'ประยุทธ์' ทวงสัญญา 'พรรคร่วม' หลังสภาฯล่ม ซ้ำ

'ประยุทธ์' ทวงสัญญา 'พรรคร่วม' หลังสภาฯล่ม ซ้ำ

สภาฯยื้อตั้งกมธ.ศึกษาคำสั่งคสช.-แก้รธน. เหตุองค์ประชุมล่มซ้ำ ฝ่ายค้านวอล์คเอาท์ยื่นคำขาดถอนญัตติปมนับคะแนนใหม่ -14ส.ส.รัฐบาลขาดประชุม ด้าน “วิรัช” ปัดเกมการเมืองยื้อแก้รธน. โยน “จุรินทร์” ปรามลูกพรรคโหวตสวน ขณะที่นายกฯทวงสัญญาลูกผู้ชายพรรคร่วม

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วานนี้(28 พ.ย.)เป็นการพิจารณาต่อเนื่องในญัตติด่วนเรื่องขอให้สภาฯ​ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ศึกษาผลกระทบจากการกระทำประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของ หัวหน้าคสช. ตามมาตรา 44 หลังจากที่เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมาได้เกิดปัญหาองค์ประชุมล่ม หลังส.ส.ฝ่ายค้านได้วอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุมเนื่องจากไม่เห็นด้วยกับกรณีที่ฝ่ายรัฐบาลเสนอให้มีการนับคะแนนใหม่

โดยทันทีที่เปิดประชุมส.ส.พรรคฝ่ายค้านได้ลุกทักท้วงและแสดงความไม่เห็นด้วยที่ให้นับคะแนนใหม่ เนื่องจากผลลงคะแนนมีความชัดเจน

แต่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม กล่าวยืนยันที่จะนับคะแนนใหม่ตามที่มีผู้เสนอก่อนที่จะเรียก ส.ส.เข้าห้องประชุมเพื่อนับองค์ประชุม โดยผลการนับองค์ประชุมปรากฏว่ามีสมาชิกแสดงตนเพียง 240 เสียง ซึ่งถือว่าไม่ครบองค์ประชุมคือ 250 เสียง ทำให้นายชวนได้สั่งปิดการประชุมในเวลา 11.25 น. หลังใช้เวลาประชุมเพียง 20 นาที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับส.ส.พรรคฝ่ายค้านที่แสดงเจตจำนงไม่ขอร่วมในห้องประชุมนั้น ส่วนใหญ่ได้ลุกออกจากห้องประชุม ขณะที่อีกส่วน ได้ยืนรอดูท่าทีที่ท้ายห้องประชุม โดยไม่ใช้สิทธิแสดงตัวเพื่อนับเป็นองค์ประชุม และจากปัญหาองค์ประชุมล่มที่เกิดขึ้นทำให้วาระการตั้งกมธ. เพื่อศึกษาผลกระทบประกาศและคำสั่งของ คสช. ยังคงค้างในวาระพิจารณา และส่งผลให้ญัตติด่วนเรื่องให้สภาฯ ตั้งกมธ. วิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่รอพิจารณาในลำดับถัดไปต้องเลื่อนตามไปด้วย 

เปิดชื่อ14ส.ส.รัฐบาลขาดประชุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับส.ส.ที่ไม่ได้แสดงตนต่อที่ประชุมนอกจากเป็นส.ส.ของพรรคฝ่ายค้าน แล้ว ยังพบว่ามีสัดส่วนของส.ส.ร่วมรัฐบาล จำนวน 14 คน ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ได้แก่ 1. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว, 2.นายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา และรองประธานสภาฯ​คนที่หนึ่ง, 3.นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม และ ส.ส.นครราชสีมา , 4. นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี 

พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ได้แก่ 1.นางกันตวรรณ ตันเถียร ส.ส.พังงา, 2.นายกรณ์​ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ, 3.นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ, 4. นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ส.ส.ตาก, 5.นายวีระชัย วีระเมธีกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ, 6.นางศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

