มอง "พลาสติก" มุมใหม่ จับ “งานดีไซน์” สู่ลดการใช้แล้วทิ้ง

มอง "พลาสติก" มุมใหม่ จับ “งานดีไซน์” สู่ลดการใช้แล้วทิ้ง

ขณะที่สังคมประณามว่า “พลาสติก” เป็นผู้ร้าย ผู้ผลิตเป็นต้นตอของปัญหา และผู้บริโภค คือ ปลายทางที่ไร้สำนึก พลาสติกซึ่งถูกใช้ไปทั่วโลก แต่เพราะอะไรหลายประเทศจึงสามารถบริหารจัดการขยะเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อ 156 ปีก่อน บริษัทผลิตลูกบิลเลียดในสหรัฐอเมริกาต้องการหาวัสดุทดแทนงาช้างเพื่อใช้ในการทำลูกบิลเลียด ซึ่งในขณะนั้นเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมสูง จึงเป็นเหตุให้ช้างป่าในแถบแอฟริกาจำนวนมากถูกล่าเพื่อเอางาจนเกือบสูญพันธุ์ เขาจึงประกาศให้รางวัล 1 หมื่นเหรียญ แก่ผู้ที่คิดค้นสิ่งทดแทนงาช้างได้ พลาสติกจึงถือกำเนิดขึ้นโดย John Wesley Hyatt ช่างไม้ชาวอเมริกา

และหากย้อนไปเมื่อ 54 ปีก่อน “ถุงพลาสติกหูหิ้ว” เคยเป็นนวัตกรรมใหม่ของโลก ที่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก และแก้ปัญหาให้กับมนุษย์ จากผลงานการคิดค้นโดย วิศวกรสวีดิช “Sten Gustaf Thulin” และเพื่อนร่วมงานขณะที่เขาทำงานใน บริษัท Celloplast เมืองนอร์เชอปิง ประเทศสวีเดน โดยมีการรับรองสิทธิบัตรอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2508 ด้วยความที่มีน้ำหนักเบา ราคาไม่แพง และสามารถผลิตได้ในปริมาณมาก มันจึงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย

ปัจจุบัน พลาสติกกลายเป็นผู้ร้าย ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ในขณะที่เรายังมีการผลิต ผู้บริโภคยังคงใช้ และพลาสติกจำนวนมากถูกทิ้ง และกำจัดอย่างผิดวิธี ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศน์ในทะเล หากมองในภาพกว้างปัญหาเหล่านี้ดูจะไม่ใช่เพียงว่า “พลาสติกทำให้เกิดขยะ” แต่ต้องมองให้เห็นถึงต้นตอการผลิต ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ระบบการจัดการขยะ ไปถึงการออกแบบอย่างไรให้นำไปสู่การใช้อย่างคุ้มค่า

  • It’s not my fault

อ.พรเทพ ฉัตรภิญญาคุปต์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและวิชาการของ ยาคอบ เยนเซ่น ดีไซน์และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อธิบายว่า ช่วงที่มีการผลิตถุงผ้าที่เขียนว่า I’m not a plastic bag ออกมา ตอนนั้นให้นักศึกษาทำถุงพลาสติกแล้วพิมพ์คำว่า It’s not my fault (มันไม่ใช่ความผิดของฉัน) เพราะฉันถูกออกแบบมาให้ใช้ได้นานๆ แต่ความผิดคือ “มนุษย์” ที่เอาฉันไปทิ้ง

สังเกตุว่า อีเกียไม่ใช้ถุงผ้า แต่ใช้ถุงพลาสติก แต่ทำไมคนที่ไปซื้อของอีเกียจะไม่ลืมเอาถุงพลาสติกไปขนของกลับมา ต้องพยายามเน้นไปที่การรับรู้ของคนว่าถ้าคุณมี Green Mind คุณใช้พลาสติกก็ได้ แต่คุณต้องใช้มันอย่างคุ้มค่า ทิ้งให้ถูกที่ก็ไม่เกิดปัญหา

157485333761

ในประเทศญี่ปุ่น มีการทำโมเดลแบบแยกแค่ 2 ถัง เผาได้ (เช่น ไม้ กระดาษ) กับ เผาไม่ได้ (เช่น เหล็ก พลาสติก) และให้พิจารณาเอา แต่ถ้าไม่เข้าใจก็อาจจะลงถังเผาได้อย่างเดียว ขณะที่ประเทศไทย ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าไม่อยากแยกขยะ แต่เราสับสนกับถังขยะ ถ้าสิ่งที่ถืออยู่ในมือมีลูกชิ้นปิ้งที่เสียบคาไม้ เหลืออยู่ในน้ำจิ้มในถุงพลาสติกคุณจะแยกขยะอย่างไร

ผมคิดว่ามีคนตั้งใจแยกขยะ แต่ในที่สุดแล้วยอมแพ้ ดังนั้น อย่าเอาแต่ว่ามนุษย์ ว่าไม่ศึกษา แต่ต้องถามด้วยว่าระบบเป็นอย่างไร อย่าโฟกัสที่คนอย่างเดียว ต้องดูด้วยว่าระบบอะไรที่ซัพพอร์ต อย่างถังขยะของเราที่เป็นสี บางทีผมเป็นดีไซน์เนอร์ ผมก็สับสนเหมือนกัน ถ้าเราไปช่วยตรงนั้นอย่างน้อยเราก็ได้คนกลุ่มที่ตั้งใจแยกขยะมา ส่วนคนที่ไม่คิดจะแยก อย่างไรเขาก็ไม่แยกอยู่แล้ว ก็ต้องละไว้ในฐานที่เข้าใจ หรืออาจจะต้องเอากฏหมายเข้ามาจัดการ

