เครือข่ายผู้บริโภคเสนอผ่าตัดโครงสร้างกระทรวงเกษตรฯ ตั้งกรมสนับสนุนเกษตรอินทรีย์

เครือข่ายผู้บริโภคเสนอผ่าตัดโครงสร้างกระทรวงเกษตรฯ ตั้งกรมสนับสนุนเกษตรอินทรีย์

พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการแสดงฉลากให้ผู้บริโภคมีสิทธิในการเลือกสินค้าเกษตร ผักผลไม้และอาหารที่มีการใช้สารเคมีอย่างชัดเจน

ตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้กลับมติของตนเองให้ชะลอการเพิกถอนทะเบียนพาราควอตและคลอไพริฟอส ไปอีก 6 เดือน และยกเลิกการเพิกถอนทะเบียนสารไกลโฟเสตให้อยู่ในระดับเพียงจำกัดการใช้ เครือข่ายผู้บริโภคกล่าวว่า ได้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่คงเส้นคงวา ไม่มีหลักวิชาการของคณะกรรมการวัตถุอันตราย และพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ที่เครือข่ายมองว่ากำลังเลือกข้างบริษัทสารเคมี
เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค จึงขอประนามการตัดสินใจที่ไม่ยืนเคียงข้างสุขภาพผู้บริโภค เกษตรกร และสิ่งแวดล้อม โดยกล่าวว่า ประเด็นเรื่องสารเคมี ไม่ใช่สิทธิของเกษตรกรในการใช้สารเคมีแต่ฝ่ายเดียว แต่เป็นสิทธิของผู้บริโภคที่ต้องได้รับความปลอดภัยและมีสิทธิในการเลือกซื้อสินค้าที่ได้รับการคุ้มครองมามากกว่า 40 ปี

เครือข่ายฯ ระบุว่า จากผลการทดสอบเมื่อเดือนที่ผ่านมาของนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พบการตกค้างสารเคมีมากถึง 13 ชนิด และสูงถึง 60% ในน้ำส้มสดและน้ำส้ม 100% จำนวน 30 ตัวอย่างที่สุ่มตรวจจากท้องตลาด


เครือข่ายฯ ขอเรียกร้องกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ผลักดันให้สินค้าเกษตรทั้งผักและผลไม้ มีการระบุแหล่งที่มาของสินค้า(Food Origin) และกระบวนการผลิตว่า มีการใช้สารเคมีอันตรายหรือไม่อย่างไร เพื่อให้ผู้บริโภคมีสิทธิเลือกและได้รับความปลอดภัยอันเป็นการคุ้มครองสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค รวมทั้งเกษตรกรที่ยังยืนยันถึงความจำเป็นในการใช้สารเคมี ขอให้ระบุสินค้าเกษตรของตนว่า กระบวนการผลิตมีการใช้สารเคมีอันตรายเหล่านี้


เครือข่ายยังเรียกร้องให้มีการผ่าตัดโครงสร้างของกระทรวงเกษตรฯ โดยให้มีหน่วยงานระดับกรม เพื่อสนับสนุนเกษตรกรรมยั่งยืนและเกษตรอินทรีย์ ตามรายงานและข้อเสนอของสภาผู้แทนราษฎรที่มีมติเอกฉันท์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในการยกเลิกสารเคมี 3 ชนิดนี้ และเดินหน้าปรับเปลี่ยนประเทศไทยไปสู่การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนให้ได้ 100% ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมดภายในปีพ.ศ. 2573


รัฐควรสนับสนุนให้ลดภาษีเครื่องจักรกลทางการเกษตรและสนับสนุนให้เกษตรกร ยืมเครื่องจักรกลใช้งานแทนการใช้สารเคมี และกระทรวงเกษตรฯ ควรทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ปรับปรุงฉลากของผลิตภัณฑ์อาหาร ให้ระบุสารเคมีที่ใช้ในทางการเกษตรให้ครบถ้วน เช่นเดียวกับการใช้วัตถุเจือปนอาหารตามหลักเกณฑ์การแสดงฉลากอาหารของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

ทั้งนี้ ทางตัวแทนเครือข่ายฯ ได้เข้าพบ รมช.เกษตรมนัญญาเพื่อยยื่นข้อเรียกร้องและให้กำลังใจในฐานะที่เป็นผู้ที่พยายามผลักดันให้มีการแบนสารฯ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา