ล้วงลึกพฤติกรรม 'เจนวาย' ใช้เกินจำเป็น 'เสี่ยง' เบี้ยวหนี้สูง

ล้วงลึกพฤติกรรม 'เจนวาย'  ใช้เกินจำเป็น 'เสี่ยง' เบี้ยวหนี้สูง

ระยะหลังๆจะเห็นได้ว่า สถาบันการเงินต่างๆ ให้ความสำคัญกับกลุ่ม “เจนวาย” หรือคนที่มีช่วงอายุราว 23-38 ปีมากขึ้นเรื่อย ๆ เห็นได้จากการทำผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าเจนวายโดยเฉพาะ

เพราะกลุ่มนี้เป็นวัยที่เพิ่งเริ่มเข้าสู่วการทำงาน เพิ่งได้รับเงินเดือนเป็นของตัวเอง  

สถาบันการเงิน โดยเฉพาะธนาคาร จึงมองว่ากลุ่มเจนวาย มีศักยภาพพอที่ธนาคารน่าจะนำเสนอบริการทางการเงินได้ หรือเป็นวัยที่กำลัง "สร้างเนื้อสร้างตัว" สำหรับอนาคต ดังนั้นน่าจะต่อยอดบริการทางการเงินได้อีกมากมาย

อย่างไรก็ตาม  หากดูด้านหนี้เสีย พบว่ากลุ่ม “เจนวาย” เป็นกลุ่มแรกๆที่มีการผิดนัดชำระหนี้สูง   "การเบี้ยวหนี้" ส่วนใหญ่ก็มาจากพฤติกรรมฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ ใช้จ่ายเงินอย่างหนักไปกับของที่ไม่จำเป็น

จากผลการวิจัยล่าสุดของ  "ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี" หรือ "TMB Anlytics" ที่ได้จับมือกับ "บริษัทไวซ์ไซท์" ที่เป็นผู้นำการให้บริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลด้านโซเชียล เพื่อศึกษาพฤติกรรมทางการเงินจากข้อมูลโซเชียลมีเดียของคนเจนวาย ผ่านแคมเปญ “ของมันต้องมี ก่อนอายุ40”

จากผลการสำรวจพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้พบว่า ความฝันของคนกลุ่มนี้ มักฝันที่จะมีชีวิตที่ดี ร่ำรวย มีบ้าน มีรถ มีเงินออม แต่ส่วนใหญ่มักไปไม่ถึงเป้าหมาย  โดย“นริศ สถาผลเดชา” ผู้บริหาร TMB Analytics ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่ไปถึงฝัน ไปไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ เพราะติดกับดักค่าใช้จ่ายกับ “ของที่ต้องมี” เพราะคนกลุ่มนี้ใช้จ่ายไปกับของที่ต้องมีถึง 69% ทำให้ความฝันที่อยากมีบ้าน มีรถ ลดลงมาก และมีเงินออมเหลือไม่ถึง 10%

157476837196

สำหรับการใช้จ่ายเพื่อ "ของที่ต้องมี" ของคนเจนวาย มีอะไรบ้าง?  ประกอบไปด้วย โทรศัพท์ 22% เสื้อผ้า 11% เครื่องสำอาง 8% อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 5% กระเป๋าและนาฬิการวมกันอีก 6% รวมแล้วค่าเฉลี่ยของค่าใช้จ่ายของกลุ่มเจนวายที่หมดเงินไปกับ “ของที่ต้องมี” เหล่านี้ในแต่ละปี มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 95,518 บาทต่อคน หรือคิดง่ายๆคนกลุ่มนี้หมดเงินไปกับของที่ต้องมี ถึง 1ใน 4ของรายได้ต่อปีเลยทีเดียว

หากดูค่าใช้จ่ายกับ "ของที่ต้องมี" ต่อปีเกือบ 1แสนบาทต่อคน  เท่ากับว่า ต่อปีกลุ่มเจนวายทั้งประเทศใช้จ่ายไปกับของที่ต้องมีสูงถึง 1.37 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าสูงเทียบกับ 13% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)  หรือคิดเป็น 8 เท่าของมูลค่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบิน หรือคิดเป็นราว 91% ของมูลค่าการลงทุนในอีอีซี 5ปี

