ปีทอง "ซีพีเอฟ” ราคาหมู-ไก่ขาขึ้น ปลดล็อกคว่ำแบน 3 สารเคมี

ปีทอง "ซีพีเอฟ” ราคาหมู-ไก่ขาขึ้น ปลดล็อกคว่ำแบน 3 สารเคมี

หลังจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” เป็นประธาน ได้มีมติคว่ำการแบน 3 สารเคมีเกษตร

ของคณะกรรมการชุดเก่าที่มีคำสั่งให้ยกเลิกใช้สารอันตรายดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. นี้ เป็นต้นไป ทำให้ช่วยปลดล็อกความกังวลเบื้องต้นในการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศที่ยังใช้สารเคมีเหล่านี้

โดยคณะกรรมการมีมติเลื่อนการแบนสารเคมี 2 ชนิด ได้แก่ “พาราควอต” และ “คลอร์ไพริฟอส” ออกไป 6 เดือน จากเดิม 1 ธ.ค. 2562 เป็นวันที่ 1 มิ.ย. 2563 ส่วน “ไกลโฟเซต” ให้จำกัดการใช้แทนการยกเลิก และมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรเร่งหาสารเคมีอื่นทดแทน รวมทั้งหามาตรการเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน

เมื่อมติออกมาแบบนี้เท่ากับว่าเรายังสามารถนำเข้าถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง ข้าวสาลี ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารสัตว์ได้เหมือนเดิม โดยปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้าสินค้าเกษตรเหล่านี้เกือบทั้งหมดจากต่างประเทศ เพราะปลูกในประเทศได้น้อยมาก ส่วนใหญ่นำเข้าจากสหรัฐ บราซิล และจีน ซึ่งทั้ง 3 ประเทศ ยังใช้สารไกลโฟเซตในการเพาะปลูก

ก่อนหน้านี้ หลายฝ่ายกังวลว่าหากมีการแบน 3 สารเคมีเกษตรจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ต้องนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ที่ต้องหาตลาดนำเข้าอื่นทดแทนตลาดเดิมที่ส่วนใหญ่ยังใช้สารเคมีเหล่านี้ กระทบไปถึงต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และส่งต่อไปถึงราคาเนื้อสัตว์ที่จำหน่ายในท้องตลาด

แต่ตอนนี้ความกังวลดังกล่าวเบาใจลงได้ในระดับหนึ่ง เพราะผู้ประกอบการยังไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไร เบื้องต้นทุกอย่างยังเหมือนเดิม อาจรอดูรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องการจำกัดใช้สารไกลโฟเซตว่าจะดำเนินการอย่างไร

จึงถือเป็นจิตวิทยาเชิงบวกให้กับผู้ประกอบการอาหารสัตว์และบริษัทที่ต้องนำเข้าสินค้าเกษตร ทั้งบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF, บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT, บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TFG รวมไปถึงบริษัท น้ำมันพืชไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TVO ซึ่งมีทั้งธุรกิจน้ำมันถั่วเหลืองและอาหารสัตว์

นอกจากนี้ กลุ่มสินค้าเกษตรยังได้รับปัจจัยบวกจากราคาเนื้อหมูเนื้อไก่ในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดทั้งเดือน เพราะกำลังจะเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาวสิ้นปี โดยราคาหมูเฉลี่ยตอนนี้อยู่ที่ราว 60 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากเดือนต.ค. อยู่ที่ 57.70 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาไก่อยู่ที่ 37 บาทต่อกิโลกรัม จากเดือนก่อนที่ 35.50 บาทต่อกิโลกรัม

ขณะที่การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร หรือ ASF ในประเทศเวียดนาม ส่งผลให้ราคาหมูในเวียดนามเพิ่มขึ้นเช่นกัน หลังปริมาณผลผลิตของสู่ตลาดลดลง ซึ่งเนื้อหมูเป็นเนื้อสัตว์ที่คนเวียดนามนิยมบริโภคมากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนราว 70% ของการบริโภคเนื้อสัตว์ทั้งหมด

โดยปัจจุบันราคาเนื้อหมูในเวียดนามทำระดับสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 68,000-75,000 ดองต่อกิโลกรัม จากเดือนต.ค. ราคาอยู่ที่ 45,000 ดองต่อกิโลกรัม และดูแล้วราคายังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดปี 2563 จึงเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการอย่าง CPF และ TFG ที่มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจหมูในเวียดนามราว 7% และ 2% ตามลำดับ ขณะที่ฟาร์มของทั้งสองบริษัทยังไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกัน

ด้านบล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า เลือก CPF เป็นหุ้นเด่นในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร หลังรัฐบาลเลื่อนการแบน 3 สารอันตรายออกไป 6 เดือน ช่วยปลดล็อกความกังวลต่อการนำเข้าถั่วเหลืองและกากถั่วเหลือง นอกจากนี้ยังได้รับปัจจัยหนุนจากราคาหมูในเวียดนามที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับราคาเนื้อหมูและเนื้อไก่ในประเทศ

โดยคาดว่าราคาหมูในเวียดนามอาจขึ้นไปถึง 100,000 ดองต่อกิโลกรัม ภายในไตรมาส 1 ปี 2563 สูงกว่าต้นทุนของ CPF ถึง 3 เท่าตัว ส่วนราคาหมูในไทยน่าจะได้เห็น 70-75 บาทต่อกิโลกรัม ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 เป็นอย่างช้า ส่วนการส่งออกไก่ยังเติบโตดี เชื่อว่าปี 2563 จะเป็นปีทองของบริษัท หลังทุกธุรกิจหลักเข้าสู่ช่วงขาขึ้นพร้อมๆ กัน