แอร์เอเชียรุกเจาะตลาด“กัมพูชา-จีน-เมียนมา”

แอร์เอเชียรุกเจาะตลาด“กัมพูชา-จีน-เมียนมา”

โทนี เฟอร์นานเดส ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)และผู้ร่วมก่อตั้งของสายการบินแอร์เอเชีย ประกาศแผนขยายธุรกิจการบินในกัมพูชา จีน และเมียนมา หลังจากประสบความล้มเหลวเป็นครั้งที่3 ในการตั้งบริษัทในเครือในเวียดนาม ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

เฟอร์นานเดส ซึ่งให้สัมภาษณ์นิกเคอิ เอเชียน รีวิว กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กำลังมองหานักลงทุนในกัมพูชาที่สนใจลงทุนในธุรกิจการบินมาเป็นหุ้นส่วน และเป้าหมายต่อไปของแผนขยายธุรกิจคือ ตลาดกัมพูชา จีน และเมียนมา

“ตอนนี้ผมไม่มีแผนที่จะขยายธุรกิจเข้าไปในตลาดเวียดนาม หลังจากพยายามมาแล้วสามครั้ง เพราะเราหาหุ้นส่วนที่เหมาะสมไม่ได้และผมคิดว่าในเวียดนาม มีสายการบินมากอยู่แล้ว”เฟอร์นานเดส วัย 55 ปี อดีตผู้บริหารในอุตสาหกรรมเพลงสัญชาติอังกฤษที่เปิดตัวสายการบินต้นทุนต่ำให้ภูมิภาคเอเชียได้รู้จัก กล่าว

กฏหมายของกัมพูชา ไม่เข้มงวดชาวต่างชาติที่ต้องการเข้าไปถือหุ้นในอุตสาหกรรมการบินในประเทศมากนัก แต่สายการบินน้องใหม่ต้องเข้าไปลงทุนเป็นมูลค่า 30 ล้านดอลลาร์ในประเทศนี้ในช่วง3ปีแรก ไม่นับรวมเครื่องบินโดยสาร และปัจจุบัน กัมพูชา กำลังเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมในหมู่นักท่องเที่ยว รวมทั้งบรรดาสายการบินสัญชาติจีนให้เปิดเที่ยวบินมากัมพูชาหกสายการบินด้วยกัน

นอกจากกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชาแล้ว ก็มีสนามบินนานาชาติเสียมราฐ ที่เป็นหนึ่งในสายการบินของภูมิภาคอาเซียนที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุด โดยปีที่แล้ว รองรับผู้โดยสาร 4.5 ล้านคน เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวสนใจเดินทางไปเยี่ยมชมนครวัด ซึ่งอยู่ไม่ไกลจำนวนมากขึ้น โดยนครวัด ปเ็นหมู่ปราสาทในประเทศกัมพูชาและเป็นศาสนสถานที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ปัจจุบัน แอร์เอเชีย กรุ๊ป มีสายการบินในเครือที่จดทะเบียบในอินโดนีเซียและไทย และบริษัทวางแผนจะทำไอพีโอในฟิลิปปินส์ปีหน้า โดยราคาหุ้นของแอร์เอเชียปิดตลาดวันพุธ (20พ.ย.)ที่ราคา 1.82 ริงกิต ลดลงจากที่เคยทะยานขึ้นในเดือนก.พ.ที่ราคาหุ้นละ 3.29 ริงกิต ทำให้บริษัทมีมูลค่าทางการตลาดอยูู่ที่ 6.08 พันล้านริงกิต (1.46 พันล้านดอลลาร์)

สำหรับแผนธุรกิจระยายาว เฟอร์นานเดส อยากเข้าไปตั้งสายการบินในจีนที่เขามองว่าเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเป็นมิตรกับนักลงทุนต่างชาติ และจีนเป็นตลาดสำคัญสำหรับแอร์เอเชียโดยปัจจุบันบริษัทมีรายได้จากจุดหมายปลายทางต่างๆในจีนในสัดส่วนเกือบ 20%

นอกจากเผยแผนขยายธุรกิจการบินใน3ประเทศแล้ว ซีอีโอแอร์เอเชีย ยังเผยแผนให้สายการบินปรับตัวรับการมาถึงของเทคโนโลยีด้วยการลงทุนด้านนี้ปีละ 100 ล้านริงกิต พร้อมประกาศว่าแอร์เอเชียจะเป็นสายการบินดิจิทัล100% ภายในไตรมาสแรกของปี2563 และขณะนี้บริษัทดำเนินการมาแล้วประมาณหนึ่งในสาม

