ลุ้นมติ คกก.วัตถุ​อันตราย​เลื่อน-ไม่เลื่อนแบนสารพิษ​เกษตรบ่ายนี้​

ลุ้นมติ คกก.วัตถุ​อันตราย​เลื่อน-ไม่เลื่อนแบนสารพิษ​เกษตรบ่ายนี้​

กรรมธิการการพาณิชย์ฯ เสนอเลื่อนการพิจารณาพร้อมเปิดเวทีรับฟังรอบด้าน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายเปิดเผยก่อนการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่า วันนี้เป็นการเข้าประชุมครั้งแรก กรมวิชาการเกษตร​อาจเสนอให้เลื่อนการแบน 3 สารเคมีเกษตร​ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดเดิมกำหนดยกเลิกในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ ออกไปก่อน 
ในที่ประชุมครั้งนี้ จะขอรับฟังข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตรเพื่อประกอบการตัดสินใจ ซึ่งวันนี้จะได้ข้อสรุปซึ่งมีความเป็นไปได้ใน 3 แนวทาง  1.ยุติการแบน 2. เลื่อนการแบนจากวันที่ 1 ธ.ค.​ ออกไป 6 เดือน​ และ 3. ยืนยันตามมติเดิม
โดยปัจจัยที่จะต้องนำมาประกอบการพิจารณาว่าจะเลื่อนแบนสารอันตรายหรือไม่ ประกอบด้วยเรื่องการบริหารจัดการ​ ที่หากไม่เลื่อนจะมีแนวทางจัดการสารเคมีที่เกษตรกรครอบครองอยู่ รวมทั้งสต๊อกคงค้างของร้านค้า ที่มีมูลกว่านับหมื่นล้านบาทอย่างไร และจะหาสารทดแทนชนิดใดมาใช้ให้มีประสิทธิภาพและราคาใกล้เคียงของเดิมอย่างไร
สำหรับการการนั่งเป็นประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายวันแรก นายสุริยะยืนยันว่าไม่ได้หนักใจแต่อย่างใด พร้อมย้ำว่าการประชุมในวันนี้ต้องชัดเจน และตอบโจทย์สังคม ทั้งในส่วนของเกษตรกร สุขภาพ และราคาผลผลิตทางการเกษตรจะมองเฉพาะมิติใดมิติหนึ่งไม่ได้ โดยส่วนตัวเชื่อว่า วันนี้จะได้ข้อสรุปว่าจะเลื่อนการแบนหรือไม่
ที่กระทรวงเกษตรฯ ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายสตรีในชุมชนกทม. กับมูลนิธิเครือข่ายหญิงชายก้าวไกล ทั้งมีแม่อุ้มลูกชายแบเบาะวัยเพียงเดือนเศษ และหญิงตั้งครรภ์ เดินทางมามอบดอกไม้ให้กำลังใจ นนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ โดยชูป้าย ติแฮทแท็กเซฟมนัญญา ให้เดินหน้าแบน3สารต่อไปเพื่อปกป้องสุขภาพคนไทย 
รมช. มนัญญา ขอบคุณทุกคนที่มายืนเคียงข้าง และกล่าวว่าจะเดินหน้าทำในเรื่องที่ดีด้วยจิตใจบริสุทธิ์ ไม่ท้อต่ออุปสรรคที่เข้ามาด้วยความมุ่งมั่นสิ่งที่ทำจะเกิดสิ่งที่ดีที่สุดกับประเทศและคนไทย
 
รมช. มนัญญา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีคนบอกแล้วว่า ถ้ารัฐมนตรีจะรับเงินง่ายกว่า แต่รัฐมนตรีแบนทำยาก ถามว่ารับเงินแล้วไปทำอะไรเงิน แต่แบนสารพิษมีผลประโยชน์กับผู้หญิง และเด็กที่กำลังจะเกิดมาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีจิตใจดีสมองดี เรื่องการแบนสารมีผลประโยชน์กับประชาชนทุกคน
 
