รางวัลระดับชาตินี้ก็เปิดกว้างให้กับทุกคน กระนั้นผู้หญิงแดนโสมขาวที่ยินดีปรนนิบัติแบบนี้มีน้อยลงทุกที ธรรมเนียมดั้งเดิมกำหนดให้ต้องเป็นหน้าที่ของลูกสะใภ้

ด้วยแนวคิดสังคมชายเป็นใหญ่เท่ากับว่า ผู้หญิงทำงานจะต้องทำงานบ้านส่วนใหญ่พร้อมกับทำการงานอาชีพ สถานการณ์แบบนี้เป็นเหตุให้ผู้หญิงหลายคนปฏิเสธชีวิตครอบครัว

ข้อมูลรัฐบาลโซลระบุว่า ปี 2561หญิงโสดชาวเกาหลีใต้ 22.4 เปอร์เซ็นต์ คิดว่าการแต่งงานเป็นเรื่องจำเป็น ลดลงจาก 46.8% เมื่อปี 2553 ขณะเดียวกันอัตราการเกิดของเกาหลีใต้ก็ต่ำสุดประเทศหนึ่งของโลก

ประเทศนี้กำลังเผชิญระเบิดเวลาด้านประชากร ภายในปี 2573 ประชากรเกือบ 1 ใน 4 จะอายุไม่น้อยกว่า 65 ปี และในเมื่อรัฐช่วยเหลือเพียงน้อยนิด จึงกลายเป็นข้อกังวลว่าใครจะดูแลผู้สูงอายุถ้าครอบครัวไม่ทำ

157517261559

ปาร์ก อิน เซียง วัย 48 ปี ผู้ปรนนิบัติแม่ที่เจ็บป่วยในเมืองอินชอน พยายามใช้บริการหาภรรยาต่างชาติ แต่ถึงขณะนี้ก็ยังไม่สำเร็จ

“พูดกันตรงๆ นะ ไม่มีผู้หญิงเกาหลีคนไหนแต่งงานกับผู้ชายอย่างผมหรอก เพราะแต่งปุ๊บก็ต้องรับภาระแม่ของผมทันทีผู้ชายบางคนโชคดีมากเลย ได้แต่งงานกับผู้หญิงที่ดีมาก ดูแลพ่อแม่สามีทั้งคู่ ผมอิจฉามากๆ แต่ก็รู้ดีว่าไม่มีทางเป็นหนึ่งในนั้น” เขาพูดแบบปลงตก

ในชนบทปัญหายิ่งรุนแรงหลังจากคนหนุ่มสาวโดยเฉพาะผู้หญิงย้ายออกไปทำงานในเมืองมาหลายสิบปีแล้ว คนที่เหลืออยู่จึงมักยึดมั่นกับบทบาททางเพศแบบเดิมๆ

แม่สามีของสุมัมปงเป็นตัวอย่างหนึ่ง เธอโกรธเกรี้ยวเสมอเมื่อลูกชายช่วยภรรยาทำงานบ้าน

“แม่สามีย้ำเสมอมาว่า ผู้ชายเหมือนราชา” แต่สุมัมปงก็พยายามคิดบวกว่าแม่สามีต้องการอะไรจากลูกสะใภ้ หลายคนอาจสงสัยว่าเมื่อเป็นแบบนี้แล้วตัวเธอมีความสุขมั้ย “ฉันก็แค่ดีใจที่ได้เริ่มต้นครอบครัวกับสามี” เจ้าตัวให้คำตอบ

ลีสามีของสุมัมปงมีรายได้เล็กๆ น้อยๆ จากการทำงานในบริษัทอิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่ง และมีรายได้เสริมจากการทำสวน

ส่วนสุมัมปงก็มีแผนนำเงินรางวัลที่ได้ราว 2,000 ดอลลาร์ กลับไปเยี่ยมครอบครัวที่ฟิลิปปินส์ หลังจากเจอกันครั้งสุดท้ายเมื่อ 6 ปีก่อน หลายคนในหมู่บ้านฮองซองมองว่า เธอเป็นบุคคลต้นแบบ

 นัม คู ฮยุน เจ้าหน้าที่เทศบาลผู้เสนอชื่อสุมัมปงรับรางวัลฮโยบู ระบุ “เธอเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเมียต่างชาติคนอื่นๆ ในเมืองของเรา”

ปัจจุบันมีผู้หญิงต่างชาติย้ายเข้ามาแต่งงานกับผู้ชายเกาหลีใต้ราว 260,000 คน ตกปีละราว 15,000 คน มาจากจีน เวียดนาม และฟิลิปปินส์มากที่สุด บ่อยครั้งพวกเธอทำเพราะต้องการหนีความยากจน

หลายคนเจอชีวิตคู่ที่ไม่ให้เกียรติกัน ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ภรรยาต่างชาติหลายคนถูกบังคับให้ยอมรับค่านิยมชายเป็นใหญ่ของเกาหลี ไม่ว่าวัฒนธรรมดั้งเดิมของพวกเธอจะเป็นอย่างไร

แม้แต่ตำราเรียนก็สอนว่า ผู้ชายเกาหลีชอบผู้หญิงที่เคารพสามีอย่างจริงใจ และปฏิบัติตามความเห็นของสามี ผู้พูดจาอ่อนโยนและแสนสุภาพ

ฮยุนจู นาโอมิ ชี อาจารย์ด้านนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยฮกไกโดในญี่ปุ่น อธิบายว่า รางวัลฮโยบูผลิตซ้ำบทบาททางเพศตามประเพณี ราวกับว่าการดูแลครอบครัวเป็นสิ่งที่ผู้หญิงทุกคนต้องทำ

“การมอบรางวัลนี้ให้กับผู้หญิงต่างชาติยิ่งน่าขำ เหมือนจะบอกว่า ก็คุณเป็นเมียเกาหลี คุณก็ต้องเป็นผู้หญิงในอุดมคติ ตอนนี้เกือบจะกลายเป็นมายาคติไปแล้ว เพราะสาวๆ เกาหลีหนีจากชนบท เนื่องจากพวกเธอไม่ต้องการทำแบบนั้น”

บอนนี ลี ที่ทำงานอยู่ในกรุงโซลและไม่มีแผนจะแต่งงาน เห็นพ้องว่ารางวัลลูกสะใภ้ดีเด่นนั้นแสนเชย

“จริงๆ แล้วไม่มีสาวๆ เกาหลีคนไหนอยากถูกเรียกว่า ฮโยบูหรอก เราไม่เคยมีรางวัลลูกเขยดีเด่นเลย ทำไมน่ะเหรอ ก็เพราะลูกเขยแบบนี้ไม่เคยมีน่ะสิ!!!” สาวเกาหลีใต้ยืนยันเสียงแข็ง