ปัญหาขาดแคลนบุคลากรฉุดคุณภาพสาธารณสุขมาเลย์

ปัญหาขาดแคลนบุคลากรฉุดคุณภาพสาธารณสุขมาเลย์

ปัญหาขาดแคลนบุคลากรฉุดคุณภาพสาธารณสุขมาเลย์ แพทย์ทำงานมากเดินไปจนเหนื่อยล้า จนนำไปสู่การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน กลุ่มเฝ้าระวังเรียกร้องรัฐบาลเพิ่มบุคลากรในวงการแพทย์และเพิ่มสวัสดิการ

ทุกวันนี้ วงการสาธารณสุขมาเลเซียกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนบุคลากรขั้นวิกฤติ แพทย์และพยาบาลแต่ละคนทำงานหลายสิบชั่วโมง มีเวลาพักผ่อนน้อย เช่นกรณีของหมอสูตินรีแพทย์วัย 33 ปีคนหนึ่งที่ขับรถไปชนท้ายรถคันหน้าเพราะอาการหลับใน หลังจากออกเวรเมื่อเวลา 08.00 น. ขณะกำลังเดินทางออกจากกัวลาลัมเปอร์ เพื่อกลับบ้านที่สุบัง จายา หลังจากทำงานที่โรงพยาบาลมา 36 ชั่วโมงเต็ม

“ผมไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นและไม่รู้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ผมไม่ได้ขับรถเร็วเลยนะ แต่รู้สึกง่วงและวูบไปจนทำให้รถพุ่งชนท้ายของรถคันหน้า โชคดีที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บสาหัส ”นายแพทย์วัย 33 ปีชาวมาเลย์ กล่าว

การทำงานมากเกินไปและการเหนื่อยล้าจากงานที่ทำ ทำให้บรรดานายแพทย์ประสบอุบัติเหตุบนท้องถนน หลังจากเลิกงาน ไม่ใช่เรื่องแปลกเนื่องจากนายแพทย์หลายคนถูกบังคับทางอ้อมให้ทำงานเพิ่มขึ้นหลายชั่วโมง และในความเป็นจริง มีหลายกรณีที่แพทย์เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ เนื่องจากร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ

ขณะที่ สมาคมแพทย์ในมาเลเซีย เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงชั่วโมงทำงานของแพทย์ตามโรงพยาบาลทั่วประเทศ แต่จนถึงขณะนี้ มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากแม้ว่าจะเกิดอุบัติเหตุจนทำให้เกิดการเสียชีวิตแล้วก็ตาม

เอ็น. กานาบัสคารัน ประธานสมาคมการแพทย์แห่งมาเลเซีย (เอ็มเอ็มเอ) กล่าวว่า กำลังเกิดปัญหาระดับวิกฤติกับวงการแพทย์มาเลเซีย บรรดาแพทย์ทำงานหนักเกินไป ประกอบกับขณะนี้มีโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นมาก

“เนื่องจากจำนวนแพทย์ที่ไม่พอเพียง ทำให้แพทย์ที่มีอยู่ทำงานหนักขึ้นและขยายเวลาทำงานออกไปจากเดิม เพื่อให้การบริการแก่ผู้ป่วยไม่สะดุด”ประธานเอ็มเอ็มเอ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นปัญหาเร่งด่วน โดยลี บูน เชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขของมาเลเซีย เสนอให้รัฐบาลเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ประจำคลีนิกและโรงพยาบาลทั่วประเทศ 10,675 คน

ขณะที่แพทย์ด้านกระดูก ที่โรงพยาบาลรัฐบาลในซาราวัก ซึ่งปฏิเสธที่จะเปิดเผยชื่อบอกว่า รัฐบาลประเมินปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ต่ำเกินไป พร้อมทั้งเล่าว่า ในคลีนิกด้านกระดูกแห่งหนึ่งที่เปิดให้บริการวันละ 3 ชั่วโมง สามารถรองรับคนไข้ได้ 100 คน โดยคนไข้เหล่านี้จะได้รับการดูแลจากหมอ 6 คน หมายความว่าหมอหนึ่งคนต้องรับผิดชอบคนไข้15 คนในเวลาแค่3ชั่วโมงนี้

“ในเมื่อเป็นแบบนี้แล้ว จะไปถามหาคุณภาพด้านการรักษาพยาบาลจากที่ไหน ระบบการแพทย์ของเราแย่มาก ”แพทย์ด้านกระดูก กล่าว พร้อมเสริมว่า รัฐบาลไม่รู้ว่าจะจัดลำดับความสำคัญในเรื่องนี้อย่างไรและผลที่ได้คือการใช้ร่างกายอย่างไม่ระมัดระวังของคนที่เป็นแพทย์

