“อาเซียน-เกาหลีใต้” เห็นพ้องต้านกีดกันการค้าทุกรูปแบบ

“อาเซียน-เกาหลีใต้” เห็นพ้องต้านกีดกันการค้าทุกรูปแบบ

“อาเซียน-เกาหลีใต้”เห็นพ้องต้านกีดกันการค้าทุกรูปแบบพร้อมยกระดับการค้า-การลงทุน เพื่อสร้างความมั่งคั่งแก่ภูมิภาค

เวทีประชุมผู้นำอาเซียน-เกาหลีใต้ เห็นพ้องต่อต้านการกีดกันการค้าทุกรูปแบบ พร้อมยกระดับการค้า-การลงทุน เพื่อสร้างความมั่งคั่งแก่ภูมิภาค ด้าน“ประยุทธ์” ชูกระชับสัมพันธ์หุ้นส่วนเศรษฐกิจกับเกาหลีใต้ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในสาขาต่างๆให้มากขึ้น

วานนี้ (26พ.ย.)ประธานาธิบดีมุน แจ อินของเกาหลีใต้ ให้การต้อนรับผู้นำประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน) ซึ่งเดินทางมาร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีใต้เป็นเวลา 2 วัน ที่เมืองปูซาน

ในโอกาสนี้ ยังเป็นการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 30 ปีความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับเกาหลีใต้ด้วย โดยเมื่อปี 2560 ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ประกาศนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ที่มีจุดมุ่งหมายในการเชื่อมโยงเกาหลีใต้กับอาเซียนให้มากขึ้น และขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในภูมิภาคนี้.

นอกจากนี้ สมาชิกอาเซียน ทั้ง 10 ประเทศ ยังเห็นพ้องกับเกาหลีใต้ในการต่อต้านการกีดกันการค้าทุกรูปแบบ พร้อมยกระดับการค้าเพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับภูมิภาค ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงดังกล่าวหลังเสร็จสิ้นการประชุม ASEAN-ROK Commemorative Summit ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองปูซาน เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 30 ปีของความสัมพันธ์อาเซียน-เกาหลีใต้

แถลงการณ์ร่วมระบุว่า อาเซียนและเกาหลีใต้เห็นพ้องที่จะสนับสนุนการยกระดับการค้าและการลงทุน รวมถึงต่อต้านการกีดกันการค้าทุกรูปแบบ เพื่อพัฒนาความรุ่งเรืองของภูมิภาค นอกจากนี้ นายมุน ยังเสนอแนวทางในการรับมือกับความท้าทายต่างๆ ผ่านทางความร่วมมือและความปรองดองของทั้งสองฝ่าย พร้อมสร้างประชาคมการค้าที่เสรีและเป็นธรรม เพื่อป้องกันการลุกลามของนโยบายกีดกันการค้า ที่จะนำไปสู่ภาวะทรุดตัวด้านการค้าและการลงทุนในภูมิภาค

นายมุน กล่าวว่า “เรากำลังเผชิญกับความท้าทายรูปแบบใหม่ อาทิ การกีดกันการค้า อาชญากรรมข้ามชาติ และการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4”

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นายมูน แจ อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ได้ร่วมกันเป็นประธานในการประชุม โดยผู้นำทั้งสองเห็นพ้องในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป)

ส่วนการประชุม ASEAN-ROK CEO Summit เป็นเวทีสำคัญให้ผู้นำ และภาคเอกชนอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลี หารือเกี่ยวกับประเด็นเศรษฐกิจโลกที่สำคัญ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางธุรกิจในภูมิภาค โดยมีผู้นำอาเซียน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี ผู้แทนภาคธุรกิจสำคัญ เช่น ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และเมียนมา เข้าร่วม

ด้านพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ กล่าวถึงความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ การส่งเสริมความยั่งยืนในทุกมิติ โดยสาธารณรัฐเกาหลีถือเป็นหนึ่งในคู่เจรจาสำคัญของอาเซียน การอำนวยความสะดวกทางการค้าเป็นสิ่งที่อาเซียนไม่เคยมองข้ามและให้ความสำคัญ ซึ่งในอนาคตสามารถขยายความเชื่อมโยงไปยังประเทศคู่เจรจาได้ โดยอาเซียนพร้อมสนับสนุนการสร้างความเชื่อมโยงทางการค้าดิจิทัล รวมทั้งผลักดันให้เกิดความเชื่อมโยงภายในภูมิภาคผ่านการลดอุปสรรคทางการค้า นอกจากนี้ ไทยยังให้ความสำคัญกับการบรรลุความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ให้กับภาคธุรกิจ เกิดการพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ อาเซียน ตระหนักดีถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ที่ถือเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยอาเซียนเห็นพ้องให้มีการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดตามที่ระบุในแผนปฏิบัติการ ภาคเอกชนอาเซียนได้วางเป้าหมายการพัฒนาได้คือ 1. การพัฒนาแรงงานทักษะฝีมือ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและเทคโนโลยี 2. การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางดิจิทัล ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล และการสร้างความเชื่อมโยงทางดิจิทัลในอาเซียน 3. ความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรม 4. การส่งเสริมกลไกความร่วมมือทางการค้า โดยเฉพาะความร่วมมือภาคเอกชน

ภาครัฐสนับสนุนให้ภาคเอกชนใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้กรอบเอฟทีเออาเซียน-เกาหลีใต้ โดยเฉพาะความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ที่สาธารณรัฐเกาหลีมีความโดดเด่น อาทิ ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่อาเซียนสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงการอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีของไทย ยังกล่าวสุนทรพจน์ในฐานะประธานร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีใต้ครั้งนี้ โดยกล่าวสรุป ถึงผลลัพธ์สำคัญของการประชุมครั้งนี้ว่าประกอบด้วย 1.กระชับความสัมพันธ์ในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น 2.มีความเชื่อมโยงและยั่งยืนยิ่งขึ้่น 3.มีความมั่นคงขึ้นในการจัดการปัญหาทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก 4.ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันให้ครอบคลุมสาขาต่าง ๆ มากขึ้น