  • “คิดโปรดักส์”ต้องมองให้รอบด้าน

อ.พรเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาหลายครั้งงานดีไซน์จะดูแค่ลูกค้าเป็นหลัก แต่ผมมองว่าถ้าเอาลูกค้าเป็นศูนย์กลางทุกอย่างจบ เช่น ธนาคารแห่งหนึ่งออกโปรเจค ให้ลูกค้าไม่ต้องกรอกแบบฟอร์ม แต่ให้เจ้าหน้าที่กรอกแทน ปกติเคยกรอก 20 ฟอร์ม แต่วันนี้กรอกไป 40 ฟอร์มหน้าหงิกโดยไม่รู้ตัว ลูกค้าอาจจะแฮปปี้แต่บรรยากาศอึมครึม เพราะเขาใส่ใจต่อลูกค้า แต่ลืมคนของเขา

“ดังนั้น เวลาออกแบบเราต้องเก็บข้อมูลเหล่านี้ให้หมด เรียกว่า Human - Centered Design ออกแบบโดยใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นหนึ่งในรายวิชาการเรียนการสอนด้วย เวลาออกแบบต้องเก็บข้อมูล มีการพูดคุย และมองผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ต้องดูตั้งแต่โปรดักส์เกิด จนกระทั่งมันตาย ถ้าโปรดักส์กำจัดยาก มีปัญหา ก็อาจจะมีผลตามมา”

  • มองข้ามรีไซเคิลสู่การใช้อย่างคุ้มค่า

อ.พรเทพ เล่าว่า มีโปรเจคหนึ่งที่ทำสมุดโน๊ตกับ ท๊อป – พิพัฒน์ ร้าน Eco Shop เป็นกระดาษโน๊ตรีไซเคิลธรรมดาตีเส้นบันทัด ชื่อสมุด “0.4921” ซึ่งเป็นตัวเลขความกว้างของเส้นบรรทัดในสมุด ที่เขาคำนวณออกมาแล้วว่า เป็นความแคบที่ยังสามารถเขียนได้มากที่สุด พร้อมเขียนจำนวนหน้าและจำนวนบันทัดไว้ เราต้องการสื่อสารว่า ช่วยเขียนทุกบันทัดทุกหน้าอย่างคุ้มค่า สมุดเล่มนั้นได้รางวัลจากประเทศญี่ปุ่น เพราะ “เราพยายามจะบอกว่ามันไม่ได้เกี่ยวกับว่าคุณใช้วัสดุอะไร มันอยู่ที่คุณเองใช้มันอย่างคุ้มค่าหรือไม่

157485333721

"หากมองในมุมมองของดีไซน์เนอร์ ผมอยากจะตกงาน เพราะอยากให้มีโปรดักส์ที่คนใช้ไปชั่วชีวิต และผมไม่ต้องออกแบบใหม่อีก บทบาทของดีไซเนอร์ คือ เวลาออกแบบต้องพยายามทำให้ง่าย ไม่หวือหวา ทนทาน และคนจะใช้ได้ยาว ผ่านไป 50-60 ปี ก็ยังดูทันสมัย ตอนนี้เราพูดกันเยอะในเรื่องของวัสดุรีไซเคิล ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากมนุษย์ทิ้ง แต่ถ้าผมทำโทรศัพท์มือถือจากวัสดุที่ตกไม่แตก อัพเกรดได้ตลอดเวลา เปลี่ยนแค่ซอฟต์แวร์ ไม่ต้องเปลี่ยนฮาร์ดแวย์ ผมว่ามันก็สามารถใช้ได้นาน อาจจะผลิตจากวัสดุอะไรที่มหัศจรรย์แบบไม่ย่อยสลายเลยก็ได้"

  • อย่ามองพลาสติกเป็นผู้ร้าย

พลาวุฒิ เจริญจิตมั่น ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ หจก. เจ.ซี.พี. พลาสติก ในฐานะที่ผลิตสินค้าพลาสติกมากว่า 25 ปี กล่าวว่า หลายคนที่มองว่าพลาสติกเป็นผู้ร้าย เพราะพลาสติกง่ายเกินไปจนทิ้งตรงไหนก็ได้ กลายเป็นนิสัย พฤติกรรม แม้บริษัทจะไม่ได้ผลิตพลาสติกครั้งเดียวทิ้ง แต่คิดว่าสิ่งสำคัญคือการสร้างการรับรู้ในเรื่องของการคัดแยกขยะ ทำอย่างไรให้ถูกต้อง ไม่เกิดปัญหา

157485333718

“พลาสติกประเภทเดียวกันควรรีไซเคิลประเภทเดียวกัน เพื่อนำไปใช้ต่อ แต่พอมีกลุ่มแปลกๆ เช่น ไบโอพลาสติก ยิ่งทำให้รีไซเคิลยาก คำถามคือ เราแก้ปัญหาผิดจุดหรือไม่ หรือสร้างปัญหามากกว่าเดิม” พลาวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย