'ไอพีโอ' แพง! นักวิเคราะห์ยังบ่น ฉุดกำไรต่อหุ้นของ บจ. ทั้งตลาดดิ่ง

'ไอพีโอ' แพง! นักวิเคราะห์ยังบ่น ฉุดกำไรต่อหุ้นของ บจ. ทั้งตลาดดิ่ง

นักวิเคราะห์เผยหุ้นไอพีโอราคาสูงเกินพื้นฐาน กดดันกำไรต่อหุ้นของทั้งตลาด ล่าสุดหั่น “อีพีเอส” ปี63 ลง 9% เหลือ 95.7 บาทต่อหุ้น ลดลงมากกว่ากำไรรวมตลาดที่ปรับลง 4.5% เหลือ 1.05 ล้านล้านบาท พร้อมประเมินหุ้นไทยปีหน้าแตะ 1,700 จุด แนะลุยหุ้นที่ปรับตัวลงแรง

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซียพลัส เปิดเผยว่า กำไรของบริษัทจดทะเบียน 9 เดือน ที่ทำได้เพียง 6.95 แสนล้านบาท ส่งผลให้ฝ่ายวิจัยปรับประมาณการกำไรรวมของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยลงเหลือ 9.63 แสนล้านบาท ลดลง 3.7% จากเดิมที่คาดไว้ 9.99 แสนล้านบาท เช่นเดียวกับกำไรของบริษัทจดทะเบียนรวมปี 2563 ที่ปรับลดลงจาก 1.05 ล้านล้านบาท มาเหลือ 1 ล้านล้านบาท หรือลดลง 4.5%

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณากำไรต่อหุ้น (EPS) รวมของตลาด จะเห็นว่าถูกปรับลดลงในอัตราส่วนที่มากกว่ากำไรรวม อย่างในปี 2562 กำไรรวมถูกปรับลดลง 3.7% แต่กำไรต่อหุ้นกลับลดลงถึง 8% มาเหลือ 92.11 บาทต่อหุ้น ขณะที่ปี 2563 กำไรต่อหุ้นถูกปรับลดลง 9% มาเหลือ 95.7 บาทต่อหุ้น

“ประมาณการกำไรที่ถูกหั่นลงมาส่วนหนึ่งเกิดจากกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ทำได้ต่ำกว่าคาด แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเข้ามาของหุ้นไอพีโอซึ่งมีค่าพีอีสูงมากๆ ส่งผลให้กำไรที่เพิ่มเข้ามาในตลาดนั้น น้อยกว่าปริมาณหุ้นที่เพิ่มเข้ามาจากหุ้นไอพีโอเหล่านี้”

จากสถิติ 3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าหุ้นไอพีโอ 29 บริษัท ในปี 2560 มีค่าเฉลี่ย P/E สูงถึง 33 เท่า ปี 2561 หุ้นไอพีโอ 12 บริษัท มีค่า P/E เฉลี่ย 30 เท่า และในปี 2562 จนถึง ณ ปัจจุบัน หุ้นไอพีโอ 14 บริษัท มีค่าเฉลี่ย P/E สูงถึง 84 เท่า ซึ่งการกระโดดขึ้นของค่าเฉลี่ย P/E ของหุ้นไอพีโอในปีนี้ เป็นผลจากหุ้นใหญ่อย่าง AWC ซึ่งมี P/E เทียบกับราคาไอพีโอสูงกว่า 200 เท่า จึงยิ่งทำให้กำไรต่อหุ้นของตลาดถูกกดดันจาก Dilution Effect จากหุ้นไอพีโอที่ P/E สูงเหล่านี้

“อยากเสนอให้หุ้นไอพีโอที่มีค่าพีอีสูงให้คำยืนยันกับตลาดเสียหน่อยว่าหลังจากเข้าจดทะเบียนด้วยพีอีสูงแล้ว จะสามารถสร้างกำไรกลับมาได้ทันกับความคาดหวัง ขณะเดียวกันอยากเสนอในส่วนของการให้ข้อมูลนักลงทุนเกี่ยวกับแนวโน้มของหุ้นไอพีโอ ซึ่งอาจจะให้ที่ปรึกษาทางการเงินร่วมจัดทำบทวิเคราะห์แสดงถึงแนวโน้มการเติบโต เพราะที่ปรึกษาฯ เป็นผู้ที่ใกล้ชิดและรู้จักบริษัทนั้นๆ ดีมากกว่านักวิเคราะห์ที่อาจจะรู้จักหุ้นไอพีโอเหล่านั้นเพียงแค่ 1 – 2 สัปดาห์”

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส คาดว่าหุ้นไทยในปีหน้ามีเป้าหมายที่ประมาณ 1,680 – 1,720 จุด อิงจาก P/E 16.7 – 17.1 เท่า โดยมองว่ากลุ่มหุ้นที่น่าสนใจได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้น ซึ่งจะช่วยให้กำไรในไตรมาส 1 ปี 2563 เติบโตได้ดี และด้วยราคาหุ้นที่ปรับลดลงมามาก จนอัตราเงินปันผลเฉลี่ยสูงถึง 7% และค่า P/E เหลือเพียง 5-6 เท่า นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มสื่อและโรงพยาบาลก็เริ่มน่าสนใจหลังราคาลดลงมามาก ส่วนกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม จะยังได้แรงหนุนจาก EEC

ด้าน นายภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่า แนวโน้มปี 2563 อาจจะเติบโตได้เล็กน้อย โดยคาดดัชนีเป้าหมายที่ 1,700 จุด โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามคือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน คาดว่าน่าจะบรรลุข้อตกลงระยะแรกได้ รวมถึงโอกาสการปรับเพิ่มเรทติ้งของประเทศไทย และที่สำคัญคืองบประมาณภาครัฐซึ่งน่าจะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยปีหน้า

ทั้งนี้ มองว่าหุ้นที่น่าจะโดดเด่นในปีหน้าคือกลุ่มธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ และพลังงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ปรับตัวลดลงมาแรงในปีนี้ และเงินปันผลเริ่มน่าสนใจ