วัดขุมทรัพย์ ‘ทรัมป์-บลูมเบิร์ก’ 2 เศรษฐีชิงผู้นำสหรัฐ

วัดขุมทรัพย์ ‘ทรัมป์-บลูมเบิร์ก’ 2 เศรษฐีชิงผู้นำสหรัฐ

ในปีหน้า สหรัฐจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้ง แต่รอบนี้ "โดนัลด์ ทรัมป์" เศรษฐีคนแรกที่ได้นั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศ อาจเจอศึกหนักกว่าครั้งก่อน เพราะพรรคเดโมแครตได้ผู้ท้าชิงรายล่าสุดที่มี "อำนาจเงิน" เหนือกว่านับสิบเท่า นั่นคือ "ไมเคิล บลูมเบิร์ก"

เมื่อวันอาทิตย์ (24 พ.ย.) ที่ผ่านมา บลูมเบิร์ก มหาเศรษฐีนักธุรกิจวัย 77 ปี ประกาศอย่างเป็นทางการว่า จะลงชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครตสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยหน้าที่จะมีขึ้นวันที่ 3 พ.ย. 2563 ทำให้การแข่งขันภายในพรรคเดโมแครตยิ่งเพิ่มดีกรีความดุเดือดและน่าจับตามองมากขึ้น

อดีตนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก เริ่มแคมเปญหาเสียงด้วยคำขวัญ “ฟื้นฟูอเมริกา” (Rebuild America) และได้ยื่นเอกสารต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติของสหรัฐเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พร้อมประกาศว่าเป้าหมายของเขามีเพียงอย่างเดียว คือการเอาชนะประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งจะได้เป็นตัวแทนของพรรครีพับลิกันตามความคาดหมายอยู่แล้ว

การประกาศลงสู่สังเวียนการเมืองครั้งนี้ของบลูมเบิร์ก กลายเป็นทางเลือกใหม่สำหรับชาวอเมริกันที่เบื่อหน่ายการบริหารของทรัมป์ หลังจากก่อนหน้านี้ เดโมแครตมี “โจ ไบเดน” อดีตรองประธานาธิบดี (สมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา) เป็นตัวเก็งผู้ท้าชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐมานาน รวมทั้ง “เบอร์นี แซนเดอร์ส” ส.ว.หัวเอียงซ้าย ที่คัดค้านมหาเศรษฐีลงเล่นการเมือง

นอกจากนี้ ความน่าสนใจของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งนี้ยังอยู่ที่ความมั่งคั่งระหว่างทรัมป์ วัย 73 ปี เจ้าของสถิติเศรษฐีคนแรกที่ได้เป็นประธานาธิบดีซึ่งร่ำรวยจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กับ บลูมเบิร์ก มหาเศรษฐีระดับท็อปเท็น (Top 10) ของโลก ที่มีสินทรัพย์หลักมาจากธุรกิจสื่อ

แม้เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ปัจจุบันยังมีช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างคนรวยกับคนจนในสหรัฐและอีกหลายประเทศทั่วโลก แต่ระหว่างคนรวยกับคนรวยก็มีช่องว่างด้วยเช่นกัน ตัวอย่างที่ชัดเจนในกรณีนี้คือ ว่าที่คู่ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่างทรัมป์กับบลูมเบิร์ก

นิตยสารฟอร์บสเผยว่า ทรัมป์มีมูลค่าความมั่งคั่งประมาณ 3,100 ล้านดอลลาร์ หรือราว 9.37 หมื่นล้านบาท นับถึงเดือน พ.ย. 2562 ติดอันดับ 715 ของทำเนียบมหาเศรษฐีโลกปีนี้ ขณะที่บลูมเบิร์ก ติดอันดับ 9 ของทำเนียบมหาเศรษฐีโลกปีนี้ ด้วยมูลค่าสินทรัพย์ราว 5.41 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.64 ล้านล้านบาท นับถึงเดือน พ.ย. เรียกได้ว่ารวยกว่าทรัมป์เห็น ๆ มากกว่า 17 เท่า!

บลูมเบิร์กสร้างความมั่งคั่งด้วยธุรกิจหลักคือสื่อ แต่กว่าจะเป็นมหาเศรษฐีเช่นทุกวันนี้ เส้นทางชีวิตของเขานั้นไม่ง่าย บลูมเบิร์กเริ่มต้นทำงานในวอลล์สตรีทด้วยตำแหน่งพนักงานทั่วไปให้กับวาณิชธนกิจ “ซาโลมอน บราเธอร์ส” เมื่อปี 2509 แต่ 15 ปีให้หลัง เขาก็ถูกไล่ออก จึงออกมาเปิดบริษัทเป็นของตัวเอง

ในปี 2524 เขาร่วมก่อตั้งบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงินและสื่อ ชื่อว่า “บลูมเบิร์ก แอลพี” และทุ่มเงินลงทุนก้อนแรกให้กับบริษัทได้ก่อร่างสร้างตัว จนปัจจุบันเขาถือหุ้น 88% ในธุรกิจนี้ซึ่งสร้างรายได้อู้ฟู่เกือบ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี

ต่อมาปี 2535 บลูมเบิร์กมีชื่อติดทำเนียบ “ฟอร์บส 400” บุคคลร่ำรวยที่สุดของอเมริกาเป็นครั้งแรก (ผู้ที่จะติด 1 ใน 400 รายชื่อนี้ได้ต้องมีมูลค่าสินทรัพย์ 350 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป) หลังจากบริษัทบลูมเบิร์กของเขาซึ่งให้บริการข้อมูลหุ้น พันธบัตร และสินทรัพย์อื่น ๆ ทั่วโลก เริ่มได้รับความนิยมในตลาดวอลล์สตรีท

157474862377

ช่วงเวลาเดียวกันนั้น ทรัมป์กำลังต่อสู้เพื่อรักษาอาณาจักรธุรกิจของเขา หลังมีหนี้สินมหาศาลจากการกว้านซื้ออสังหาริมทรัพย์จนเกือบล้มละลาย

ในที่สุด ธุรกิจของทรัมป์ก็สามารถฟื้นกลับมาได้และเขาก็กลับมามีชื่อในทำเนียบ ฟอร์บส 400 อีกครั้งในปี 2539 ด้วยมูลค่าสินทรัพย์ราว 450 ล้านดอลลาร์ และในขณะนั้น บลูมเบิร์กก็ขยายความมั่งคั่งเพิ่มเป็น 1,000 ล้านดอลลาร์ อิงจากมูลค่าหุ้นในธุรกิจข้อมูลทางการเงินของเขา

เส้นทางชีวิตของทรัมป์มาจากธุรกิจครอบครัว โดยเริ่มต้นทำงานกับบิดาชื่อ “เฟร็ด” ที่พัฒนาบ้านพักราคาถูกในย่านบรูคลินและควีนส์ จนปัจจุบัน ความมั่งคั่งส่วนใหญ่ของทรัมป์มาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและรอบแมนฮัตตันของนิวยอร์ก ซึ่งเป็นถิ่นของบลูมเบิร์กเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2560 ทรัมป์ก็ฝากฝังให้บุตรชาย 2 คนคือ “โดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์” และ “อีริค ทรัมป์” บริหารอาณาจักรธุรกิจครอบครัวแทน

ตลอด 23 ปีที่ผ่านมา ความมั่งคั่งสุทธิของทรัมป์คิดเป็นอัตราเติบโตรายปีอยู่ที่ 8.8% มากกว่าค่าเฉลี่ยผลตอบแทนของดัชนีหุ้นเอสแอนด์พี 500 ซึ่งอยู่ที่ 6.7% ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยผลตอบแทนส่วนใหญ่ของทรัมป์มาจากในปีแรก ระหว่าง 2539-2540 ที่มูลค่าสินทรัพย์ของเขาทะยานจากราว 450 ล้านดอลลาร์ มาอยู่ที่ 1,400 ล้านดอลลาร์

ขณะที่อัตราเติบโตความมั่งคั่งของบลูมเบิร์กสูงกว่าทรัมป์อย่างชัดเจนและมีเสถียรภาพมากกว่า โดยอยู่ที่ 18.8% ต่อปี

ผลตอบแทนมหาศาลเหล่านี้ซึ่งเป็นผลจากธุรกิจที่เฟื่องฟู ช่วยอธิบายว่าเหตุใดบลูมเบิร์กถึงรวยกว่าทรัมป์หลายเท่าตัว ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา บริษัทบลูมเบิร์กซึ่งเดิมให้บริการเพียงข้อมูลการเงินก็เพิ่มมิติการรายงานข่าวธุรกิจและการเงินเข้ามาด้วย 

ในปี 2552 บริษัทบลูมเบิร์กเข้าซื้อกิจการนิตยสาร “บิสสิเนสวีค” ที่กำลังประสบปัญหาการเงินจากบริษัทแมคกรอว์-ฮิลล์ ด้วยมูลค่าราว 5 ล้านดอลลาร์พร้อมรับโอนหนี้อีกเกือบ 32 ล้านดอลลาร์

แม้มีผลกำไรมหาศาลแต่บลูมเบิร์กก็คืนให้กับสังคม เขาบริจาคเงิน 8,000 ล้านดอลลาร์ให้กับองค์กรการกุศลและกิจกรรมเพื่อสังคมต่าง ๆ รวมถึงความพยายามในการควบคุมอาวุธปืนและการรณรงค์ห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งยังเป็นประเด็นถกเถียงในสหรัฐขณะนี้

อย่างไรก็ตาม แม้บลูมเบิร์กเอาชนะทรัมป์ได้อย่างขาดลอยในด้านธุรกิจ แต่ในสนามเลือกตั้ง เขาจำเป็นต้องใช้ทักษะอื่น ๆ เข้าช่วย

ในปีหน้า บลูมเบิร์ก อดีตนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก 3 สมัย จะมีโอกาสพิสูจน์ตัวเองว่าสามารถต่อกรกับทรัมป์ในสนามการเมืองได้ดีเพียงใด ถึงแม้อาจต้องใช้เงินทุนมหาศาลก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับบลูมเบิร์ก เพราะเขาประกาศแล้วว่าจะทุ่มเงินอย่างน้อย 500 ล้านดอลลาร์ในการรณรงค์หาเสียงเพื่อเอาชนะทรัมป์ให้ได้

ทว่า ขวากหนามด่านแรกของบลูมเบิร์กกลับไม่ใช่ทรัมป์ เพราะต้องถามบรรดาผู้ท้าชิงในเดโมแครตรวมถึง ไบเดน ก่อนว่าจะยอมให้เขาเป็นตัวแทนพรรคในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 46 หรือไม่?!