ด้านวิสัญญีแพทย์ หรือหมอที่มีหน้าที่ให้ยาสลบในห้องผ่าตัดจากยะโฮร์ บารู ที่ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อ ได้แชร์ประสบการณ์ว่าปัจจุบันสัดส่วนคนไข้ต่อพยาบาลหนึ่งคนสูงกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ)แนะนำ

“ไม่แปลกใจเลยที่เกิดปัญหาทำงานเหน็ดเหนื่อยเกินไปในหมู่แพทย์และพยาบาล เพราะขณะนี้เราทำงานเพิ่มขึ้นมากเพื่อช่วยแพทย์ที่ควงกะเนื่องจากขาดแคลนบุคคลากร”วิสัญญีแพทย์จากยะโฮร์ บารู กล่าว

รายงานชิ้นนี้ อาจเป็นปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรม ขณะที่มาเลเซีย เร่งดำเนินนโยบายที่จะเป็น“เมดิคัลฮับ”ในอาเซียนแข่งกับประเทศอื่นๆ รวมทั้งไทย ด้วยการประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ ของสหรัฐ เข้ามาตั้งคณะแพทย์ศาสตร์วิทยาเขตย่อยในประเทศและพัฒนาตัวเองให้กลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมการรักษาพยาบาล ด้วยการเปิดบริการโรงพยาบาลในแบรนด์ของมหาวิทยาลัยฮอปกินส์ ขนาดประมาณ 300 เตียงรองรับผู้ป่วยชาวต่างชาติ และพัฒนาการศึกษาแพทย์ศาสตร์ภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ามาเลเซีย จะดำเนินการช้ากว่าสิงคโปร์ไปประมาณ 5 ปี แต่ก็ถือว่ามีการแข่งขันในเรื่องศักยภาพการบริการและการศึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุขสูงเช่นกัน

กรณีการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเพราะร่างกายเหนื่อยล้า จากการพักผ่อนน้อยของกุมารแพทย์หญิงชื่อ นูรูล ฮูดา อาห์หมัด เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ปี 2560 เป็นกรณีศึกษาที่สำคัญสำหรับบุคลากรวงการแพทย์มาเลเซีย

“ถึงเวลาแล้วที่เราต้องหาทางป้องกันการเสียชีวิตของบุคคลากรที่ทรงคุณค่า ในอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่ทำให้วงการแพทย์สูญเสียบุคลากรไปนั้น เกิดจากปัจจัยหลายด้านทั้งสภาพของรถยนต์ที่ขับ สภาพถนนหนทาง ตลอดจนปัจจัยแวดล้อมในขณะนั้นที่ทำให้ผู้ขับเสียสมาธิ แต่ความเป็นจริงอย่างหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือความเหนื่อยล้าของผู้ขับและการพักผ่อนน้อยเกินไป ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุถึงแก่ชีวิต ”แถลงการณ์ร่วมของกลุ่มเอ็นจีโอที่เคลื่อนไหวในวงการแพทย์ ระบุ

หลังการเสียชีวิตของดร.นูรูล เมื่อปี 2560 เอ็นจีโอในวงการแพทย์ที่ออกแถลงการณ์ร่วม ได้พบปะหารือกับบรรดาเจ้าหน้าที่ในกระทวงสาธารณสุข พร้อมทั้งเรียกร้องให้ปรับปรุงบรรยากาศการทำงานของแพทย์และพยาบาลให้ดีขึ้น รวมทั้งลดชั่วโมงทำงานของแพทย์ด้วย

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ออกกฏหมายว่าด้วยชั่วโมงทำงานที่ปลอดภัย หรือดำเนินการปกป้องบุคคลากรด้านการดูแลสุขภาพ พร้อมทั้งเพิ่มวันหยุดให้เพียงพอสำหรับบุคลากรในส่วนนี้

อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตุบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ กล่าวคือ นักศึกษาแพทย์จบใหม่จำนวนมากในมาเลเซีย ไม่ได้รับการบรรจุเข้าเป็นแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐและระหว่างรอเข้ารับการบรรจุ นักศึกษาแพทย์เหล่านี้พากันไปยึดอาชีพอิสระทำไปพลางๆ ทั้งการเป็นบาริสตาตามร้านกาแฟ และการเป็นพนักงานขับรถของแกร็บ บริษัทให้บริการรถรับจ้างผ่านแอพพลิเคชัน

หากมาเลเซีย ต้องการก้าวขึ้นมาเป็น“ฮับ”ด้านการแพทย์ในอาเซียนให้ได้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือแก้ปัญหาที่หมกอยู่ใต้พรม ด้วยการปรับปรุงบรรยากาศการทำงาน และเพิ่มสวัสดิการแก่บุคลากรในแวดวงการแพทย์ให้พอเพียงเสียก่อน