สปป.ลาวได้อานิสงส์สงครามการค้าจีน-สหรัฐ

สปป.ลาวได้อานิสงส์สงครามการค้าจีน-สหรัฐ

สปป.ลาวคาดว่า จะได้ประโยชน์จากสงครามการค้าจีน-สหรัฐที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากมีการลงทุนโดยตรงจากจีนเพิ่มขึ้นตั้งแต่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนเริ่มเปิดฉาก

นางวัฒนา ดาลาลอย รองผู้ว่าการธนาคารกลาง สปป.ลาว ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบลูมเบิร์กเมื่อไม่กี่วันก่อนว่า การลงทุนโดยตรงจากจีนเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่สงครามการค้าจีน-สหรัฐเปิดฉากขึ้นเมื่อปีก่อน เพราะบริษัทจีนพากันย้ายฐานการผลิตเพื่อเลี่ยงการถูกสหรัฐเก็บภาษี สงครามการค้าจีน-สหรัฐจึงน่าจะทำให้ สปป.ลาวได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์ เพราะ สปป.ลาวยังไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกอย่างเต็มตัวในแง่ของการพึ่งพาการส่งออก

ขณะที่ข้อมูลของธนาคารโลก ระบุว่า สปป.ลาวมีการส่งออกและนำเข้าเพียง 34% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาและเวียดนามอย่างมาก จึงไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากการค้าโลกที่ชะลอตัวเพราะสงครามการค้าระหว่างเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งและอันดับสองของโลก

ยอดลงทุนสุทธิจากต่างชาติช่วง 5 ปี จนถึงปีก่อนครองสัดส่วนจีดีพีเฉลี่ย 7.5% ต่อปี เพิ่มขึ้นจาก 4.9% ต่อปีในช่วง 5 ปีก่อนหน้านั้น

ส่วนรายงานการลงทุนโลกของสหประชาชาติ ระบุว่า จีนเป็นผู้ลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของ สปป.ลาว

ธนาคารกลาง สปป.ลาวคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัว 6.4 %ต่ำกว่าที่คาดไว้ว่าจะขยายตัว 6.7% เนื่องจากเกิดความเสียหายจากน้ำท่วมหนักเมื่อหลายเดือนก่อน โดยโครงการโครงสร้างพื้นฐานใหญ่หลายโครงการ เช่น โครงการรถไฟ สปป.ลาว-จีน ช่วยให้เศรษฐกิจประเทศขยายตัว ควบคู่ไปกับการจำหน่ายไฟฟ้าจากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำให้แก่ไทย

ลาว กำลังร่ำรวยขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่่ทั่วโลกกำลังบอบช้ำจากพิษเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งเป็นลาวมีประชากรเพียง 6.7 ล้านคน แต่มีทรัพยากรธรรมชาติมากมายมหาศาล ทั้งบนดินและใต้ดิน โดยนับตั้งแต่ปี 2535 แผนพัฒนาเศรษฐกิจของลาวเปิดโอกาสให้เอกชนเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ดินได้ รวมถึงมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะต่างๆ ที่ทำอย่างต่อเนื่อง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านถนน รถไฟ สนามบิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุนและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ทำให้บรรยากาศโดยรวมทั้งในด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวมีความคึกคักและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

รัฐบาลลาว ประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจ โดยตั้งเป้าไว้3เรื่อง เรื่องแรกคือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศในด้านอุตสาหกรรม ประการที่2 ต้องกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศให้ขยายตัวต่อเนื่องได้ในอัตรา 6-7% และประการที่ 3 ต้องทำให้ประเทศหลุดพ้นจากสถานะประเทศด้อยพัฒนา และหลุดพ้นจากความเป็นประเทศยากจนในปี 2563

สิ่งที่ลาวตั้งเป้าไว้ ไม่ใช่เรื่องไกลเกินจริง เพราะใต้พื้นพิภพของลาว เต็มไปด้วยแหล่งแร่คุณภาพสูง มีปริมาณมหาศาลรอการขุดขึ้นมาใช้ ซึ่งจะเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญและมีบทบาทต่อเศรษฐกิจของลาว

จากการสำรวจโดยกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ในปี 2549 ภายใต้ความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญจีนพบแร่ที่มีมูลค่าสูงในลาว กว่า 570 แห่ง ทั้งทองแดง ทองคำ เงิน เหล็ก ตะกั่ว สังกะสี ยิปซัมและถ่านหิน

ขณะที่รัฐบาลลาว เปิดเผยว่า ปัจจุบัน มีบริษัทเอกชนกว่า 90 แห่งเข้าไปสำรวจโครงการเหมืองแร่ในลาว ในจำนวนนี้เกือบครึ่งเป็นบริษัทของต่างชาติ ซึ่งมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลลาว และเหมืองแร่ที่ใหญ่ที่สุดคือเหมืองทองแดงและทองคำในแขวงสะหวันนะเขต เป็นของบริษัทจีนที่เข้ามาซื้อกิจการจากบริษัทของออสเตรเลีย การผลิตส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อส่งไปขายในจีน ซึ่งมีความต้องการทองแดงจำนวนมาก

นอกจากนี้ มีแหล่งแร่บ๊อกไซต์ คุณภาพดีในแขวงจำปาสัก มีการขุดเจาะและตั้งโรงงานถลุงเพื่อส่งออกไปยังตลาดโลก ซึ่งแร่บ๊อกไซต์เมื่อผ่านการถลุงแล้วจะออกมาเป็นอะลูมิเนียม ซึ่งความต้องการในตลาดโลกยังสูงมาก ถือเป็นแหล่งรายได้ให้รัฐบาลลาวในระยะยาว 20-30 ปี