กพร.ฝึกทักษะแรงงานตรงตลาด แก้ขาดแคลน-อยู่รอดได้ยุคดิจิทัล

กพร.ฝึกทักษะแรงงานตรงตลาด แก้ขาดแคลน-อยู่รอดได้ยุคดิจิทัล

จากกระแสเลิกจ้าง ว่างงาน ทักษะไม่ตรงกับงาน และการเข้ามาของเทคโนโลยีโดยเฉพาะด้านการผลิต กลายเป็นโจทย์สำคัญที่ผลักดันให้กำลังแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องปรับตัว เพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง

กระแสแรงงานถูกเลิกจ้าง ว่างงาน ยังเป็นข่าวให้เห็นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแรงงานใหม่ที่จบออกมามีทักษะไม่ตรงกับความต้องการ มีการกล่าวถึงตลอดเช่นกัน ส่งผลให้ตลาดแรงงาน โดยเฉพาะพื้นที่ในเขต EEC ขาดแคลนแรงงานและมีแรงงานที่ไม่ตรงกับความต้องการ อีกส่วนหนึ่งมีผลมาจากการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต พนักงานจึงต้องปรับตัว เรียนรู้ให้สามารถทำงานกับปัญญาประดิษฐ์ให้ได้จึงต้องเข้าสู่กระบวนการพัฒนาทักษะ

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อตลาดแรงงาน ประการแรกคือ การเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่นําเทคโนโลยีมาใช้ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์อัจฉริยะ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประการที่สอง ไทยต้องไปสู่อุตสาหกรรมออโตเมชั่นและอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง การลงทุนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา 60% ลงทุนในอีอีซี ในอุตสาหกรรมที่เป็นซุปเปอร์คลัสเตอร์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การลงทุนใหม่เน้นเทคโนโลยีชั้นสูง ทําให้แนวโน้มการจ้างงานลดน้อยลง ประการที่สาม เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ดังนั้นการส่งเสริมอุตสาหกรรม 4.0 ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีจะต้องควบคู่ไปกับเพิ่มทักษะแรงงาน เพื่อให้แรงงานผ่านโจทย์ที่ยากนี้ไปได้

157503889853

กรมพัฒนาฝีมือแรงาน(กพร.) กระทรวงแรงงาน เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาทักษะฝีมือให้กับแรงงาน เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะฝีมือตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งได้ดำเนินการฝึกทักษะให้กับแรงงานทั้งแรงงานในระบบ และแรงงานใหม่มาโดยตลอด ด้วยการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนที่ส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะฝีมือให้กับกำลังแรงงาน 

เช่น การส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานประกอบกิจการพัฒนาทักษะพนักงานของตนเอง ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ปี  2545 และแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 ปี 2557 ซึ่งกำหนดให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปต้องจึดฝึกอบรม พัฒนาทักษะให้กับพนักงานของตนเองไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพนักงานทั้งหมด หากไม่ดำเนินการจะต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงาน ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นสามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ร้อยละ 100 เป็นมาตรการจูงใจและช่วยเหลือสถานประกอบกิจการเมื่อมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เกิดขึ้น

ในปี 2563 ได้จัดทำโครงการพัฒนาทักษะแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ดำเนินการยกระดับทักษะแรงงาน เป้าหมายจำนวน 6,400 คน ในพื้นที่จังหวัดระยอง ฉะเชิงเทรา และชลบุรี โดยบูรณาการกับกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัย หน่วยฝึกอื่นทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สภาหอการค้าจังหวัด องค์กรวิชาชีพ สมาคมอาชีพ วิเคราะห์แนวโน้มความต้องการกำลังแรงงานในสถานประกอบกิจการกลุ่มอุตสาหกรรมและภาคบริการ ประกอบด้วย แรงงานไร้ฝีมือ (Unskilled) แรงงานกึ่งฝีมือ (Semi-skilled) แรงงานฝีมือ (Skilled) แรงงานเชี่ยวชาญ (Expert) รวมทั้งแผนพัฒนาด้านแรงงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาทักษะกำลังแรงงานให้ตรงกับความต้องการอย่างแท้จริง

ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการประทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้ที่ ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการประทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ทั้งจังหวัดชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทรา เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาทักษะให้กับกำลังแรงงานในพื้นที่ โดยมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมหารือในประเด็นดังกล่าว

157503875417

ธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กล่าวว่า ในการพัฒนาทักษะฝีมือให้กับกำลังแรงงานเพื่อป้อนตลาดแรงงานในพื้นที่ EEC นั้น การฝึกเพื่อรับอุตสาหกรรมดังกล่าว ได้แบ่งเป้าหมายให้ฝึกในพื้นที่อื่นๆ ด้วย เนื่องจากกำลังแรงงานในพื้นที่ 3 จังหวัดไม่เพียงพอ ต้องมีการเคลื่อนย้ายแรงงานในพื้นที่ทั่วประเทศ ที่มีความประสงค์เข้ามาทำงานในพื้น EEC ด้วย เช่น การฝึกช่างเชื่อมในพื้นที่ภาคใต้ การฝึกขับรถขนส่งขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อรองรับการขนส่งและโลจิสติกส์ ร่วมกับสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ(TIFFA) ฝึกอบรมให้กับผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีทุกสาขาที่ว่างงาน ภายใต้โครงการพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์รองรับธุรกิจการขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ ฝึกจบมีสถานประกอบกิจการรับเข้าทำงานทันที

นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้ง สถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Manufacturing Automation and Robotics Academy-MARA) ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สถาบัน MARA จะเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่สำคัญในการพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานในอุตสาหกรรมหลักในพื้นที่ ทั้งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน อาหาร พลาสติก แม่พิมพ์ วางเป้าหมายที่จะพัฒนาฝีมือแรงงานในสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ จำนวน 2,000 คน ใน 42 หลักสูตร

1575038754100

อาทิ ช่างควบคุมหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรม เทคนิคการสร้างต้นแบบด้วยเครื่องแสกนเนอร์ 3 มิติ การใช้เครื่อง CMM เพื่อตรวจสอบชิ้นส่วนยานยนต์ ช่างควบคุมเครื่องกัด CNC 5 แกน โปรแกรม Hyper Mill NX การใช้คอมพิวเตอร์ในการออกแบบการผลิต (เครื่องกลึง) เทคโนโลยีงานเชื่อมด้วยหุ่นยนต์ Robot Welding การออกแบบและเชื่อมต่อ HMI กับ PLC (Mitsubishi) การประยุกต์ใช้หน้าจอสัมผัสทางอุตสาหกรรม การเขียนโปรแกรมควบคุมระบบอัตโนมัติ เป็นต้น

การพัฒนากำลังแรงงานให้มีทักษะตรงกับความต้องการ มีคุณภาพได้มาตรฐาน การดำเนินงานเพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ย่อมเป็นไปไม่ได้ การทำงานจึงต้องบูรณาการและได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงตัวของแรงงานเองด้วย ที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม มีทักษะที่หลากหลายหรือมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ต้องปรับตัวให้ทันต่อเทคโนโลยี่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วให้ได้ วันนี้จึงจะอยู่รอด”อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าว