อะไรคือปัจจัยที่ทำให้กลุ่มเจนวายใช้จ่ายไปกับของที่ต้องมี ?  บทวิจัยพบว่าอย่างแรกคือ ซื้อตามเทรนด์ 42% มากกว่ามองว่าเป็นของจำเป็นที่มีเพียง 37% และยังพบว่าคนส่วนใหญ่ 70% มีเงินไม่พอ แต่เงินที่นำมาซื้อของมาจากการกู้ธนาคาร ใช้บัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด และ 70% มีภาระผ่อนชำระที่ต้องเสียดอกเบี้ย

“บทวิจัยนี้ไม่ได้บอกว่าให้หยุดการใช้จ่าย แต่จะบอกว่า หากใช้จ่ายถูกทางมากขึ้น ฐานะของประเทศก็ดีขึ้น หรือทำให้สามารถได้ของที่ฝัน ได้สินทรัพย์ที่ต้องการมากขึ้น หากดูภาระหนี้ของกลุ่มเจนวายต่อปีเกือบ 1แสนบาท แต่หากลดใช้จ่ายกับของที่ต้องมีลง 50% ต่อปี เงินส่วนนี้จะสามารถนำไปทำอะไรอีกมาก เช่น ได้ รถ Toyata ภายในระยะเวลา 10ปี ได้เซ้งร้านกาแฟย่านทองหล่อราว 1.9 ล้านบาท ภายใน 20ปี หรือได้คอนโดย่านห้วยขวาง ราคา 2.5 ล้านบาท ภายใน30ปี ”

หากดูกลุ่มเจนวายในประเทศทั้งหมด  พบว่ามีอยู่กว่า  14.4 ล้านคน กว่า 50% หรือ 7.2 ล้านคน มีการกู้เงินธนาคาร และในจำนวนดังกล่าว มีประมาณ 20% หรือ 1.4 ล้านคน ที่ผิดนัดชำระหนี้ หรือคิดเป็นหนี้เสียราว 7% ของยอดเอ็นพีแอลกรวมทั้งระบบ และการผิดนัดชำระหนี้กลุ่มนี้มีให้เห็นเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น นี่อาจเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อกลุ่มเจนวาย และอาจเป็นข้อจำกัดต่อการใช้จ่าย การชำระหนี้ในอนาคตมากขึ้น 

การที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ เชื่อว่า การคำนึงถึง "Sustainable banking"  เป็นสิ่งที่สำคัญมาก การให้บริการของธนาคาร ผู้ให้บริการทางการเงินต้องมองความยั่งยืนมากขึ้น เช่นเดียวกัน TMB ที่ไม่ได้เน้นแต่ตอบโจทย์ด้านการให้บริการบนดิจิทัลแบงกิ้งเท่านั้น แต่คำนึงถึง ธนาคารการเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืนมากขึ้นด้วย เช่นการให้ความรู้ทางการเงิน การใช้เครื่องมือกระตุ้นให้คนมีพฤติกรรมทางการเงินที่ถูกต้อง การนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบก็เป็นส่วนสำคัญ ที่จะกระตุ้นให้คนทุกกลุ่มมีวินัย และมีความรู้ทางการเงินมากขึ้นด้วย 

"พุทธศักดิ์ ตันติสุทธิเวท” ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูล บริษัทไวซ์ไซท์ กล่าวว่า โซเชียลมีเดียเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กลุ่มเจนวาย มีการจับจ่ายใช้สอย และตัดสินใจใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น  หากดูคนไทยที่ใช้สื่อโซเชียลพบว่ามีถง 74% ของประชากรทั้งหมดของประเทศ ซึ่งคิดเป็นอันดับ 8 ของประเทศทั่วโลก  และหากดูสื่อโซเชียลที่ได้รับความนิยมสูงสุดเป็นอันดับแรกคือ เฟซบุ๊ค ราว 56 ล้านบัญชี อินสตาแกรม 13ล้านบัญชี ทวิตเตอร์ 9.5 ล้านบัญชี และคนไทยใช้เวลาอยู่กับโซเชียลมีเดียคิดเป็น 3.11ชั่วโมงต่อวัน

  ขณะที่ข้อมูลยังพบว่าอีกว่า กว่า 80% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศ เคยซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และกว่า 50% เป็นคนเจนวายที่ซื้อของผ่านโซเชียล