กูรูแนะผ่าทางตัน ‘สหรัฐตัดจีเอสพีไทย’

กูรูแนะผ่าทางตัน ‘สหรัฐตัดจีเอสพีไทย’

กูรูแนะ ผ่าทางตัน ‘สหรัฐตัดจีเอสพีไทย’ แนะไทยควรใช้การเจรจาพหุภาคีในกรอบอาเซียนขึ้นมาเจรจาต่อรองกับสหรัฐ เพราะยิ่งอาเซียนมีความเห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกัน ยิ่งสร้างความหนักแน่นและเพิ่มความได้เปรียบมากกว่าเจรจาการค้าแบบทวิภาคี

ข่าวสหรัฐตัดจีเอสพีไทยเมื่อหลายวันก่อนถือว่าสะเทือนวงการพอสมควร ในช่วงที่ตัวเลขการส่งออกไทยลดลงต่อเนื่อง สมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย ร่วมกับโครงการอเมริกันศึกษา ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดงานสัมมนาวิชาการ ASAT Forum ครั้งที่1 ในหัวข้อเรื่อง “สหรัฐตัดจีเอสพี : สงครามการค้าลามถึงไทย” เพื่อสะท้อนมุมมองและนำเสนอข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดท่าทีของไทยในการเจรจาการค้ากับประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก รวมทั้งรับมือกับเศรษฐกิจโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง

ประภัสสร์ เทพชาตรี นายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย และอาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีเป็นการทั่วไปหรือจีเอสพี (Generalized System of Preferences) ที่จะมีผลในวันที่ 25 เม.ย.2563 ว่า นี่เป็นสัญญาณบอกเหตุสงครามการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐที่กำลังเริ่มต้นขึ้น โดยสหรัฐใช้วิธีกดดันด้วยการตัดสิทธิจีเอสพีไทยรวมสินค้า 573 รายการ มีมูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์ และเชื่อว่า จะตามมาด้วยมาตรการที่เป็นอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษีหรือเอ็นทีบี ( Non-Tariff Barriers) มากขึ้น การสร้างเงื่อนไขด้านสิทธิแรงงาน มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม และการสร้างเงื่อนไขให้ไทยต้องเลือกระหว่างสหรัฐกับหัวเว่ยในประเด็น 5จี เพื่อกดดันให้ไทยถอยห่างจากจีน

"ประเทศไทยต้องระวังอย่าให้สหรัฐหยิบประเด็นเหล่านี้ขึ้นมากดดันในเจรจาการค้ารอบใหม่ และต้องสังเกตให้ดีว่า มาตรการกีดกันทางเศรษฐกิจบางอย่างไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะจีน แต่สหรัฐยังทำกับประเทศที่มีแนวโน้มได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน เยอรมนี ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี เม็กซิโก และแคนาดา ซึ่งไทยต้องศึกษาบทเรียนที่เกิดขึ้นกับประเทศเหล่านี้ เพื่อกำหนดท่าทีใหม่ภายใต้บริบทสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน"นายกสมาคมอเมริกาศึกษาฯ กล่าว

ประภัสสร์ เสนอแนะให้ รัฐบาลทบทวนเงื่อนไขและข้อต่อรองที่ไทยจะหยิบขึ้นมาเจรจากับสหรัฐได้อย่างมีน้ำหนัก โดยส่วนตัวมองว่า มี 2 เรื่อง ได้แก่ 1.สิทธิพิเศษด้านการลงทุน อย่างล่าสุดรัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐได้นำคณะนักธุรกิจเดินทางมายังประเทศไทย และแสดงความสนใจจะเข้ามาลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นั่นหมายถึงสหรัฐมองว่า ไทยเป็นประเทศน่าลงทุน และยังเป็นศูนย์กลางธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนที่สามารถใช้ถ่วงดุลอำนาจจีนได้

2. ประเทศไทยควรใช้การเจรจาพหุภาคีในกรอบอาเซียนขึ้นมาเจรจาต่อรองกับสหรัฐ เพราะยิ่งอาเซียนมีความเห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกัน ยิ่งสร้างความหนักแน่นและเพิ่มความได้เปรียบมากกว่าเจรจาการค้าแบบทวิภาคี

