'ไพบูลย์' ดีใจได้เป็น กมธ. ศึกษาแก้รัฐธรรมนูญ

'ไพบูลย์' ดีใจได้เป็น กมธ. ศึกษาแก้รัฐธรรมนูญ

“ไพบูลย์” ดีใจได้เป็น กมธ. ศึกษาแก้รัฐธรรมนูญ พร้อมรับทุกตำแหน่ง เพื่อเดินหน้าทำงานตามนโยบายรัฐบาล-และพรรคพลังประชารัฐ พร้อมย้ำประธาน กมธ. ต้องเป็นฝ่ายรัฐบาล

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ หนึ่งในรายชื่อที่รัฐบาลเสนอให้เป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งก่อนหน้านี้แล้ว รู้สึกยินดี เพราะมีความตั้งใจมาตั้งแต่ต้น และเห็นความสำคัญของคณะกรรมาธิการฯชุดนี้ ซึ่งจะได้นำเสนอความเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญบางมาตรา เชื่อ จะเป็นประโยชน์กับประชาชน ประเด็นที่สนใจคือจะทำอย่างไรให้ประชาชนได้ประโยชน์จากการแก้รัฐธรรมนูญ

ส่วนข่าวที่จะได้เป็นประธานกรรมาธิการฯนั้น นายไพบูลย์ กล่าวว่า คงยัง เพราะกรรมาธิการก็ยังไม่ได้ตั้ง ต้องฟังวิปรัฐบาลด้วย ว่าจะมีผู้ใดเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งต่างๆ ในคณะกรรมาธิการ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อมีการประชุมคณะกรรมาธิการฯแล้ว และต้องรอของวิปรัฐบาลที่จะแจ้งให้ทราบ ย้ำว่า มีความตั้งใจที่จะปฏิบัติหน้าที่ไม่ว่าจะตำแหน่งใดก็ตาม ยอมรับว่า มีหลายคนที่เหมาะสมจะเป็นประธานกรรมาธิการศ ไม่จำเป็นต้องเคยผ่านการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ต้องมีความรู้ มีประสบการณ์ ส่วนตนเองพร้อมจะเป็นประธานหรือไม่นั้น ย้ำว่า ตำแหน่งใดก็ได้ที่รัฐบาลและพรรคเห็นว่าเหมาะสม

สำหรับการวิพากษ์วิจารณ์ว่า หากตนเองเป็นประธานกรรมาธิการฯแล้วโอกาสการแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปได้น้อย นายไพบูลย์ กล่าวว่า กรรมาธิการทุกคนคงมีความเห็นเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต่างกันอยู่แล้ว เราไม่เคยพอใจรัฐธรรมนูญทุกมาตราอยู่แล้ว เมื่อมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น ก็จะได้แสดงความเห็นว่า มาตราใดควรแก้ไขเพิ่มเติม การมีคณะกรรมาธิการฯชุดนี้เป็นเวทีสำคัญ

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ส่วนตัวมีความเห็นอยากแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 185 (1) ที่ไม่ให้ ส.ส. ส.ว. เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานของหน่วยราชการ โดยอยากเพิ่มเติมท้าย (1) ว่า หากเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือประชาชนนั้น สามารถดำเนินการได้ เพื่อให้เป็นประโยชน์กับประชาชน ตามนโยบายของรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐ ขณะที่เพื่อนสมาชิกก็มีความเห็นในหลายมาตรา โดยเฉพาะมาตรา 256 เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวเชื่อว่า กรรมาธิการฯ 49 คน น่าจะชี้แจงเหตุผลได้ ทุกอย่างคือความสวยงามของความเห็นหลากหลาย ยังไม่เห็นว่าเรื่องใดไม่ควรแก้ไข ต้องรอฟังก่อน เชื่อว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราใด ต้องมีเหตุและมีผล สามารถนำเสนอต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อทำความเข้าใจและมีความเห็นร่วมกันได้

นายไพบูลย์ ยังปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ไม่มีชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แต่นายไพบูลย์กลับได้เป็นแคนดิเดตประธานกรรมาธิการฯ แต่ยืนยันว่า นายอภิสิทธิ์ เป็นผู้ที่มีความรู้เป็นอย่างดี ก็มีความเหมาะสมที่จะเป็นกรรมาธิการฯ แต่หากไม่ได้มาร่วมนั้น ก็แล้วแต่ แต่มั่นใจว่ากรรมาธิการฯทั้ง 49 คน ได้รับการเลือกสรรมาเป็นอย่างดีแล้ว ย้ำว่า ประธานกรรมาธิการฯต้องเป็นฝ่ายรัฐบาล