พรรคภูมิใจไทย(ภท.) ได้แก่ 1.นายชัย ชิดชอบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, 2.นายรุ่งโรจน์ ทองศรี ส.ส.บุรีรัมย์, 3.นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และส.ส.บัญชีรายชื่อ, 4.นายสฤษดิ์ บุตรเนียร ส.ส.ปราจีนบุรี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับส.ส.ฝ่ายค้านซึ่งแสดงตนต่อที่ประชุมมีเพียง นายขจิต ชัยนิคม ส.ส. อุดรธานี พรรคเพื่อไทยคนเดียวเท่านั้น

วิป2ฝ่ายเคลียร์ใจเงื่อนไขไม่ลงตัว

หลังปิดการประชุมในระหว่างนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิป ฝ่ายค้าน) และ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.​พรรคเพื่อไทย เตรียมตัวแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน บริเวณห้องโถงอาคารรัฐสภา นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพปชร. ฐานะประธานวิปรัฐบาล ซึ่งแถลงข่าวแล้วเสร็จ ได้เดินเข้ามาพูดคุยและนั่งเจรจาอยู่บริเวณที่นั่งของสื่อมวลชน เพื่อพูดคุยถึงความร่วมมือเพื่อให้การประชุมเดินหน้า

โดยนายสุทิน ยืนยันว่าทางออกเพื่อไม่ให้การประชุมสภาฯ มีปัญหา คือฝ่ายรัฐบาลต้องถอนญัตติที่ให้นับคะแนนใหม่ แต่หากฝ่ายรัฐบาลไม่ยอมถอน ฝ่ายค้านจะยืนยันการใช้สิทธิไม่เข้าร่วมการประชุม รวมถึงไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุมก่อนให้นับคะแนนใหม่ เรื่องที่เกิดขึ้น เป็นความรับผิดชอบของฝ่ายที่รัฐบาลต้องจัดการปัญหาด้วยตนเองยืนยันว่าหากเรื่องนี้ยังเสนอเข้าสู่ที่ประชุมจะใช้สิทธิวอล์กเอาต์

เช่นเดียวกับน.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า การนับคะแนนใหม่โดยอาศัยข้อบังคับที่ 85 เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะด้วยเสียงที่ห่างกันไม่เกิน 25 เสียงสามารถร้องขอให้นับคะแนนใหม่ได้ทุกครั้ง และตนกังวลว่าหากจะให้ที่ประชุมนับคะแนนใหม่ในร่างกฎหมายที่สำคัญ เช่น ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ในวาระสองที่ต้องอภิปรายและลงมติเป็นรายมาตรา ต้องขอนับคะแนนใหม่ และต้องนับองค์ประชุมก่อน จะทำให้การประชุมมีปัญหาได้

ทำให้นายวิรัช กล่าวว่า “ผมขอร้อง ในฐานะเป็นพี่ เป็นน้องกัน เราเคยกินข้าวหม้อเดียวกันมาก่อน จึงอยากขอความร่วมมือให้การประชุมเดินหน้าไปได้ ”

วิปรัฐปัดเล่นเกมยื้อแก้รัฐธรรมนูญ

วันเดียวกันนายวิรัช แถลงถึงปัญหาองค์ประชุมที่เกิดขึ้นว่าไม่ได้เป็นปัญหาของฝั่งรัฐบาล แต่เป็นอุบัติเหตุ ทั้งนี้ยอมรับว่าเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลที่หายไปนั้น เพราะมีผู้ที่ลาการประชุมเพราะป่วยอยู่โรงพยาบาล ประมาณ 4-5 คน ทั้งนี้ในการประชุมสภาฯ วันที่ 4 ธ.ค. ตนยืนยันว่าจะไม่ทำให้เกิดปัญหาในลักษณะดังกล่าวอีก และตนจะควบคุมการออกเสียงและการเข้าประชุมของส.ส.ฝั่งรัฐบาลให้ดีมากกว่าเดิมยืนยันว่าฝ่ายรัฐบาลไม่ได้เล่นเกมการเมือง เพื่อยื้อสภาฯ​ซึ่งจะต้องพิจารณาญัตติด่วน เรื่อง ตั้งกมธ.วิสามัญ เพื่อศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวถามว่าการประชุมครั้งหน้าหากควบคุมเสียงรัฐบาลไม่ได้อีก จะทบทวนการดำรงตำแหน่งประธานวิปรัฐบาลของตนเองหรือไม่ นายวิรัช กล่าวว่า “ไม่เป็นไร ผมพร้อม”

โยนจุรินทร์ปรามลูกพรรคปชป.

