เศรษฐกิจไทยเสี่ยง ‘ถดถอย’ กูรูสั่งจับตาไตรมาส4

เศรษฐกิจไทยเสี่ยง ‘ถดถอย’ กูรูสั่งจับตาไตรมาส4

“กสิกรไทย” ห่วงสัญญาณเศรษฐกิจไทย เข้าใกล้ “ภาวะถดถอย” หลังไตรมาส 3 โตแค่ 0.1% เทียบไตรมาสก่อนหน้า ทั้ง สศช. ยังปรับไส้ในไตรมาส 2 ลง ส่งผลขยายตัวได้เล็กน้อย ประเมินความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น ขณะ เงินบาทแนวโน้มแตะ 29.2 ต่อดอลลาร์

การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยตลอดปี 2562 ที่เติบโตต่ำกว่าการคาดการณ์ของสำนักวิจัยหลายๆ แห่ง รวมทั้งแรงส่งจากการเติบโตแบบไตรมาสต่อไตรมาสที่ขยายตัวได้ค่อนข้างต่ำ ทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในระยะข้างหน้า ถือเป็นประเด็นที่นักเศรษฐศาสตร์ต่างเฝ้าติดตามดู

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ยังต้องติดตามดูตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ว่าจะหดตัวลงหรือไม่เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2562 เพราะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเริ่มมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น 

โดยถ้าดูการขยายตัวทางเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 3 ปี 2562 เทียบกับไตรมาส 2 ปี 2562 ขยายตัวในระดับต่ำเพียง 0.1% เท่านั้น และการขยายตัวดังกล่าว ยังเกิดจากการที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ปรับตัวเลขไส้ในของไตรมาส 2 ใหม่ โดยปรับลดลง 0.2% เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่าที่คาด จึงทำให้ตัวเลขไตรมาส 3 เทียบไตรมาส 2 ยังสามารถขยายตัวได้

สัญญาณเสี่ยง‘ศก.ถดถอย’

นายกอบสิทธิ์ กล่าวว่า หากไตรมาส 2 ไม่มีการปรับตัวเลขลง ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 หดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ดังนั้นสัญญาณทางเศรษฐกิจจึงถือว่าเริ่มปริ่มน้ำ หรือเป็นสัญญาณที่เข้าใกล้ภาวะหดตัว จึงต้องติดตามดูตัวเลขไตรมาส 4 อย่างใกล้ชิด

เขากล่าวด้วยว่า หากดูความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยนั้น พบว่า มีความเป็นไปได้มากขึ้นถึงระดับ 20% ในระยะข้างหน้า โดยเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาซึ่งความเป็นไปได้ยังอยู่ระดับต่ำกว่า 15% เป็นผลจากสงครามการค้าที่คาดว่าจะรุนแรงต่อเนื่อง กระทบต่อภาคการส่งออก

"หากถามว่าเราเข้าสู่ Recession หรือยังในตอนนี้ ก็ต้องบอกว่า “ยัง” แต่เราเริ่มปริ่มน้ำแล้ว เพราะหากดูตัวเลขไตรมาส 3 บวกแค่ 0.1% แต่สังเกตว่าไตรมาส 2 ตัวเลขถูกปรับลง 0.2% เพื่อให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ดูดีขึ้นหากเทียบกับไตรมาส 2 ซึ่งวิธีนี้ นับเป็น วิธีเชิงเทคนิคในเชิงหลีกเลี่ยงเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่เชิงเทคนิคหากไม่ปรับตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ลง น่าจะเป็นช่วงนับถอยหลังของการเข้าสู่ Recession แล้ว ดังนั้นต้องจับตาว่าเศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่เราเชื่อว่าไตรมาส 4ก็เป็นไตรมาสที่เหนื่อยมากขึ้น แต่หากดีขึ้นก็อาจมีผลที่เกี่ยวกับฤดูกาลที่เข้ามาทำให้ดีขึ้น”

เงินบาทส่อแตะ29.2ต่อดอลล์

สำหรับทิศทางค่าเงินบาท คาดว่า ค่าเงินยังมีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง โดยคาดว่าสิ้นปีนี้ ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ราว 30.50 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ภายในกลางปีคาดว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าต่อไปที่ระดับ 29.75 บาทต่อดอลลาร์ และสิ้นปี 2563 จะแข็งค่าต่อไปสู่ 29.25 บาทต่อดอลลาร์ หลักๆมาจากความไม่สมดุลของเศรษฐกิจ จากปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุลในระดับสูงหรือราว 3 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีหน้า อีกทั้งความผันผวนจากเศรษฐกิจโลก ยังมีต่อเนื่อง จากสงครามทางการค้า ที่คาดว่ายังยืดเยื้อต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 1ปี ก่อนจะมีการเลือกตั้งสหรัฐ

ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทย คาดว่า ปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพียงระดับ 2.7% เท่านั้น ลดลงจากปีนี้ที่ประมาณการณ์เดิมที่ 2.8% เนื่องจากมองว่าส่งออกน่าจะได้รับผลกระทบต่อเนื่อง จากสงครามการค้า ทำให้ภาคการส่งออกที่เป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบมากกว่าคาด จึงมองส่งออกปีหน้าคาดว่าติดลบเพิ่มเป็น 2% จากปีนี้ที่คาดติดลบเพียง 1% เท่านั้น ขณะที่การผลิต การจ้างงาน น่าจะขยายตัวไม่ได้มากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจไทย ยังต้องเผชิญกับ สังคมสูงอายุที่ทำให้จำนวนแรงงานและปริมาณการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้นได้ยาก ขณะที่มาตรการภาครัฐและการเบิกจ่ายงบประมาณในปี 63 ที่ออกมายังเป็นการพยุงสถานการณ์ และมีผลระยะสั้นเท่านั้น

ขณะที่ด้านการท่องเที่ยว ปีหน้าก็ยังมองว่าขยายตัวได้ไม่สูง เนื่องจากภาพเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และตลาดท่องเที่ยวสำคัญอย่างจีนอาจมีการปรับการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มีการท่องเที่ยวในประเทศจีนมากขึ้น เพื่อดูแลเศรษฐกิจภายใน ทำให้การเดินทางมาเที่ยวไทยอาจลดลงได้

ตลาดบีบกนง.ลดดอกเบี้ยเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม แม้ภาพเศรษฐกิจไทย จะมีทิศทางเติบโตต่ำลง แต่เชื่อว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) อาจไม่มีการลดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในปีหน้า เนื่องจากเริ่มมีข้อจำกัดของนโยบายการเงิน เพราะดอกเบี้ยที่ 1.25% ถือว่าอยู่ระดับที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์แล้ว

“เราคาดว่า กนง.จะไม่ลดดอกเบี้ยปีหน้า เพราะหากค่าเงินแข็งค่าขึ้น แล้วจะเอาดอกเบี้ยไปแก้บาทแข็ง ก็คงไม่ถูกจุด และดอกเบี้ยปัจจุบันถือว่าต่ำมากที่ 1.25% เพราะการลดดอกเบี้ยเหมือนการให้ยาแก้ปวด ไปแก้มะเร็ง มันแก้ไม่ได้ อาจจะรู้สึกดี แต่โรคก็ไม่หาย และในเชิงเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าดอกเบี้ยลดลงได้น้อยมาก แต่ในโลกความเป็นจริง ธปท.อาจเจอแรงกดดันมากขึ้น เพราะธปท.ถือเป็นเสาหลัก เป็นที่พึ่งหลัก ในการช่วยประคองเศรษฐกิจ”

หอการค้ามั่นใจศก.ปีหน้าฟื้น

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงครม.เห็นชอบมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี 2562 ใช้งบ 3.5 หมื่นล้านบาทว่า เป็นมาตรการที่ดี โดยเฉพาะมาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัยภายใต้โครงการบ้านมีดาวน์ ซึ่งเป็นการสนับสนุนการซื้อบ้านของผู้มีรายได้น้อยเพื่อให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองและกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยขณะนี้คนมีเงินแต่ไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย การออกมาตรการดังกล่าวน่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีกว่าที่ไม่มีมาตรการใดออกมา 

อย่างไรก็ตามจะสามารถกระตุ้นการเติบโตหรือจีดีพีได้มากน้อยแค่ไหนต้องรอประเมินหลังมาตรการดังกล่าวขับเคลื่อนไปสักระยะหนึ่งก่อน ทั้งนี้หอการค้าไทยจะมีการประชุมหอการค้าทั่วประเทศในระหว่างวันที่ 29 พ.ย.-1 ธ.ค.ที่จังหวัดลำปาง ซึ่งจะมีการพูดคุยถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย

“หอการค้าไทยมองว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะดีขึ้นเพราะรากฐานเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องสงครามการค้า ค่าเงินบาทที่แข็งค่า แต่ในภาพรวมก็ไม่ได้ส่งผลกระทบด้านลบกับไทยโดยเฉพาะเรื่องสงครามการค้ากลับเป็นผลดีต่อไทยเพราะทราบมาจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) มีนักลงทุนจีนหันมาลงทุนในไทยมากขึ้นหลังจากที่มีปัญหากับทางสหรัฐ”นายกลินท์ กล่าว