เศรษฐกิจดิจิทัล-สูงวัย-เมดิคัลฮับ ปัจจัยไทยเนื้อหอมดูด JETRO

เศรษฐกิจดิจิทัล-สูงวัย-เมดิคัลฮับ ปัจจัยไทยเนื้อหอมดูด JETRO

เจโทร กรุงเทพฯ จัดโครงการ ‘Jetro Innovation Program’ ในประเทศไทย พาผู้ประกอบการสตาร์ทอัพญี่ปุ่นเข้าร่วมออกบูธและจัดงานเจรจาจับคู่ธุรกิจ ในงานมหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลนานาชาติ ‘CEBIT ASEAN Thailand 2019’

โครงการ ‘Jetro Innovation Program’ ในประเทศไทยนั้น ได้จัดมาตั้งแต่ปี 2561 และครั้งนี้เป็นปีที่ 2 ที่พาผู้ประกอบการสตาร์ทอัพญี่ปุ่น 7 ราย (จำนวนเดียวกับปี 2561) เข้าร่วมออกบูธและจัดงานเจรจาจับคู่ธุรกิจ สำหรับปีนี้ นอกจากจะมีการจัดโครงการในประเทศไทยแล้ว ยังมีการจัดที่สหรัฐอเมริกา (ซานฟรานซิสโก, ซิลิคอนวัลเลย์) จีน (เซินเจิ้น, เซี่ยงไฮ้) รวม 3 ประเทศ สำหรับปีนี้เจาะไปที่กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมการแพทย์และผู้สูงอายุ โดย เจโทร นำบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาทั้งหมด 7 ราย แบ่งเป็น 4 ราย จากด้านดิจิทัล และอีก 3 รายจากด้านการแพทย์และผู้สูงอายุ 

157484709017

นาย อัตสึชิ ทาเคทานิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือเจโทร ประจำกรุงเทพฯ กล่าวว่า การสนับสนุนสตาร์ทอัพญี่ปุ่นของรัฐบาลไม่ได้เกิดจากการให้เงินสนับสนุน แต่เป็นการให้โอกาสในการแข่งขันอย่างเสรีรวมถึงการให้องค์ความรู้และการให้คำปรึกษา การที่เจโทรจัดงานจับคู่ทางธุรกิจขึ้นมาก็นับเป็นการขยายโอกาสในการลงทุนในต่างประเทศให้กับสตาร์ทอัพโดยไม่จำเป็นต้องสนับสนุนด้วยเงินทุน เนื่องจากการทำเช่นนั้นเป็นเพียงการลงทุนระยะสั้น โดยขณะนี้ญีปุ่นมีสตาร์ทอัพในระดับ 'ซูเปอร์สตาร์' หรือระดับที่เกือบเป็น 'ยูนิคอร์น' (ได้รับเงินสนับสนุนมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ประมาณ 140 บริษัท และตั้งเป้าให้มีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น 20 บริษัท ภายในปี 2566

ประเทศไทยมีตลาดดิจิทัลที่ถือว่าเป็นตลาดขนาดใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน เป็นที่น่าจับตามอง และมีการเจริญเติบโตในด้าน FinTech เช่น การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังทุ่มเทกับนโยบายการเติบโตในระยะยาว ‘Thailand4.0’ ที่สนับสนุนอุตสาหกรรมดิจิทัล  ขณะเดียวกันไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก็จะมีโอกาสทางธุรกิจนี้ และไทยมีชื่อเสียงทางด้านการรักษาพยาบาลที่มีชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามารักษาก็จะมีโอกาสทางธุรกิจด้วย

ทั้งนี้ทางเจโทร กรุงเทพฯ มองเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้ทำความร่วมมือกับ Accelerator ท้องถิ่นที่มีความเชี่ยวชาญในวงการสตาร์ทอัพของไทย จัดทำโครงการสนับสนุนการขยายธุรกิจของผู้ประกอบการญี่ปุ่นในประเทศไทยอย่างครบวงจร โดยได้มีการจัดงานเจรจาธุรกิจของโครงการโดยเฉพาะ ภายในงาน CEBIT ASEAN Thailand ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งเมนูการสนับสนุน

 

นอกจากการจัดงานเจรจาธุรกิจแล้ว ยังมีเมนูการสนับสนุนต่าง ๆ อาทิ โครงการ ‘Bootcamp’ บ่มเพาะความพร้อมล่วงหน้าก่อนมาที่ประเทศไทย และโครงการ Mentoring แบบส่วนตัวกับ Accelerator ท้องถิ่น โดยเน้นการติวเข้มในการปรับ Pitch ให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการไทย ให้กับบริษัทญี่ปุ่นที่เข้าร่วมโครงการ รวมถึงยังมีเมนูสนับสนุนอื่น ๆ ทั้งก่อนและหลังการจัดงาน

157484714271


จุดประสงค์ของโครงการ  (1) สร้างโอกาสในการขยายธุรกิจมายังประเทศไทย เนื่องจากที่มหกรรมนานาชาติ ‘CEBIT’ นี้ นอกเหนือจากการออกบูธแล้ว แต่ละบริษัทยังมีโอกาสได้ขึ้น Pitch บนเวที จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ประชาสัมพันธ์สินค้า เทคโนโลยี หรือบริการของบริษัทตนให้แก่ผู้ประกอบการทั้งจากไทยและต่างประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ที่งานยังจัดการเจรจาธุรกิจแบบรายบุคคลให้กับแต่ละบริษัทและด้วยการที่แต่ละบริษัทสามารถเข้าเจรจากับผู้ประกอบการที่ต้องการได้ จะนำไปสู่การเพิ่มโอกาสการขยายธุรกิจในประเทศไทยมากขึ้น

(2) สร้างความเข้าใจต่อตลาดไทยให้มากยิ่งขึ้นแก่บริษัทที่เข้าร่วมโครงการ บริษัทที่เข้าร่วมโครงการจะมีความเข้าใจเป็นอย่างดีต่อข้อมูลต่างๆในประเทศไทย เช่น สถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มของวงการสตาร์ทอัพในไทย วิธีการเจาะตลาดสำหรับสตาร์ทอัพโดยเฉพาะ หรือจุดควรระวังสำหรับการเจาะตลาด เป็นต้น ผ่านเซสชั่นต่าง ๆ ในโครงการ เช่น การอบรมล่วงหน้าอย่าง ‘Bootcamp’ การ Mentoring หรือการออกงาน CEBIT ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้สามารถพิจารณาถึงความแตกต่างระหว่างไทยกับญี่ปุ่นและจุดที่สามารถนำ know-how จากญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้ได้ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการพิจารณากลยุทธ์ธุรกิจในการขยายธุรกิจมายังประเทศไทยในอนาคต

(3)  โอกาสในการเตรียมตัวเองให้พร้อมสำหรับการรับมือกับตลาดโลก การทำให้ชัดเจนว่า จุดแข็งและจุดอ่อนของบริการของบริษัทตนคืออะไร จุดต่างของตนกับบริษัทอื่นอยู่ตรงไหน โมเดลการสร้างกำไรเป็นอย่างไร รวมถึงจะใช้วิธีใดในการสื่อสารและการแสดงออกที่จะสามารถถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้นไปยังอีกฝ่ายได้คือปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศในอนาคต ในโครงการนี้ผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้มากมายผ่านการชี้แนะที่ถูกต้องแม่นยำของเมนเทอร์มืออาชีพ โดยเฉพาะในเซสชั่น Bootcamp และ Mentoring