ภายใต้แผนปรับปรุงให้เป็นสายการบินดิจิทัลของเฟอร์นานเดส ครอบคลุมถึงการออกแพลทฟอร์มจำหน่ายตั๋วทางออนไลน์ในตลาดการเดินทางที่ทำให้บริษัทเป็นเหมือนอเมซอนด้านการเดินทาง นอกจากนี้ ยังเป็นครั้งแรกที่สายการบินอนุญาติให้นักเดินทางซื้อตั๋วโดยสารสายการบินคู่แข่งผ่านทาง AirAsia.com ซึ่งเฟอร์นานเดส มั่นใจว่า แพลทฟอร์มจำหน่ายตั๋วออนไลน์รูปแบบใหม่ที่ดำเนินการโดย Kiwi.com บริษัทด้านการท่องเที่ยวทางออนไลน์ของสหรัฐจะไม่สร้างผลกระทบเชิงลบกับยอดขายตั๋วโดยสารของแอร์เอเชีย

ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการจองตั๋วเข้าพักที่โรงแรมและการทำกิจกรรมต่างๆผ่านแพลทฟอร์มเดียวกันนี้ และเฟอร์นานเดส ยังมีแผนที่จะทำแพลทฟอร์มใช้บริการทางออนไลน์สำหรับชาวมุสลิมด้วย ด้วยความหวังว่าจะเจาะตลาดลูกค้าที่เป็นชาวมุสลิมที่เคร่งครัด ซึ่งเป็นตลาดใหญ่

เฟอร์นานเดส ระบุว่า จะเปิดตัวแพลทฟอร์มที่ชื่อว่า "Ikhlas" หรือในภาษามาเลเซียหมายถึงความบริสุทธิ์ในไม่ช้านี้ ซึ่งจะครอบคลุมถึงการทำทัวร์ฮาลาล โรงแรมและภัตตาคารฮาลาลทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งสายการบินแอร์เอเชีย ยอมรับว่า ผู้ถือหุ้นส่วนน้อยอาจจะไม่สนับสนุนความฝันที่จะทำให้สายการบินเป็นสายการบินดิจิทัลสมบูรณ์แบบของเขา แต่เขาก็เชื่อว่าผลประกอบการระยะยาวของบริษัทจะทำให้บรรดาผู้ถือหุ้นกลุ่มนี้เปลี่ยนใจในที่สุด

ส่วน“วรุณ บาเทีย ”ประธานคณะเจ้าหน้าที่บุคคลและวัฒนธรรมของแอร์เอเชีย กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ขณะนี้การค้าในเอเชียเริ่มขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในส่วนของการซื้อขายออนไลน์ โลกดิจิทัลกลายเป็นช่องทางใหม่ในการติดต่อสื่อสารระหว่างองค์กรกับผู้บริโภค และเริ่มเห็นธุรกิจ “สตาร์ทอัพ” ที่เริ่มต้นจากศูนย์ แต่ประสบความสำเร็จอย่างสูง และเติบโตอย่างรวดเร็วจนมีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ที่เรียกว่ายูนิคอร์นเพิ่มขึ้นมากในเอเชีย ส่วนความท้าทาย มีทั้งการที่เมืองขยายตัว ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนที่เพิ่มมากขึ้น ปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือ ไปจนถึงปัญหาด้านความยั่งยืนในการนำพาธุรกิจไปสู่ความสำเร็จ

บาเทีย อธิบายเรื่องการจับมือกับ kiwi.com ว่าเป็นการแสวงหาพันธมิตรที่เปิดให้ผู้โดยสารจองเที่ยวบินในเส้นทางที่แอร์เอเชียไม่ได้ให้บริการทั้งในยุโรปและอื่นๆ ได้ และบริษัทเชื่อว่า ผู้โดยสารจะต้องตรวจสอบราคาจากเว็บไซต์อื่นและตัวแทนท่องเที่ยวเพื่อหาราคาดีที่สุด

ด้วยเหตุนี้ แอร์เอเชียจึงต้องนำเสนอสายการบินอื่นบน airasia.com เพื่อช่วยสร้างทางเลือกให้กับลูกค้าผู้ภักดีกับแบรนด์ จะได้มีประสบการณ์ที่สมบูรณ์แบบ เช่น แอร์เอเชียไม่ได้บินไปยุโรป แต่ด้วยความร่วมมือกับ kiwi.com และพันธมิตร ทำให้แอร์เอเชียสามารถเสนอโปรโมชั่นไปดูการแข่งขันเทนนิสเดวิสคัพ ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปนได้ในราคาเพียง 99 ริงกิตเท่านั้น

“ก้าวต่อไปคือแอร์เอเชีย 3.0 เป็นบริษัทที่ให้บริการเดินทางที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ไม่ได้มีแค่ตั๋วเครื่องบิน แต่นำเสนอกิจกรรม ดีล โรงแรม และข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางแก่ลูกค้า”บาเทีย กล่าว

อ่านข่าว-แอร์เอเชียแนะ 7 แนวคิด 'สูตรสร้างความสำเร็จ' ผู้นำ