'ไอบีเอ็ม ผุดศูนย์ควอนตัมฯ โลก จ่อขยายใช้งานเชิงพาณิชย์ 

'ไอบีเอ็ม ผุดศูนย์ควอนตัมฯ โลก จ่อขยายใช้งานเชิงพาณิชย์ 

ความก้าวหน้าด้านการประมวลผลเชิงควอนตัมอาจเปิดประตูสู่การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ในอนาคต เช่น ยา และ วัสดุชนิดใหม่

หวังเทคโนฯ ช่วยไทยสู่ยุค 4.0

157476996080
“ปฐมา จันทรักษ์” รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า กลยุทธ์ไอบีเอ็ม นับตั้งแต่ที่นำคอมพิวเตอร์ควอนตัมเครื่องแรกมาอยู่บนคลาวด์เมื่อปี 2559 คือ การนำควอนตัมคอมพิวติ้ง ที่เดิมเป็นเพียงการทดลองในห้องปฏิบัติการโดยองค์กรเพียงไม่กี่แห่ง ให้เข้าถึงผู้ใช้งานจำนวนมาก โดยล่าสุดได้พัฒนาคอมพิวเตอร์ควอนตัมระดับ 53 คิวบิตแล้ว 

“ไอบีเอ็มเห็นความสำคัญของการเสริมศักยภาพให้กับชุมชนควอนตัมที่กำลังเติบโต ซึ่งมีทั้งนักวิชาการ นักวิจัย และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ล้วนมีความตั้งใจจริงที่จะปฏิวัติระบบประมวลผลโดยคอมพิวเตอร์ โดยไอบีเอ็มหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้มีความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการศึกษาของไทย ในการนำควอนตัมคอมพิวติ้งเข้ามาเสริมสร้างนวัตกรรมให้กับประเทศไทย ตามนโยบายประเทศไทย 4.0”

ความก้าวหน้าด้านการประมวลผลเชิงควอนตัมอาจเปิดประตูสู่การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ในอนาคต เช่น ยาและวัสดุชนิดใหม่ ระบบซัพพลายเชนที่มีประสิทธิภาพและลงตัวยิ่งขึ้นกว่าเดิมมาก รวมถึงวิธีใหม่ๆ ในการจำลองข้อมูลทางการเงินเพื่อการลงทุนที่ดียิ่งขึ้น ตัวอย่างผลงานที่ไอบีเอ็มร่วมมือกับลูกค้าและพันธมิตรต่างๆ อาทิ

ยูสเคสที่ไอบีเอ็มผนึกพันธมิตร

เจพี มอร์แกน เชส และไอบีเอ็มเผยแพร่บทความใน arXiv ว่าด้วยเรื่อง Option Pricing using Quantum Computers ซึ่งเป็นวิธีการกำหนดราคาออพชันทางการเงินและพอร์ตโฟลิโอที่มีออพชันดังกล่าวบนคอมพิวเตอร์ควอนตัมแบบเกต ผลลัพธ์ที่ได้ก็คืออัลกอริธึม ที่สามารถเร่งความเร็วแบบยกกำลัง 

กล่าวคือในขณะที่คอมพิวเตอร์ทั่วไปต้องใช้ตัวอย่างนับล้าน แต่การประมวลผลบนควอนตัมใช้เพียงไม่กี่พันตัวอย่างเพื่อให้ได้ผลลัพธ์เดียวกัน เมื่อเทียบกับวิธี Monte Carlo แบบดั้งเดิม ซึ่งอาจช่วยให้นักวิเคราะห์ทางการเงินสามารถกำหนดราคาออพชัน และวิเคราะห์ความเสี่ยงได้แทบจะในทันที และแนวทางการปฏิบัตินี้ก็มีอยู่ใน Qiskit Finance ในรูปแบบโอเพ่นซอร์ส

ขณะที่ มิตซูบิชิ เคมีคัล ร่วมกับมหาวิทยาลัยเคโอะ และไอบีเอ็ม จำลองขั้นตอนแรกเริ่มของกลไกการเกิดปฏิกิริยาระหว่างลิเธียมและออกซิเจนในแบตเตอรี่แบบลิเธียม-อากาศ บทความเรื่อง Computational Investigations of the Lithium Superoxide Dimer Rearrangement on Noisy Quantum Devices ซึ่งเผยแพร่อยู่บน arXiv คือ ก้าวแรกของการจำลองปฏิกิริยาทั้งหมดที่เกิดขึ้นระหว่างลิเธียมและออกซิเจนบนคอมพิวเตอร์ควอนตัม จากนั้นเมื่อมีความเข้าใจเกี่ยวกับปฏิกิริยานี้ดีขึ้นแล้วก็อาจนำไปสู่การคิดค้นแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นสำหรับอุปกรณ์พกพาหรือยานยนต์