สมดุล 'Trickle down-up' เศรษฐกิจ ด้วยภาษีแบบก้าวหน้า

สมดุล 'Trickle down-up' เศรษฐกิจ ด้วยภาษีแบบก้าวหน้า

เศรษฐกิจแบบไหลริน (Trickle down economics) หนึ่งในทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ จนนำมากำหนดนโยบายด้านภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาตร์ขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0

หนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 คือ การพัฒนาพื้นที่ ตัวอย่างเช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยสิ่งที่รัฐบาลประยุทธ์ 1 และ 2 ซึ่งนำทีมโดยรองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มุ่งเน้นคือการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (foreign direct investment) สิ่งที่ปรากฏเด่นชัด คือ รัฐบาลให้ความสำคัญกับแนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า "trickle-down economics" นโยบายของรัฐบาล คือ การปฏิรูปด้านภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ

นโยบายการจัดเก็บภาษีนั้น ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลสามารถนำมาใช้จัดการทางด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งด้านที่สามารถนำมาส่งเสริม การแก้ปัญหาทางด้านสังคมหรือการเมือง ซึ่งเครื่องมือการจัดเก็บภาษี เหมือนกับเครื่องมือทางด้านการเงินที่สามารถมีประสิทธิภาพสูง พร้อมทั้งมีแรงเสียดทานหรือต่อต้านต่ำเมื่อเทียบกับเครื่องมือตัวอื่นๆ

ส่วนหนึ่งเพราะนโยบายทางการคลังนั้นถูกมองว่าจะมีผลกระทบทางอ้อม และผลกระทบไม่ได้เพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในบางกรณี ซึ่งจะแตกต่างจากนโยบาย เช่น นโยบายทางด้านการค้า

แต่ความมั่งคั่งและยั่งยืนของประชาชน ดูเหมือนจะให้ความสำคัญยังไม่มากพอเมื่อเปรียบเทียบกับนโยบายอื่นๆ เพราะนโยบายการจัดเก็บภาษี ยังไม่ได้มีการปฏิรูป เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุณภาพเศรษฐกิจของรากหญ้าโดยตรงเท่ากับภาษีเพื่อการลงทุน

ความท้าทายของทุกๆ รัฐบาล คือ การให้ความสำคัญต่อการลดความเหลื่อมล้ำ แต่ถ้ามีเพียงนโยบายที่มุ่งเน้นตามแนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า "trickle-down economics" มากเกินไป หรืออย่างเดียวดังเช่นตัวอย่างข้างต้น นโยบายเหล่านั้นอาจสามารถส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านสังคมมากยิ่งขึ้นในระยะยาว และสร้างความถดถอยทางด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศอีกด้วย รัฐบาลควรพิจารณาการสร้างสมดุลทางนโยบายผ่านแนวความคิดของ "trickle-up economics" ผ่านการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษี ตามแนวความคิดภาษีแบบก้าวหน้า

โดยการเก็บภาษีมีหลายรูปแบบ ได้แก่ อัตราภาษีแบบถดถอย เพราะเป็นการจัดเก็บอัตราภาษีที่ลดลงเมื่อฐานภาษีเพิ่มสูงขึ้น แบบที่ 2 คือ แบบสัดส่วน หรือคงที่ ที่อัตราการเก็บจะเท่ากันหมดไม่ขึ้นอยู่กับฐานเงินเดือน เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม

อัตราการเก็บภาษีที่ 3 น่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำมากที่สุด คือ การเก็บแบบก้าวหน้า เพราะการเก็บภาษีที่สูงขึ้นตามฐานรายได้ เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีนิติบุคคล ระดับนานาชาติ

การจัดเก็บแล้วจะนำไปพัฒนาด้านใด กระบวนความคิดการจัดเก็บภาษีเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำควรมีการพิจารณา ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว มุ่งเน้นด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต และสร้างรายได้ที่ยั่งยืน

เช่น 1.การจัดเก็บภาษีเชิงพื้นที่เพื่อพื้นที่นั้น เพื่อการพัฒนาด้านการศึกษาและสาธารณะสุข 2.การจัดเก็บภาษีเชิงพื้นที่การส่งเสริม การสร้างรายได้เพื่อพัฒนาของชุมชนในพื้นที่ เช่น นโยบายปฏิรูป การจัดเก็บภาษีเพื่อพัฒนาวิสาหากิจเพื่อสังคม กล่าวสั้นๆ คือ การสร้าง ส่งเสริมด้วยนโยบายที่ตรงต่อความต้องการประชาชนรากหญ้าแต่ละพื้นที่ หรือตามแนวความคิด "tailor-made policy"

นโยบายที่เอื้อต่อระบบทุนนิยมอาจจะมาพร้อมกับความเหลื่อมล้ำ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีทางที่จะลดผลกระทบในเชิงลบที่จะเกิดขึ้นได้ เครื่องมืออย่างหนึ่งที่รัฐสามารถนำมาใช้ได้ คือ การสร้างสมดุลทางนโยบาย และหนึ่งในเครื่องมือนั้น คือ การใช้ระบบการจัดเก็บภาษีแบบก้าวหน้า