Corporate Spin-off ยูนิคอร์นพันธุ์ใหม่

Corporate Spin-off ยูนิคอร์นพันธุ์ใหม่

แนวโน้มการเติบโตทางธุรกิจในไทยอาจไม่ใช่การขยายธุรกิจใหม่ในธุรกิจเดิม แต่เป็นการแยกออกมาตั้งใหม่ หรือการ Spin-off แล้วเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาเป็นแบบสตาร์ทอัพ เพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับวิงคโปร์และอินโดนีเซียที่มียูนิคอร์นหลายรายแล้ว

ถ้ามองไปฟากของสหรัฐ เราก็ได้เห็นสิ่งที่คล้ายคลึงกัน สตาร์ทอัพสาย Biotech ที่ชื่อว่า Springworks Therapeutics ที่เพิ่งประสบความสำเร็จในการระดมทุนและจดทะเบียนเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ก็เป็นสตาร์ทอัพที่เกิดจาก Corporate Spin-off เช่นกัน บริษัทยายักษ์ใหญ่อย่าง Pfizer ได้ Spin-off ธุรกิจ Biotech กลุ่มนี้ออกมาประมาณปี 2017 โดยปล่อยให้ทำธุรกิจได้แบบอิสระ ทั้งเปิดให้ระดมทุนจาก VC และคู่แข่งในอุตสาหกรรมได้ โดย Pfizer ถือเป็นเพียงแค่ผู้ถือหุ้นรายหนึ่งเท่านั้น สตาร์ทอัพรายนี้ได้ระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อพัฒนายาหลายตัวต่อหลังจากที่ได้ spin-off ออกมาจาก Pfizer และที่น่าสนใจมากก็คือ Pfizer เองก็ไม่ได้เป็น Lead Investor ในการระดมทุนของสตาร์ทอัพรายนี้ตั้งแต่วันแรกๆ ที่แยกตัวออกมาจนถึงวันที่เข้า IPO

สิ่งที่ต้องคิดต่อในวันนี้ก็คือ โมเดลของการ Spin-off ธุรกิจดิจิทัลหรือธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม จะกลายเป็นวิถีใหม่ของการเติบโตทางธุรกิจสำหรับองค์กรใหญ่หรือไม่ ฝั่งบ้านเราเองก็ได้เห็นองค์กรใหญ่สายการเงินออกมาประกาศตัวพร้อมที่จะสร้างยูนิคอร์นจากการแยกบางธุรกิจในกลุ่มดิจิทัลออกมาจากฝั่งธุรกิจเดิมและปล่อยให้ธุรกิจใหม่เดินด้วยตัวเอง โดยสามารถร่วมมือเป็นพันธมิตรหรือระดมทุนจากใครก็ได้ 

เมื่อธุรกิจที่กำลังถูก Disrupt หันมาเล่นเกมใหม่คือ Disrupt ตัวเองด้วยการแยกธุรกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมออกมาจากพันธนาการเชิงโครงสร้างขององค์กรเดิม นี่อาจเป็นนิมิตหมายใหม่ที่ทำให้หลายคนที่เคยสบประมาทว่าไทยไม่มียูนิคอร์นเสียที ต้องเปลี่ยนความคิด แต่ถึงแม้สิ่งนี้จะเป็น "โอกาส" และแนวทางใหม่ แต่โลกแห่งความเป็นจริงมักจะยากและมีอุปสรรคเสมอ จากการพูดคุยกับ VC ต่างชาติหลายรายที่คร่ำหวอดในวงการสตาร์ทอัพ และได้สัมผัสกับผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จมาแล้วมากมาย หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า โมเดล Corporate Spin-off จะเวิร์คหรือไม่เวิร์คอยู่ที่ปัจจัยหลายอย่าง 

การที่องค์กรใหญ่มีทรัพยากรมากพอที่จะแยกธุรกิจใหม่ออกมารันแบบสตาร์ทอัพ ข้อได้เปรียบที่มีในเชิงธุรกิจอาจต้องนำมาประเมินกับความเสียเปรียบในบางมุม เช่น ข้อแรก Ownership หรือเซนส์ของความเป็นเจ้าของ ทำอย่างไรให้ Founder ของธุรกิจใหม่มีจิตวิญญาณของความเป็นเจ้าของเช่นเดียวกับสตาร์ทอัพที่มีความเป็นผู้ประกอบการอยู่ในตัวและดิ้นรนมากพอที่จะทำทุกวิถีทางให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ

ข้อสอง Autonomy ความอิสระในการตัดสินใจของทีม จะสลัดโครงสร้างการบริหารหรือวิถีเดิมๆ ขององค์กรได้เด็ดขาดหรือไม่ ถ้าที่สุดสตาร์ทอัพที่เป็น Corporate Spin-off ยังยึดติดกับภาพและมี Mindset การเป็น "ผู้บริหาร" มากกว่าการเป็น "ผู้ประกอบการ" อุปสรรคระหว่างทางอาจทำให้เส้นทางการสร้างธุรกิจสะดุดลงและขาดแรงผลักดันที่จะสู้เพื่อให้ไปได้สุดทางสุดท้าย

ท้ายสุดการควานหา Role Model หรือ Talents ที่มีความเป็นผู้ประกอบการอาจจะยากกว่าการหาโมเดลธุรกิจใหม่ เสียด้วยซ้ำ