ครม.เพิ่มเงินกองทุนอาเซียน ป้องกันเสี่ยงขาดดุลชำระเงิน

ครม.เพิ่มเงินกองทุนอาเซียน ป้องกันเสี่ยงขาดดุลชำระเงิน

ครม.ไฟเขียวกรอบวงเงินสมทบอาเซียน + 3 รองรับความเสี่ยงอีกเท่าตัวจากจาก 1.2 แสนล้านดอลลาร์เป็น 2.4 แสนล้านดอลลาร์ ไทยมีวงเงินผูกพัน 9.1 พันล้านดอลลาร์

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างความตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralization Agreement: CMIM) ฉบับปรับปรุง ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน10ประเทศและประเทศคู่เจรจาอีก 3 ประเทศได้แก่ จีน เกาหลี และญี่ปุ่น หรือ อาเซียน+3  ในการพัฒนากลไกความร่วมมือทางการเงินของภูมิภาค เพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากปัญหาดุลการชำระเงินและขาดสภาพคล่องของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในระยะสั้น และยังเป็นส่วนเสริมความช่วยเหลือทางการเงินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) 

ทั้งนี้ความตกลง CMIM ฉบับปัจจุบันมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 2557 โดยปัจจุบันถึงระยะเวลาที่ประเทศสมาชิกจะมีการทบทวนในกรอบระยะเวลา 5 ปี ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและสอดคล้องสถานการณ์

โดยสาระสำคัญของร่างความตกลงฯ ฉบับปรับปรุง ได้แก่การขยายขนาดและสัดส่วนของวงเงินสมทบของประเทศสมาชิกอาเซียน + 3 จากเดิม 1.2 แสนล้านดอลลาร์เป็น 2.4 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นเงินสมทบจากประเทศอาเซียน 20% และจากจีน เกาหลี ญี่ปุ่น 80% โดยไทยมีวงเงินผูกพันเงินทุนสำรองนี้ 9.104 พันล้านดอลลาร์ 

อ่านข่าว-ครม.อนุมัติ 51 ล้านบาท ให้อคส.สร้างฟาร์มโคนม

ทั้งนี้การปรับสัดส่วนวงเงินที่ประเทศสมาชิกจะขอรับได้โดยไม่เชื่อมโยงกับเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือของกองทุนระหว่างประเทศ (IMF) จากเดิม 20% เป็น30% ของวงเงินสูงสุดที่จะได้รับการช่วยเหลือ  ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มบทบาทเป็นกลไกการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน เพื่อป้องกันการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจากเดิมที่จะให้ความช่วยเหลือหลังจากที่ประเทศสมาชิกประสบวิกฤตแล้วเท่านั้น

“การลงทุนสมทบของประเทศสมาชิก จะเป็นลักษณะของการยืนยันการผูกพันเงินสมทบโดยไม่มีการลงทุนจริง ผู้ว่าธนาคารกลางของแต่ละประเทศจะลงนามในหนังสือยืนยัน จึงไม่มีหน่วยงานกลางมาทำหน้าที่บริหารจัดการเงินทุน"

ที่ผ่านมานับตั้งแต่มีกลไกCMIM ยังไม่มีการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ในส่วนการลงนามในฉบับปรับปรุง มี 5 ประเทศที่ลงนามแล้ว คือ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลี และบรูไน ส่วนไทยได้ผ่านความเห็นชอบจากครม.แล้ว และจากนี้จะผ่านกระบวนการภายในก่อนร่วมลงนาม ส่วนประเทศอาเซียนที่ยังเหลือยู่ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา สปป.ลาว เวียดนาม เมียนมา