157484717333

JIP ได้เตรียมพร้อมให้กับสตาร์ทอัพทั้ง 7 รายก่อนเดินทางมาประเทศไทย ดังนี้ 1.การอบรมล่วงหน้า Bootcamp 31 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ที่ เจโทร สำนักงานใหญ่ (โตเกียว) เป็นเซสชั่นสำหรับการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าในการเข้าร่วมงานมหกรรมครั้งนี้ ในโครงการ ‘Bootcamp’ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่านที่มีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัลไปยังประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการได้ร่วมปรึกษาหารือและรับคำแนะนำเกี่ยวกับโมเดลธุรกิจสำหรับบริษัทญี่ปุ่นในต่างประเทศ และการสร้างกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจในอาเซียน

2.Mentoring แบบ 1 ต่อ 1 เพื่อเป็นการสร้างความพร้อมในการเข้าร่วมงาน CEBIT มีการจัด Mentoring session โดยเมนเทอร์จากประเทศไทย 3 ท่านผู้มีความเชี่ยวชาญด้านสตาร์ทอัพ ให้แก่บริษัทที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ นอกจากการที่    เมนเทอร์ได้ให้คำแนะนำแต่ละบริษัทที่เข้าร่วมเกี่ยวกับเนื้อหาข้อมูลของ Presentation และรูปแบบการ Pitch แล้ว ยังได้ให้คำแนะนำในเรื่องการสร้าง Appeal Point ในการเจรจาธุรกิจอีกด้วย โดยทั้งหมดนี้ดำเนินการผ่านระบบ Video Meeting เป็นระยะเวลากว่า 3 เดือน 

3. การดูงาน Ecosystem Tour 25 – 26 พฤศจิกายนนี้ ที่ กรุงเทพมหานคร เพื่อความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้นต่อระบบนิเวศทางธุรกิจในท้องถิ่น จึงได้จัดให้มีการเข้าเยี่ยมหน่วยงานภาครัฐอย่างสํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และพบกลุ่มธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องที่มีบทบาทในวงการ เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มเซ็นทรัล และโรงพยาบาลกรุงเทพ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการจัด Panel Discussion กับ Community สตาร์ทอัพจากญี่ปุ่นที่ขยายกิจการเข้ามาในประเทศไทยแล้ว ด้วยการจัดเตรียมพื้นที่ในการสอบถามพูดคุยและฟังคำอธิบายจากกลุ่มต่าง ๆ และตัวแทนจากแต่ละธุรกิจ ทำให้ได้มีการเรียนรู้ในหลายด้านเกิดขึ้นล่วงหน้าอีกด้วย

157484532164


4. การออกบูธ Pitch และการเจรจาธุรกิจในงาน CEBIT ASEAN Thailand 2019 วันที่ 27 – 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ณ อิมแพคเมืองทองธานี ฮอลล์ 7 บริษัทที่เข้าร่วมโครงการจะได้ออกบูท Pitch บนเวทีในวันที่ 28 และได้เจรจาธุรกิจกับบริษัทไทยที่ทำการนัดไว้ล่วงหน้ากว่า 100 นัด

157484719322

สำหรับ 7 บริษัทสตาร์ทอัพ แยกเป็น 4 บริษัทเป็นบริษัทที่มีนวัตกรรมเซอร์วิสด้าน IT และดิจิทัล อีก 3 บริษัทเป็นบริษัทที่มีนวัตกรรมด้านการแพทย์ ดังนี้ 1.Spectee บริการแจ้งเตือน ภัยธรรมชาติ รายงานข้อมูลอุบัติเหตุ และสถานการณ์ฉุกเฉิน 2. Abeja บริการวิเคราะห์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วย AI Platform 3.Studist แอพพลิเคชั่นสร้างคู่มือการทำงานที่มี interface ใช้งานง่ายบนสมาร์ทโฟน 4. Soramitsu ให้บริการ Blockchain พัฒนาสกุลเงินดิจิทัลและพัฒนาระบบการโอนเงินให้กับธนาคารแห่งชาติกัมพูชา 5. VisGene ชุดตรวจสอบไวรัสไข้เลือดออกจาก Genome 6. AIVS ระบบโมชั่นเซนเซอร์เพื่อดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ 7.Xcoo (เท็นคู) โปรแกรม AI วิเคราะห์มะเร็งจาก Genome