หุ้นไอพีโอ ‘อสังหาฯ’ ต่ำจองยกแผง ล่าสุด ‘เอสทีซี’ ปิดเทรดวันแรกร่วง 13%

หุ้นไอพีโอ ‘อสังหาฯ’ ต่ำจองยกแผง ล่าสุด ‘เอสทีซี’ ปิดเทรดวันแรกร่วง 13%

หุ้นไอพีโอที่เข้าจดทะเบียนในกลุ่มอสังหาฯ เข้าเทรด 6 ตัวปีนี้ ราคาต่ำกว่าจองทั้งหมด ‘เอสทีซี’ รายล่าสุดเปิดเทรดร่วง 10% ขณะที่ AWC ครองแชมป์พีอีสูงลิ่วกว่า 200 เท่า นักวิเคราะห์ประเมินกำไรโตไม่ทันราคาหุ้น

สถิติหุ้นไอพีโอในปี 2562 พบว่ามีหุ้นที่เข้าจดทะเบียนในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และวัสดุก่อสร้างตั้งแต่ต้นปี 2562 มีทั้งสิ้น 6 บริษัท (ไม่รวมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และกองรีท) ได้แก่ แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) ซี เอ แซด (CAZ) ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ (ALL) อรินสิริ (ARIN) บูทิค คอร์ปอเรชั่น (BC) และ เอสทีซี คอนกรีตโปรดักส์ (STC)

ทั้งนี้ ราคาหุ้นทั้ง 6 บริษัท ล่าสุด ต่างปรับตัวลดลงจนต่ำกว่าราคาไอพีโอทั้งสิ้น โดย AWC อยู่ที่ 5.9 บาท ลดลง 1.67% CAZ อยู่ที่ 2.28 บาท ลดลง 41.5% ALL อยู่ที่ 4.12 บาท ลดลง 15.9% ARIN อยู่ที่ 0.8 บาท ลดลง 55.5% BC อยู่ที่ 1.66 บาท ลดลง 41.9% และ STC อยู่ที่ 0.87 บาท ลดลง 13%

นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บล.ฟินันเซีย ไซรัส มองว่า ความผันผวนของตลาดหุ้นโดยรวม ทำให้นักลงทุนกังวลและระมัดระวังตัวมากขึ้นในการเข้าซื้อหุ้น ซึ่งก็ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของหุ้นไอพีโอด้วย โดยภาพในลักษณะนี้น่าจะยังดำเนินไปต่อเนื่องจนถึงปี 2563

“ภาวะตลาดในปีหน้าจะยังเป็นตัวกำหนดทิศทางของหุ้นไอพีโอ โดยส่วนตัวเชื่อว่าปีหน้าคงจะดีขึ้นบ้าง แต่สำหรับไอพีโอในกลุ่มอสังหาฯ น่าจะขายได้ยากขึ้น เพราะผลงานที่ไม่ค่อยดีนักในปีนี้ แต่สำหรับหุ้นไอพีโอที่พื้นฐานดี เชื่อว่านักลงทุนก็จะยังคงสนใจเช่นเดิม”

นางสุนิต วิสุทธิโกศล กรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานวาณิชธนกิจ - ด้านตลาดทุน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ปัจจุบันหุ้นไอพีโอถูกกดดันจากภาวะตลาดโดยภาพรวม ทำให้หุ้นไอพีโอไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่ดีนักเหมือนในอดีต ทั้งนี้ มองว่าการซื้อหุ้นไอพีโอในช่วงนี้ นักลงทุนต้องมองเป็นการลงทุนระยะยาวมากขึ้น รวมทั้งเลือกหุ้นที่มีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่องหลังจากเข้าจดทะเบียนแล้ว

“ในปีหน้าภาพรวมของหุ้นไอพีโอจะยังขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเช่นเดิม และในส่วนของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ซึ่งคงต้องขึ้นกับนโยบายกระตุ้นของภาครัฐและเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่ผ่านมาก็มีบางบริษัทในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ชะลอการขายหุ้นไอพีโอไปบ้าง เพราะนักลงทุนให้มูลค่าธุรกิจค่อนข้างต่ำจากค่าเฉลี่ยพีอีของกลุ่มในขณะนี้”

สำหรับหุ้น STC ที่ราคาต่ำกว่าจองนั้น ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลจากการที่นักลงทุนมองว่าผลิตภัณฑ์คอนกรีตของบริษัทไม่ได้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่น่าตื่นเต้น จนอาจจะมองข้ามโอกาสเติบโตในอนาคต

ด้าน บล.ทิสโก้ ระบุว่า แม้ว่าธุรกิจของ STC จะมีความน่าสนใจและเติบโต หาก EEC มีการเติบโตที่ดี แต่ด้วยราคาไอพีโอที่ถือว่ามี P/E ค่อนข้างสูงเทียบกับคู่แข่งและกลุ่มที่ประมาณ 8 – 15 เท่า ทำให้เรามองว่า STC ยังขาดความน่าสนใจเมื่อเทียบกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจคล้ายคลึงกันในตลาด และยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และการลงทุนที่ล่าช้า

ทั้งนี้ จากข้อมูล P/E ของหุ้นไอพีโอทั้ง 6 ตัว ณ ราคาไอพีโอ AWC เป็นหุ้นที่มี P/E สูงสุดอยู่ที่ 277.6 เท่า ARIN อยู่ที่ 60.04 เท่า STC อยู่ที่ 20.41 เท่า CAZ อยู่ที่ 19.34 เท่า และ ALL อยู่ที่ 8.03 เท่า ส่วน BC ไม่สามารถคำนวณค่า P/E ได้ เนื่องจากบริษัทยังคงขาดทุน และเข้าจดทะเบียนด้วยเกณฑ์มาร์เก็ตแคป 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาภาครัฐพยายามที่จะออกมาตรการเข้ามาช่วยกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ อย่างล่าสุด คือ มาตรการบ้านดีมีดาวน์ ที่จะให้ส่วนลดเงินดาวน์ 50,000 บาทต่อราย จำนวนรวมทั้งสิ้น 1 แสนราย

บล.เคจีไอ มองว่า มาตรการกระตุ้นรอบใหม่จะส่งผลดีต่อกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในระยะสั้น ในแง่ของการเพิ่มความสามารถในการซื้อ และเร่งการตัดสินใจของผู้ซื้อบ้าน แต่ในระยะยาว ปัจจัยพื้นฐานของกลุ่มยังคงถูกกดดันจากการที่ธนาคารต่างๆ ยังคงระมัดระวังกับการปล่อยสินเชื่อ และความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงอยู่ในขาลง

ขณะเดียวกันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจน่าจะเป็นการดึงอุปสงค์ตามธรรมชาติในอนาคตมาใช้ล่วงหน้า ซึ่งหลังจากที่มาตรการกระตุ้นหมดอายุในเดือน มี.ค. 2563 ก็อาจจะทำให้อุปสงค์ที่อยู่อาศัยเผชิญกับผลกระทบของ yo-yo effect คือ อุปสงค์จะลดลงไปเท่ากับที่เพิ่มขึ้นมาในปัจจุบัน