ลงทุนอย่างไร ในภาวะดอกเบี้ยติดลบ

ลงทุนอย่างไร ในภาวะดอกเบี้ยติดลบ

หลายประเทศเริ่มมีการใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อยังไม่ได้ผลนัก ก็มีการลดดอกเบี้ยลงไปอีก ในทางกลับกันกลุ่มตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทยด้วย ได้รับอานิสงส์จากเงินทุนที่จะไหลเข้ามา

ในปัจจุบันนักลงทุนหลายท่านคงมีคำถามว่า จะลงทุนอย่างไรในภาวะดอกเบี้ยขาลง ในบางประเทศมีการใช้ดอกเบี้ยนโยบายติดลบมาพักหนึ่งแล้ว แต่แนวโน้มเศรษฐกิจก็ยังไม่มีทีท่าที่จะดีขึ้นมากนัก จนอาจมีการนำนโยบายการเงินแบบใหม่มาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต

เรื่องทั้งหมดนี้มีผลต่อการลงทุนของเราอย่างไร วันนี้เรามีคำตอบมาฝากกันครับ

ในปัจจุบันแบงก์ชาติทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้ทำการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ธนาคารกลางบางแห่งถึงกับต้องใช้นโยบายติดลบ เช่น ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางของประเทศญี่ปุ่น ประกอบกับการกระตุ้นเชิงประมาณ (Quantitative Easing หรือ QE) เนื่องจากหลังจากลดดอกเบี้ยนโยบายจนเหลือศูนย์แล้ว ก็ยังไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับนักลงทุนอย่างมาก

เนื่องจากแม้แต่นักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ก่อนหน้านี้ ก็เคยเข้าใจกันว่าอัตราดอกเบี้ยไม่สามารถต่ำกว่าศูนย์ได้ ซึ่งผลกระทบจากดอกเบี้ยนโยบายที่ติดลบดังกล่าว ไม่เพียงแต่เพิ่มความท้าทายให้กับการลงทุนในประเทศที่มีนโยบายดอกเบี้ยติดลบเท่านั้น แต่สามารถส่งผลถึงบ้านเราได้ด้วยเช่นกัน กล่าวคือแม้เราจะรู้สึกว่าดอกเบี้ยบ้านเราก็ต่ำแล้ว แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่ดอกเบี้ยติดลบเหล่านี้ ดอกเบี้ยบ้านเราจะดูสูงไปเลย

ดังนั้นผลที่ตามมาก็คือ เงินทุนจะเริ่มไหลเข้าตลาดเกิดใหม่มากขึ้น รวมถึงในบ้านเราด้วย ซึ่งมีผลทำให้เงินบาทในบ้านเราแข็งค่ามากขึ้น และแบงก์ชาติของเราเองก็จะโดนกดดันให้ลดดอกเบี้ยตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ในภาวะดอกเบี้ยขาลงหรือติดลบแบบนี้ ในฐานะนักลงทุนก็ยังพอมีตัวเลือกที่น่าสนใจอยู่ ได้แก่การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนน่าสนใจและสม่ำเสมอ เช่น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ที่แม้ในปัจจุบันราคาอาจขึ้นไปพอสมควรแล้ว แต่อัตราเงินปันผล ตอบแทนในรูปแบบของเงินปันผลที่สม่ำเสมอ ไม่ลดต่ำลง เมื่อเทียบกับดอกเบี้ยที่ลดลงเรื่อยๆ นั้น ก็ยังถือว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ สำหรับนักลงทุน

อย่างไรก็ตามบางประเทศ แม้จะมีการใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบก็แล้ว เศรษฐกิจก็ยังไม่ดีขึ้นตามที่คาดหวัง ก็ใช้วิธีลดดอกเบี้ยให้ติดลบมากขึ้นอีก ถึงจุดนี้หลายท่านอาจสงสัยว่า ขีดจำกัดของการใช้นโยบายแบบนี้อยู่ตรงไหน และหากยังไม่ได้ผลอีก อะไรจะเป็นทางเลือกในการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป ดังนั้นจึงมีนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มหนึ่งที่พยายามจะตอบคำถามนี้ ด้วยการเสนอแนวคิดใหม่ที่เรียกว่า "ทฤษฎีการเงินสมัยใหม่ (Modern Monetary Policy หรือ MMT)" ซึ่งเป็นที่พูดถึงกันอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ถึงขั้นเคยติด Top 10 ของแฮชแทกในทวิตเตอร์เลยทีเดียว

โดยแนวคิดนี้จะคล้ายกับการทำ QE คือให้ธนาคารกลางพิมพ์เงินออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ตัวเงินที่พิมพ์ออกมานั้น จะไหลลงไปสู่ประชาชนระดับรากหญ้ามากกว่า QE เพราะเงินที่พิมพ์จาก MMT จะนำไปให้รัฐบาลใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยไม่ผ่านสถาบันการเงินแบบ QE ซึ่งจะทำให้ผลประโยชน์ค่อนข้างจำกัดอยู่ในตลาดการเงิน ไม่ไหลลงสู่เศรษฐกิจรากหญ้าอย่างแท้จริง

แต่ถึงกระนั้นในปัจจุบัน MMT ก็ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากมีจุดอ่อนที่สำคัญ คือ MMT อาจทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นมากจนควบคุมได้ยาก

อย่างไรก็ตามในฐานะนักลงทุน หากในอนาคตโลกเราเริ่มมีการนำ MMT มาใช้จริงๆ ตลาดเกิดใหม่รวมถึงบ้านเราน่าจะได้ประโยชน์ เนื่องจากประเทศที่มีศักยภาพในการนำ MMT มาใช้ น่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ เช่น สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น

ดังนั้น น่าจะทำให้เงินทุนจากประเทศที่พัฒนาแล้วเหล่านี้ ไหลมาฝั่งตลาดเกิดใหม่มากขึ้น และน่าจะทำให้นักลงทุนในบ้านเราได้รับประโยชน์ไปตามๆ กัน