"พี่ไปอ.เวียงแก่น จ.เชียงราย  เด็กนักเรียนที่นั่นน่าสงสารมาก ทางสาธารณสุขไปตรวจเลือด พบมีสารตกค้างปนเปื้อนในเลือด ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่กี่อึดใจ จะรู้มติการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย พี่ไม่หนักใจเพราะยืนยันทุกอย่างทำเพื่อสุขภาพพี่น้องคนไทยได้ผลักดันการแบน 3 สาร เต็มที่แล้ว ไม่ว่าผลออกมาอย่างไรจะเดินหน้าต่อไป" รมช.มนัญญากล่าว
ด้านนางสาวอังคณา อินทะสา ตัวแทนมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ระบุว่า การเดินทางมาครั้งนี้ต้องการให้กำลังใจ รมช. มนัญญา หลังถูกโจมตีจากฝ่ายสนับสนุนให้ใช้สารเคมี เพื่อให้ยืนหยัดต่อสู้เพื่อป้องกันสุขภาพประชาชนต่อไป และถือเป็นความกล้าหาญทางนโยบายที่จะถูกบันทึกไว้ เพราะมีกลุ่มที่เสียประโยชน์จากการแบนครั้งนี้ต้องการขัดขวางและยืดเวลาออกไปอีก 6 เดือน​ 
ไม่ควรมีการขยายเวลาต่อไปอีกในฐานะผู้บริโภคต้องการวัตถุดิบที่ปลอดภัยในการทำอาหาร และผลักดันการทำเกษตรอินทรีย์เพื่อลดการใช้สารเคมี
ส่วนทางรัฐสภา กรรมธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญาเสนอ​ให้เลื่อนการแบนสารเคมีออกไปก่อน  และให้จัดเวทีสาธารณะถ่ายทอดสดดีเบตข้อมูลทั้งสองฝ่าย พิสูจน์ความจริงว่าสารเคมีดังกล่าวเป็นอันตรายและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่จนได้ข้อยุติร่วมกัน
โดยนายอันวาร์ สาและ​ ประธานกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา​ รัฐสภา​ ยื่นหนังสือ​ เรียกร้องให้เลื่อนการแบน​ 3​ สารเคมีเกษตร​ ต่อนายสุริยะ​ จึงรุ่งเรือง​กิจ​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุต​สาหกรรม​ ในฐานะประธาน​คณะกรรมการ​วัตถุ​อันตราย​ 
นายอันวาร์​ บอกว่า​ การที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย ปรับการควบคุมวัตถุอันตราย พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นชนิดที่ 4 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พศ 2562 ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความรุนแรงทางสังคมขึ้นมาทันทีโดยฟากฝั่งเกษตรกรทั่วประเทศได้ออกมาร้องขอความเป็นธรรมจากรัฐบาล ในเรื่องการหยุดแบน 3 สาร อย่างต่อเนื่อง จนเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พศ. 2562 ได้เกิดม็อบตัวแทนเกษตรกรเดินขบวนเพื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาให้ยับยั้ง ทบทวน ชะลอ และยุติการแบน 3 สาร เนื่องจากเกษตรกรนั้นได้รับความเดือดร้อนจากการครอบครอง และถูกงดการใช้ 3 สารดังกล่าว
ทางคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา ได้เห็นถึงประเด็นปัญหาของการแบน 3 สารนี้มาตลอด และได้ทำการพิจารณาตรวจสอบเรื่องนี้ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับต้นทุนทางการเกษตร ที่เกษตรกรทั้งประเทศ เผชิญกับปัญหาดังกล่าวมาก่อนหน้านี้ ซึ่งทางคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา ได้ให้ความช่วยเหลือ พิจารณาเรื่องนี้อย่างละเอียด รอบคอบ ถี่ถ้วน และครบทุกด้านอย่างเป็นธรรม 
และพบความจริงว่าการแบน 3 สารเคมีเกษตรดังกล่าวยังขาดมาตรการรองรับที่ดี จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศในหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตรกร, ภาคการค้าขายของชุมชน, ภาคการค้าภายในประเทศ และส่งออก รวมถึงนำเข้า, ภาคผู้บริโภค, ภาค
อุตสาหกรรมเกษตร, ภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากผลิตผลเกษตร รวมถึงที่สำคัญคือ ความสัมพันธ์ทางการค้าระดับประเทศ และข้อตกลงทางการค้าโลก ที่ประเทศไทยอาจจะละเมิดกติกาสากล ซึ่งทางคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประเมินมูลค่าไว้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านล้านบาท
และจุดสำคัญของการดำเนินการแบน 3 สารดังกล่าว โดยขาดมาตรการรองรับที่ดี ทางคณะกรรมาธิการฯ พบว่าอาจไม่สอดคล้องกับ รัฐธรรมนูญปี พศ. 2560 มาตรา 73 ที่ว่า รัฐพึงจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่ช่วยให้เกษตรกรประกอบเกษตรกรรมได้อย่งมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพสูงมีควมปลอดภัยโดยใช้ต้นทุนต่ำ และสามารถแข่งขันในตลาดได้ และพึงช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากไร้ให้มีทำกินโดยการปฏิรูปที่ดินหรือวิธีอื่นใด
ในฐานะประธานกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญาได้เสนอแนะทางออก เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมดังนี้ คือ​ ภาครัฐควรจัดเวทีสาธารณะถ่ายทอดสดเพื่อให้มีการนำข้อมูลของฝ่ายที่ต้องการแบน 3 สารเคมีเกษตรกับฝ่ายที่ต้องการให้แบน 3 สารเคมีเกษตร มาเผยแพร่ เพื่อพิสูจน์ความจริงให้เห็นว่า สารเคมีเกษตรดังกล่าวนั้น มีความปลอดภัย ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรืออาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในด้านใดบ้าง โดยใช้หลักการทำงานแบบวิจัยและหลักฐานเชิงวิทยาศาสตร์ อย่างถูกต้องและถูกวิธีการ และเมื่อเกิดขัดแย้งทางสังคมเช่นนี้ ทางรัฐบาลควรดำเนินการอย่างเร่งด่วน และเป็นธรรมต่อแก่ทั้ง 2ฝ่าย เพื่อพิสูจน์ความจริงเพื่อคลี่คลายความสงสัยของสังคม