ม็อบเกษตรกร จี้ 'มนัญญา' ลาออก

ม็อบเกษตรกร จี้ 'มนัญญา' ลาออก

ม็อบเกษตรกร จี้ "มนัญญา"​ ลาออก​ รับผิดชอบผลกระทบสร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกร

ที่หน้ากระทรวงเกษตรฯ น.ส.อัญชุลี​ ลักษณ์​อำนวยพร​ ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง​ ตัวแทนเกษตรกร นำเกษตรกรกว่าพันคน อ่านแถลงการณ์ และยื่นหนังสือคัดค้านแบน 3 สาร และเรียกร้องให้น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯลาออกจากตำแหน่ง โดยมายื่นข้อเรียกร้องต่อ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯซึ่งส่งนายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรมว.เกษตรฯมารับแทน

ต่อจากนั้นม็อบเกษตรกรชุดดำ ได้ขึ้นรถบัสเดินทางไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อยื่นหนังสือให้นำมาตรกำจัดการใช้สาร 3 ชนิด กลับมาบังคับใช้ใหม่ ต่อนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย พร้อมกับจะปักหลักอยู่กรุงเทพฯ รอฟังมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่จะมีการประชุมวันที่27พ.ย.นี้ด้วย เพื่อให้พลิกมติแบน 3 สาร 

ในแถลงการณ์ ระบุว่าจากการรับฟังความคิดเห็นของกรมวิชาการเกษตร โดยมีผู้แสดงความคิดเห็น 47,789 คนมีคนคัดค้าน 75% เห็นด้วย 25% กลุ่มเกษตรกรมีความคิดเห็นโดยสรุปว่า​ เกษตรกรยังคงมีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิด​ เนื่องจากเป็นปัจจัยในการผลิตของเกษตรกรและเหตุผลในการยกเลิกไม่เพียงพอ ชัดเจนและยังมีข้อโต้แย้งทางวิชาการที่ยังไม่ได้ข้อยุติ

ม็อบเกษตรกร จี้ \'มนัญญา\' ลาออก

 

 

ที่สำคัญคือไม่มีสารทดแทนหรือวิธีการทางเลือกอื่นที่มีประสิทธิภาพและราคาเทียบเท่าได้กับสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิดอีกทั้งสารชีวภัณฑ์​ เมื่อมีการตรวจสอบสารออกฤทธิ์ในขวดก็พบว่ามีสารเคมีพาราควอตและไกลโฟเซตเป็นส่วนผสมในสารชีวภัณฑ์นั้น ดังนั้นการยกเลิกการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิดจึงสร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรอย่างร้ายแรง​ อีกทั้งยังส่งผลต่ออุตสาหกรรม​ ที่ใช้วัตถุดิบทางการเกษตรอีกด้วยเช่นอาหารสัตว์​ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

ตลอดระยะเวลา​ นับแต่การเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ของนางสาวมนัญญา​ ไทยเศรษฐ์​ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์​ ที่มีเป้าหมายในการยกเลิกสารทั้ง 3 ชนิด​ โดยไม่มีการพิจารณาข้อมูลทางวิชาการข้อเท็จจริงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ประกอบและบิดเบือนบัญชานายกรัฐมนตรี​ โดยใช้อำนาจการเป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตร​ กดขี่บังคับขู่เข็ญข้าราชการ​ สร้างความเดือดร้อนอย่างหนัก ให้กับเกษตรกรทุกหย่อมหญ้าไม่เคารพกฎหมาย​ ไม่ฟังเสียงร้องทุกข์ของเกษตรกรและภาคส่วนอื่นจึงเป็นเหตุผลในการร่วมชุมนุมในวันนี้

 

โดยมีข้อเรียกร้องต่อประยุทธ์​ จันทร์โอชา​ นายกรัฐมนตรีคือ 1 เกษตรกรขอใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญทวงสิทธิ์ผลการรับฟังความคิดเห็นว่าเสียงส่วนใหญ่คัดค้านการแบนสารเคมี 2 แจ้งนายกรัฐมนตรีให้ทราบไปถึงคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่าการแบนสารเคมีส่งผลกระทบถึงสนธิสัญญาและข้อผูกพันระหว่างประเทศอื่น 3 ขอให้นางมนัญญา​ ไทย​เศรษฐ์​ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์​ หยุดปฏิบัติหน้าที่เพื่อแสดงความรับผิดชอบ 

4 ขอเรียกร้องให้นายอนุทิน​ ชาญ​วีรกูล​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข​ นายแพทย์ธีระวัฒน์​ เหมะจุฑาปลัดสธ.​ เลขา​ อย.​ อธิบดีกรมอนามัย​ อธิบดีกรมการแพทย์ นำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะใบรายงานการตรวจสอบ​ที่ยืนยันว่า​ ตรวจพบการตกค้างของสารเคมี 3 ชนิด​ ในผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะจังหวัดราชบุรี​ พร้อมเซ็นชื่อรับรอง​ และขอรับเอกสารหลักฐานดังกล่าว​ 15.00​ น.​ วันนี้ ที่กระทรวงอุตสาหกรรม​ ถ้าไม่เอาเอกสารมามอบให้ หมายถึงว่าการ​ ผลการตรวจการตกค้างในผักและผลไม้เป็นเท็จและ 5 ข้อเรียกร้องให้กลุ่มนักวิชาการ​ ที่ออกมาต่อต้านสารเคมีแสดงความรับผิดชอบและยืนยันว่างานวิชาการที่ตนวิจัยนั้นมีความถูกต้อง

 

กลุ่มเกษตรกร​ จึงขอคัดค้าน​ มติคณะกรรมการวัตถุอันตราย​ แต่สนับสนุนมาตรการจำกัดการใช้ตามประกาศกระทรวงเกษตร 5 ฉบับ​ ที่มีผลบังคับใช้ให้มีการอบรม​ ผู้ฉีดพ่น​ และผู้ขาย​ ซึ่งการสอบผ่านแล้ว 5​ แสนราย​ อีกทั้งเป็นการยกระดับเกษตรกรไทยในการเกษตรที่ดี​ GAP คือทำเกษตรอย่างปลอดภัยใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง

 

เกษตรกรขอความเป็นธรรมและขอความเมตตาจากนายกรัฐมนตรี​ เห็นถึงความจำเป็นในการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด​ เพราะเป็นปัจจัยผลผลิตของเกษตรกร

 

ขณะนี้เกษตรกรทุกคนประสบปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อน​ อีกทั้งมีวิกฤต​ิที่จะเป็นห่วงโซ่อาหารทั้งระบบ​ โดยขอให้เกษตรกรได้มีโอกาสใช้ 3 สารดังกล่าว​ ตามกรอบมาตรการจำกัดการใช้ต่อไป​ และขอเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบการกระทำที่นำข้อมูลของ NGO มาใช้โดยไม่มีการตรวจสอบและทบทวนย้อนกลับส่งผลเสียหายต่อเกษตรกรและระบบราชการ