6ธ.ค.นัดถกยูเอสทีอาร์ปมจีเอสพี

6ธ.ค.นัดถกยูเอสทีอาร์ปมจีเอสพี

พาณิชย์ เผย 6 ธ.ค.นี้ ไทยเตรียมถก “ยูเอสทีอาร์” ผ่านวิดีโอ คอนเฟอร์เรนซ์แก้ปมถูกตัดสิทธิจีเอสพี เน้นเจรจาปมแรงงานเงื่อนไขที่ไทยถูกตัดสิทธิ 

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐฯว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ย.62 ทีมไทยแลนด์ ประกอบด้วย เอกอัครราชทูตไทย ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน, สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ และทูตแรงงาน ได้เข้าพบหารือกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) เกี่ยวกับการที่สหรัฐฯจะตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) สินค้าไทยกว่า 500 รายการ ในอีก 6 เดือนข้างหน้า หรือภายในเดือนเม.ย.63 เพราะไทยไม่ให้การคุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากล โดยทั้ง 2 ฝ่ายมีกำหนดจะประชุมผ่านทางไกล (วิดีโอ คอนเฟอร์เรนซ์) ร่วมกันในวันที่ 6 ธ.ค.นี้

สำหรับการหารือกันที่วอชิงตัน เป็นเพียงการสอบถามถึงสาเหตุที่ไทยถูกตัดสิทธิ และสิ่งที่สหรัฐฯต้องการให้ไทยดำเนินการ โดยยูเอสทีอาร์ย้ำชัดเจนว่า สาเหตุถูกตัดสิทธิมาจากเรื่องแรงงาน รวมถึงนัดหมายหารือกันอีกครั้งวันที่ 6 ธ.ค.นี้ ซึ่งฝ่ายไทยจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมวิดีโอ คอนเฟอร์เรนซ์ด้วยทั้งหมด อย่างกรมการค้าต่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงแรงงาน ฯลฯ

”เรื่องที่จะหารือกับยูเอสทีอาร์ในวันที่ 6 ธ.ค.นี้ จะเน้นถึงสิ่งที่สหรัฐฯต้องการให้ไทยดำเนินการ เพื่อให้ไม่ถูกตัดสิทธิ ซึ่งต้องพูดคุยกันว่า สหรัฐฯจะมีจุดพอใจตรงไหน หรือถ้ายังต้องการให้ไทยแก้ไขกฎหมายแรงงาน ตามที่เขาต้องการ กระทรวงแรงงานก็ต้องเป็นผู้ตอบว่าจะทำได้หรือไม่ แต่ที่ผ่านมา ไทยได้แก้ไขกฎหมายตามที่สหรัฐฯต้องการไปหลายประเด็นแล้ว”

 

อย่างไรก็ตาม การประชุมผ่านทางไกลครั้งนี้ คงไม่สามารถตัดสินได้ว่า ไทยจะได้รับการคืนสิทธิหรือไม่ ดังนั้น ทั้ง 2 ฝ่ายจะมีการหารือกันอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งต่อไปน่าจะเป็นช่วงหลังปีใหม่ไปแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นยูเอสทีอาร์เดินทางมาเจรจาที่ไทย หรือฝ่ายไทยอาจเดินทางไปเจรจาที่ดี.ซี.ก็ได้ ยังไม่ได้หารือกัน แต่ระหว่างนี้ ไทยต้องเตรียมพร้อมข้อมูลต่างๆ ให้พร้อมรองรับการเจรจา และไม่สามารถตอบได้ว่า ยูเอสทีอาร์จะคืนสิทธิให้ไทยหรือไม่

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 ต.ค.62 นายโดนัลด์ ทรัมป์ประธานาธิบดีสหรัฐฯได้ลงนามในประกาศทบทวนการให้จีเอสพี โดยระงับการให้สิทธิสินค้าจากไทยประมาณ 1 ใน 3 ของสินค้าที่ได้รับสิทธิทั้งหมดกว่า 3,000 รายการ คิดเป็นมูลค่าประมาณ1,300ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยให้มีผลบังคับใช้ในอีก6เดือน โดยอ้างไทยไม่ให้การคุ้มครองสิทธิแรงงานเทียบเท่ามาตรฐานสากล