#Houseworkchallenge ไม่ว่าเพศไหนก็ทำงานบ้านได้

#Houseworkchallenge ไม่ว่าเพศไหนก็ทำงานบ้านได้

ชวนตั้งคำถามว่า "ภาระงานบ้าน" เป็นเรื่องของเพศหญิงอย่างเดียวจริงหรือ ?

ฉาก "อรุณา" ทำเกี๊ยวน้ำมัดใจสามีในเรื่องเมีย 2018 หรือ "ริน ระพี" ภรรยาผู้เพียบพร้อมทั้งการดูแลบ้านและทำอาหารจากเรื่องปดิวรัดา เป็นภาพจำของผู้หญิงไทยในความคิดใครหลายคน 

แม่ศรีเรือน อุดมคติความหญิงไทย โดยเฉพาะคุณสมบัติของภรรยาที่ดี แม่ที่ดีว่าต้องทำงานบ้านให้เรียบร้อย จัดการอาหารให้อร่อยถูกลิ้นเพื่อรอสามีและลูกกลับบ้านอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ภาระงานบ้านถูกผูกขาดกับสภาวะการเป็นเพศหญิงไทยแบบร้อยเปอร์เซ็น

งานเสวนางานบ้านเป็นของทุกคน ทำได้ทุกเพศจาก มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลและสสส. ในเดือนพฤศจิกายนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง จึงพาทุกคนไปตั้งคำถามว่าภาระงานบ้านเป็นเรื่องของเพศหญิงอย่างเดียวจริงหรือ

  • งานของเธอ ไม่ใช่งานของเรา 

รัชเวทย์  คำเสมอคชสีห์ อายุ 54 ปี เล่าว่า ตนเองไม่เคยทำงานบ้าน เพราะผู้ชายต้องเป็นใหญ่ในบ้าน และมักใช้ความรุนแรง โดยงานบ้านทั้งหมดตนจะแบ่งให้พี่น้องที่เป็นผู้หญิงทำทั้งหมด ทั้งซักผ้า กวาดบ้านถูบ้าน ทำกับข้าว ล้างจาน กระทั่งแต่งงานมีครอบครัว ภรรยาก็ต้องเป็นคนทำทุกอย่าง ตนไม่หยิบจับหรือช่วยอะไรในบ้านเลย อีกทั้งเราเป็นคนชอบกินดื่ม มีเพื่อนฝูงมากก็อยากให้ภรรยาปรนนิบัติพัดวี และบ่อยครั้งที่เวลาเมาก็มาใช้ความรุนแรงาน

ผลสำรวจความคิดเห็นต่อการทำงานบ้านของกลุ่มผู้ชาย อายุ 18-50 ปี ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 1,995 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 9-14 ..62 พบว่า ลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.9 มองว่าผู้ชายช่วยงานบ้านเป็นเรื่องที่ควรภาคภูมิใจ ไม่ใช่เรื่องน่าอาย ขณะที่ร้อยละ16.9 ไม่เห็นด้วยต่อเรื่องนี้ ทั้งนี้เกินครึ่ง คือ ร้อยละ 53.5 มองว่าผู้หญิงที่ดีต้องทำงานบ้าน เป็นแม่ศรีเรือน อย่าให้บกพร่อง ซึ่งร้อยละ47 มองว่าผู้ชายมีหน้าที่ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว 

1ใน 3 หรือ ร้อยละ37.5 มองว่าแม้ผู้หญิงจะทำงานนอกบ้าน แต่งานบ้านก็ยังเป็นของผู้หญิงอยู่ดี อีกทั้งร้อยละ 33.2 ระบุว่า งานบ้านไม่ใช่หน้าที่ของผู้ชายแต่เป็นหน้าที่ของผู้หญิง

จรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล บอกว่า ผู้ชายบางส่วนยังมีความเชื่อที่ว่า งานบ้านเป็นหน้าที่ผู้หญิง ซึ่งสาเหตุมาจากความคิดแบบชายเป็นใหญ่ ถูกบอกถูกสอนว่าผู้ชายต้องเป็นผู้นำ ส่วนผู้หญิงต้องทำงานบ้าน เลี้ยงลูก หากปล่อยให้ผู้ชายทำจะเสียศักดิ์ศรี ดังนั้นคงต้องเริ่มจากจุดนี้ ให้เขามองว่าการทำงานบ้านผู้ชายต้องทำได้

มันไม่ใช่หน้าที่ฝ่ายหญิงฝ่ายเดียว งานบ้านไม่ใช่เรื่องของเพศ แต่เป็นของทุกคน ไม่จำเป็นต้องแบ่งเพศ ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ไปทำงานร่วมกับกลุ่มผู้ชายชุมชน พบว่าหลังจากได้ช่วยงานบ้านหลายรายเปลี่ยนไป ให้เกียรติผู้หญิงมากขึ้น ความสัมพันธ์ดีขึ้น ปัญหาต่างๆลดลง รวมถึงภาครัฐต้องปรับหลักสูตรใหม่ สร้างความเท่าเทียม เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะขนาดรูปในหนังสือเรียนยังเป็นผู้หญิงที่ทำงานบ้านฝ่ายเดียวอยู่เลย

157502504714

  • เรื่องเล็กสู่รอยร้าวในครอบครัว

...มายาคติชายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาครอบครัว?

รุ่งอรุณ  ลิ้มฬหะภัณ  รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ทุกคนในสังคมสามารถมีส่วนร่วมแก้ไขได้ เริ่มจากเรื่องใกล้ตัวในครอบครัว อย่างการช่วยกันทำงานบ้าน เลี้ยงลูกดูแลลูก ถือเป็นการนำเรื่องที่เข้าใจง่าย ดูเหมือนใครๆก็ทำได้ แต่กระทบไปถึงรากความคิดแบบชายเป็นใหญ่ ความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศอย่างเห็นได้ชัด งานบ้านจึงเป็นจุดเริ่มต้นก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เกิดความเห็นอกเห็นใจ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดีของคนในครอบครัว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการปลูกฝังตั้งแต่ยังเล็กทั้งในครอบครัวและระบบการศึกษา ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งวิธีเพื่อนำไปสู่การยุติความรุนแรงในครอบครัว

ข้อมูลจากศูนย์ช่วยเหลือสังคม “1300” กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ระบุว่า ในปี 2561 มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว 1,774 คน โดยเหยื่อในอันดับต้น ๆ คือเด็กและสตรี

1575024819100

  • เติมเต็มช่องว่างจากการช่วยทำงานบ้าน 

สถิติของกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย ในปี 2547 มีอัตราการหย่าร้างร้อยละ 24 โดยมีผู้จดทะเบียนสมรส 365,721 คู่ จดทะเบียนหย่า 86,982 คู่ ล่าสุดในปี 2560 อัตราการหย่าร้างเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 41 มีผู้จดทะเบียนสมรส 297,501 คู่ หย่า 121,617 คู่ เฉลี่ยหย่าวันละ 333 คู่ โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากความเปราะบาง ช่องว่างความเข้าใจที่ดีภายในครอบครัว  และ แรงกดดันที่ภายนอกครอบครัว

ไบรอน บิชอฟ สามีของซินดี้ สิรินยา บิชอฟ กล่าวว่า ตนเป็นผู้ชายธรรมดาทั่วไปที่เคยคิดว่าผู้ชายไม่ต้องทำงานบ้าน ไม่ต้องเลี้ยงลูก แต่เมื่อเห็นภรรยาเหนื่อยจากการทำงานนอกบ้าน ก็เริ่มพูดคุยกัน เพื่อที่จะได้รู้มุมมองความคิด เพราะนี่คือบ้านของเรา ครอบครัวของเรา แม้ว่าที่บ้านเราจะจ้างแม่บ้านมาดูแลงานบ้าน แต่ก็ยังมีอีกหลายอย่างให้ช่วยทำโดยเฉพาะการเลี้ยงลูก ถ้าหากเราช่วยกันทำงานบ้าน ช่วยเหลือกัน ช่วยกันเลี้ยงลูก จะช่วยทำให้ชีวิตครอบครัวดีขึ้น มีความสุขขึ้น เราเป็นผู้ชายที่อยากทำอะไรเพื่อภรรยาบ้าง และงานบ้านคือความท้าทาย 

“เราอยากเป็นซูเปอร์แมนในสายตาภรรยาและลูกๆ อะไรที่ทำให้ครอบครัวมีความสุขก็พร้อมทำให้ ทั้งนี้สิ่งที่จะช่วยยุติความรุนแรงภายในครอบครัวได้อีกอย่างหนึ่งคือ ต้องกล้าเปลี่ยนมุมมองความคิดและกล้าที่จะพูดคุยกันเพื่อครอบครัว ที่สำคัญการปลูกฝัง สอนให้ลูกๆ ได้รู้จักงานบ้านตั้งแต่เล็กๆเป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นพื้นฐานที่ดีของเขาวันข้างหน้า รวมไปถึงการเคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกายของผู้อื่นและตัวเอง การเคารพให้เกียรติกัน เราต้องชัดเจนในเรื่องนี้”    

157502509997

  • รู้จักวัน “วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล”

ในปี .. 1999 หรือ .. 2542  องค์การสหประชาชาติได้มีมติรับรองให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล” (International Day for the Elimination of Violence against Women)

จากการเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงในเหตุการณ์กรณีการสังหารสามสาวพี่น้องชาวโดมินิแกนตระกูล Mirabal ได้แก่ Patria, Maria และ Minerva อย่างทารุณด้วยเหตุผลของการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในยุคเผด็จการตูจิลโล่ สมัยที่นาย Rafael Trujillo เป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐโดมินิกันในคืนวันที่ 25 พฤศจิกายน ปี .. 1960หรือ  .. 2503

สำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 เห็นชอบให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีโดยทั่วโลกได้มีการใช้สัญลักษณ์ริบบิ้นสีขาวเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงออกเพื่อรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวด้วย