ส่วนการเจรจากับฝ่ายค้านตนจะพยายามให้ส.ส.พรรครัฐบาลเข้าประชุมให้ครบ ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 6 เสียงที่ลงมติสวนทางเสียงข้างมากของรัฐบาล ตนได้แจ้งไปยังนายจุรินทร์​ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ทราบ รวมถึงดูแลแล้ว ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเหตุที่ส.ส.ปชป.ลงมติสวนทางกับพรรคร่วมรัฐบาลเพราะไม่พอใจที่วิปรัฐบาลไม่สนับสนุนให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานกมธ.ฯ วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั้นตนไม่ทราบ และเชื่อว่าไม่มีประเด็นดังกล่าว.

ขณะที่นายชวน กล่าวว่ากรณีที่สภาล่มถึง 2 ครั้งซ้อน ตนไม่คิดว่าจะทำให้การทำงานในสภาฯ ลำบาก เพราะการทำงานที่เดินคล่องหรือสะดุดเป็นธรรมดา ทั้งนี้ตนพยายามจะเร่งให้การประชุมเดินหน้า เพื่อพิจารณาญัตติตั้งกมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่คิดว่าจะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น

นายกฯทวงสัญญาลูกผู้ชาย

ส่วนความเคลื่อนไหวจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า เป็นเรื่องธรรมดา โดยตนก็ได้ติดตามการประชุมสภาฯเห็นว่าส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลหลายคนติดงานราชการอยู่ ทำให้ก็มาโหวตไม่ทัน ถ้ามีการโหวตใหม่ก็ว่ากันไปกันตามกลไกของสภาฯ ไม่ใช่เรื่องของความไม่มั่นคง เพราะตนเชื่อว่ามีความมั่นคงอยู่

“ผมเป็นทหารเก่า เพราะฉะนั้นสัญญาลูกผู้ชาย และความเป็นสุภาพบุรุษสำคัญที่สุด การเป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องเป็นพรรคร่วมรัฐบาลจริงๆ รัฐบาลทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ใช่ต่อสู้ทางการเมืองอย่างเดียว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

เช่นเดียวกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พปชร. กล่าวว่ากรณีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของสปิริตของส.ส. ถือเป็นเรื่องของสภา ส่วนต้องกำชับลูกพรรคให้เข้าร่วมประชุมสภาทุกครั้งหรือไม่นั้น ซึ่งเมื่อวันที่ 27 พ.ย.มีรัฐมนตรีหลายคนติดภารกิจจึงไม่ได้เข้าร่วมประชุม ส่วนการโหวตก็เป็นเรื่องสปิริต

เทพไทโต้6ส.ส.ปชป.แหกมติ 

ขณะที่นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ปชป. แถลงยืนยันว่า 6 ส.ส.ปชป. ที่ลงมติสนับสนุนให้ตั้งกมธ.ไม่ใช่การแหกมติ หรือเป็นงูเห่าในพรรคแต่มีเหตุผลคือ ทั้ง 6 คนนั้นเป็นผู้สนับสนุนญัตติให้ตั้งกมธ.วิสามัญฯ ซึ่งมีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง เป็นผู้ยื่นเสนอญัตติ ทั้งนี้เชื่อว่าการใช้เอกสิทธิ์ส.ส.ในการลงมติดังกล่าวเชื่อว่าจะไม่ถูกคาดโทษใดๆ จากพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งนี้เพื่อรักษาอุดมการณ์ของพรรคตนและส.ส.ของพรรคต้องยืนยันในการเห็นด้วยฐานะผู้เสนอและรับรองญัตติของนายสาทิตย์​