ด้าน ปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ กล่าวว่า การที่รัฐบาลเริ่มมองหาตลาดใหม่เพิ่มเติม เป็นเรื่องที่เดินมาถูกทาง แม้ว่า สหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่น ยังเป็นตลาดดั้งเดิมของไทย แต่การบุกตลาดใหม่ในยุโรปอย่างตุรกี และอีกหลายๆประเทศในเอเชีย ตะวันออกกลาง ตลอดจนอเมริกาใต้ ถือเป็นการสร้างโอกาสทางการค้าให้กับประเทศ เพราะประเทศเหล่านี้มีกำลังซื้อมาก และต้องการบริโภคสินค้าที่ไทยผลิตอยู่ขณะนี้

"การขยายตลาดการค้าในประเทศสมาชิกอาเซียนกันเอง ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยด้วย ดั่งจะเห็นว่า มูลค่าการค้าในกลุ่มประเทศที่ทำข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟต้า) และการค้าในกลุ่มอียู ได้สร้างมูลค่าการค้ากันเองคิดเป็นสัดส่วน 75% ของกลุ่มความร่วมมือ สิ่งสำคัญคือยุทธศาสตร์การตลาดให้ทำอย่างไรเกิดการซื้อขายสินค้าในภูมิภาคมากขึ้น" ปริญญ์กล่าว

ตลาดในยุคนี้แข่งกันด้วยคุณภาพสินค้า ซึ่งประเทศไทยทำได้ทั้งการส่งออกสินค้าเกษตรเกรดพรีเมี่ยม การใช้นวัตกรรมแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้า และตอบโจทย์ความต้องการตลาดโลกที่กำลังให้ความสำคัญกับสินค้าปลอดสารเคมี รวมไปถึงการส่งเสริมแบรนด์ไทยแลนด์ให้เป็นที่รู้จัก สิ่งเหล่านี้เป็นมาตรการเชิงรุกทำได้ทันที แม้ว่า ขณะนี้ไทยกำลังเจอกับค่าเงินบาทแข็งค่า และประสบปัญหาด้านการส่งออกสินค้า แต่อย่าลืมว่า เราสามารถใช้ช่วงเวลาที่ค่าเงินบาทแข็งซื้อสินค้าที่เป็นนวัตกรรม เทคโนโลยี งานการวิจัยและพัฒนา เพื่อเปลี่ยนไทยเป็นสังคม 4.0

ขณะที่ ทัชมัย ฤกษะสุต ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาเซียน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในมุมมองนักกฎหมายที่มีกรณีสหรัฐตัดสิทธิจีเอสพีไทย จำเป็นต้องวิเคราะห์แบบแยกส่วนจำแนกเป็น 3 เรื่อง คือ ส่วนแรก เหตุผลที่ไทยแบน 3 สารเคมีอันตรายเพราะต้องการปกป้องสวัสดิภาพของเกษตรกรผู้ใช้สารเคมี ส่วนที่สองสินค้านำเข้าที่อาจมีสารเคมีตกค้าง และส่วนที่สามสารเร่งเนื้อแดงในหมู ถ้าตราบใดสินค้ายังอยู่ภายใต้มาตรฐานดับบลิวทีโอ นั่นหมายถึงสหรัฐไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจไปว่า ไทยจะไม่นำเข้าสินค้าดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่า สิทธิจีเอสพีเป็นการสิทธิที่สหรัฐมอบให้ไทยโดยที่ไม่ได้ร้องขอตั้งแต่ต้น ดังนั้นประชาชนจะต้องรู้เท่าทันเรื่องนี้ และรัฐบาลต้องทำการศึกษาและวางแผนให้รอบคอบมากขึ้น ในการเปลี่ยนอุปสรรคเป็นโอกาสและวางบทบาทใหม่ของไทย เพื่อบรรลุเป้าหมายเจรจาการค้าไทย-สหรัฐที่เป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด